"สร้างหนี้" เท่าไหร่ที่จะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

การจ่ายที่เกินกว่ารายได้ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างหนี้ เราสร้างหนี้เพราะมั่นใจว่าในอนาคตจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้และเงินที่กู้ไปนั้นจะต้องสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น ถ้ากู้มาดอกเบี้ย 10% ผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินไปลงทุนนั้นต้องเกิน 10%  แต่การสร้างหนี้ที่ดีนั้นควรอยู่ในขอบเขตที่เราสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่เป็นภาระหนักจนเกินไป หลายท่านอ่านหนังสือการลงทุนหลายเล่มจนเกิดความมั่นใจว่าสักวันเราต้องทำได้เหมือนกับคนเหล่านั้นที่ลงทุนจนเกิดอิสรภาพทางการเงิน แต่ความสำเร็จของคนเรานั้นลอกเลียนแบบกันไม่ได้ ความรู้ที่ได้รับจากการอ่านเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้ในการลงทุน แต่การลงทุนของจริงว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นด้วย

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดเป็นช่วงปี 2540 หลายท่านเห็นเพื่อนรอบข้างได้รับเงินจากการเล่นหุ้นอย่างรวดเร็ว ร่ำรวยจากการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ จึงเห็นโอกาสรวยเร็วจากการลงทุนเหล่านั้น นักลงทุนที่มีเงินออมไม่มากเมื่อนำไปลงทุนก็ได้รับผลตอบแทนกลับมาน้อย จึงคิดหาหนทางอื่นเพื่อจะได้เงินมาลงทุนเยอะๆจะได้ร่ำรวยเร็วๆ ทำให้เกิดการสร้างหนี้เพื่อการลงทุนโดยการกู้ยืมเงินมาลงทุน บางคนถึงขั้นจำนองบ้านหรือที่ดินเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนหุ้นและเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ผลสุดท้ายเศรษฐกิจภาพใหญ่พังจากการถูกโจมตีค่าเงิน ทำให้ผู้ที่กู้เงินมาลงทุนเหล่านั้นเสียหายและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น นักลงทุนรุ่นใหม่ควรศึกษาอดีตเรื่องการลงทุนที่เกิดในช่วงวิกฤตเหล่านี้ไว้ด้วย ว่าการเกิดวิกฤตขึ้นแต่ละครั้งนั้นมีสัญญาณจากอะไรบ้าง  เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอยเดิมและมีความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

การสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับตนเองนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการหารายได้ การดูแลเงินรับเข้าและไหลออกให้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง(เรียกโดยทั่วไปว่า การบริหารกระแสเงินสด) โดยวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ เช่น มนุษย์เงินเดือนรายได้ 20,000 บาท มีรายได้หลายทาง เช่น ขายของออนไลน์ เขียนบล็อก รับเขียนบทความลงเว็ปไซด์และนิตยสารรายเดือน ทำให้แต่ละเดือนมีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสร้างหนี้ที่มากกว่ารายได้ประจำก็สามารถหาเงินทางอื่นมาชำระหนี้แทนได้ แต่ถ้าเงินเดือนเป็นรายได้หลักเพียงทางเดียวก็จะสร้างหนี้ได้อย่างจำกัดเพราะมีความเสี่ยงหากเงินเดือนประจำหายไปก็จะไม่มีเงินส่วนอื่นมาชำระหนี้ได้ ดังนั้น การสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับตนเองนั้นสำคัญมาก เพื่อจะได้ไม่มีภาระหนักกับชีวิตประจำวันมากเกินไป

หนี้ที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 45% ของรายได้

วิธีการคำนวณ

มาดามซูซี่มีรายได้เดือนละ 40,000 บาท เป็นหนี้บัตรเครดิตที่จะต้องผ่อนเดือนละ 3,000 บาท กำลังจะผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท ถามว่ามาดามซูซี่ผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาทนี้เหมาะสมหรือไม่?

