เมื่อกล่าวถึงเรื่องการเงิน หรือ การลงทุน ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆท่านจะนึกถึงสมการคณิตศาสตร์ นอกจากนี้คำศัพท์ต่างๆที่ใช้พูดหรือเขียน ยังเข้าใจยาก ทั้ง ๆ ที่เขียนด้วยภาษาไทย ทำให้เกิดอคติในการศึกษาเรื่องการลงทุนด้วยตนเอง เพราะคิดว่า ยาก เกินกว่าจะเรียนรู้ได้

ผมขออาสาเป็นส่วนหนึ่งในการทำเรื่องการลงทุนให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย โดยจะพยายามยกตัวอย่างสิ่งที่เราพบในชีวิตประจำวันในการอธิบายแนวคิดวิธีการต่าง ๆ

ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน คือ ดอกเบี้ย สำหรับสถานที่ยอดนิยมที่มักจะพบกับเรื่องดอกเบี้ย คือ ตลาดสด

หลาย ๆ ครั้งที่ไปตลาด ก็มักจะพบกับเหตุการณ์ คนเก็บดอกเบี้ย เข้ามาเก็บดอกเบี้ยรายวันจากแม่ค้าซึ่งดูคุ้นเคยและสนิทสนมกันดี คงได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก และแม่ค้าเหล่านั้นก็เป็น ลูกหนี้ ที่ดี จ่ายเงินตรงเวลาเพราะ ดอกเบี้ย สูงมาก

เหตุที่ทำให้แม่ค้าต้องหยิบยืม เงินกู้นอกระบบ เนื่องจากการทำมาค้าขายในแต่ละวันแม่ค้าส่วนใหญ่ ค้าขายโดยใช้ เงินสด เป็นหลัก คือ ซื้อของมาขายก็จ่ายเงินสด เมื่อลูกค้ามาซื้อของก็รับเงินสด หมุนเวียนกันไป ดังนั้นหากเกิดเหตุผิดปกติขึ้นในชีวิต เช่น ขายได้น้อย เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ก็จะมีรายจ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามา ทำให้หมุนเงินไม่ทันทำให้จนต้องหยิบยืมเงินกู้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากแหล่งเงินกู้ใกล้ตัว

วันนี้เรามาเรียนรู้วิธีในการคำนวณดอกเบี้ยอย่างง่าย หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Simple Interest กันนะครับ หยิบเครื่องคิดเลขแม่ค้าขึ้นมาเลยครับ ผมสัญญาว่าจะใช้เฉพาะเครื่องหมาย บวก ลบ คูณ และ หาร เท่านั้น

จากตารางบรรทัดแรก เริ่มต้นด้วยเงินกู้ 2,000 บาท (ก) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 (ข) คิดเป็นดอกเบี้ยงวดละ 200 บาท (ค) ถ้าจ่ายดอกเบี้ย 5 งวด (ง) เราจะต้องเสียดอกเบี้ยทั้งหมด 1,000 บาท (จ) หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินกู้ และเมื่อรวมเงินกู้กับดอกเบี้ยในวันที่จ่ายคืนหนี้ เท่ากับเราจ่ายหนี้ไปทั้งหมด 3,000 บาท

บรรทัดที่สอง ดอกเบี้ยเท่าเดิมแต่เรายืดระยะเวลา การจ่ายออกไปจาก 5 งวดเป็น 10 งวด กู้เงินมา 2,000 เราต้องจ่ายคืนทั้งหมด 4,000 บาท

และบรรทัดสุดท้ายเมื่อ ดอกเบี้ยเพิ่ม เป็นร้อยละ 15 ระยะเวลาจ่าย 10 งวด เราต้องจ่ายคืนทั้งหมด 5000 บาท!! จ่ายแต่ดอกเบี้ยแบบนี้เมื่อไรเราจะรวยล่ะคร๊าบบบ

จากตารางจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ส่งผลให้ดอกเบี้ยมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ 3 สิ่ง คือ

1. เงินกู้

2. ดอกเบี้ย

3. ระยะเวลาผ่อน

ทำให้ได้สมการสำหรับการคิดดอกเบี้ยจ่ายแบบง่ายว่า

ดอกเบี้ยจ่าย = เงินกู้ x จำนวนปีที่กู้ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี ÷ 100

การคำนวณด้วยวิธีนี้ส่วนมากเราจะพบในการกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์

ตัวอย่าง

กู้ซื้อรถยนต์ราคา 700,000 บาท (เงินกู้) ระยะเวลาผ่อน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด = 700,000 x 4 x 2.5 ÷ 100 = 70,000 บาท จากนั้นเมื่อต้องการคำนวณ ค่างวดผ่อนชำระ สามารถทำได้โดย เอาเงินต้น รวมกับ ดอกเบี้ย ได้ จำนวนเงินผ่อนชำระทั้งหมด แล้วหารด้วยจำนวนงวด (ผ่อน 4 ปี = 12 เดือน x 4 ปี = 48 เดือน)

ค่าผ่อนชำระต่องวด = จำนวนเงินผ่อนชำระทั้งหมด ÷ จำนวนงวด

ค่าผ่อนชำระต่องวด = (700,000 + 70,000) ÷ (48) = 16,041.67 บาท หรือ ประมาณ 16,042 บาทต่อเดือน

ในทางกลับกับ ในกรณีที่ทราบค่าผ่อนชำระต่องวด แล้วต้องการหาอัตราดอกเบี้ย ก็ให้เราใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน เข้ามาประยุกต์

ตัวอย่าง

รถยนต์คันหนึ่ง ราคา 600,000 บาท กำหนดผ่อนชำระ 48 เดือน เดือนละ 15,000 บาท จงหาอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเงินกู้ครั้งนี้

จำนวนเงินผ่อนชำระทั้งหมด = ค่าผ่อนชำระต่องวด x จำนวนงวด