ผ่อนหนี้ระยะสั้นได้ไม่เกิน 20% คือ 8,000 บาทต่อเดือน

==> ผ่อนบัตรเครดิตเดือนละ 3,000 บาท เป็นรายจ่ายที่เหมาะสม

ผ่อนหนี้ระยะกลางถึงยาวได้ไม่เกิน 25% ซึ่งก็คือ 10,000 บาทต่อเดือน

==> ผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท เป็นรายจ่ายที่ไม่เหมาะสม

รวมจ่ายหนี้ต่อเดือน 3,000 + 20,000 = 23,000 บาท หรือ 57.50% ของรายได้ (มาจาก23,000 / 40,000) เป็นภาระหนี้ที่หนักเกินไป ซึ่งมาดามซูซี่ไม่ควรมีหนี้เกิน 45% ของรายได้หรือ 18,000 บาทต่อเดือน ถ้ามีภาระหนี้ที่มากกว่านี้จะเกิดปัญหาการเงิน เช่น การขาดสภาพคล่อง เงินสดขาดมือในระยะยาว ถ้ามาดามซูซี่จ่ายหนี้ 57.50% แสดงว่ารายจ่ายอื่นๆในชีวิตประจำวัน ค่ากิน ค่าเดินทาง เงินออม เงินฉุกเฉิน ฯลฯ เพียง 42.50% อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นควรลดภาระหนี้ลงหรือหารายได้ทางอื่นเพิ่มขึ้น

หมายเหตุ

แต่ละคนมีรูปแบบรายได้ รายจ่ายแตกต่างกัน เช่น รับรายได้เป็นก้อน รับรายได้เป็นรายเดือน รายจ่ายเป็นก้อน รายจ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้น ควรปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบรายได้และรายจ่ายของตนเอง

ถ้าเราแบ่งรายจ่ายออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. เงินออม (ได้รับเงินมาแล้วออมทันที)
  2. รายจ่ายห้ามเบี้ยว (ถ้าเรียกอย่างเป็นทางการ คือ รายจ่ายประจำหรือรายจ่ายคงที่ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ต้องจ่าย ต่อรองไม่ได้ หากไม่จ่ายจะได้รับผลเสียหายอย่างมาก)
  3. รายจ่ายลั้นลา (ถ้าเรียกอย่างเป็นทางการ คือ รายจ่ายขาจรหรือรายจ่ายผันแปร ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ยืดหยุ่นได้ สามารถปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตลอดเวลา)

ทำไมห้ามสร้างหนี้เกิน 45% ??

คิดตัวเลขกลมๆง่ายจากตารางนี้ โดยที่เราจัดสรรเงินเป็น 3 ช่องทาง คือ เงินออม รายจ่ายห้ามเบี้ยวกับรายจ่ายลั้นลา ซึ่งตัวเลขรายจ่ายวันละกี่บาทนั้นจะมาจาก "รายจ่ายลั้นลา / 30 วัน" โดยแบ่งช่วงของการก่อหนี้จากรายจ่ายห้ามเบี้ยวเป็น 3 ช่วง คือ

สร้างหนี้กำลังดีที่ 45% ของรายได้

เรามีรายจ่ายลั้นลาไม่ตึงจนเกินไป โดยขณะที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จะมีเหลือเงินใช้วันละ 225 บาท (มาจากรายจ่ายลั้นลา 6,750 / 30)

สร้างหนี้เริ่มมากเกินไปที่ 60% ของรายได้

รายจ่ายลั้นลาค่อนข้างตึงตัว โดยขณะที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จะมีเหลือเงินใช้วันละ 150 บาท (มาจากรายจ่ายลั้นลา 4,500 / 30)

สร้างหนี้มากเกินไปที่ 80% ของรายได้

เข้าขั้นวิกฤตมากๆ เพราะเรามีรายจ่ายลั้นลาน้อยจนแทบกระดิกตัวไปทำอะไรไม่ได้ โดยขณะที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จะมีเหลือเงินใช้วันละ 50 บาท (มาจากรายจ่ายลั้นลา 1,500 / 30) อาจจะสร้างหนี้เพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่ายมากขึ้น

หมายเหตุ : คำนวณโดยใช้รายได้ทางเดียวจากเงินเดือน หากมีอาชีพเสริมสร้างรายได้หรือสร้างกระแสเงินสดของตัวเองให้หมุนเวียนดีก็สามารถสร้างหนี้เยอะๆได้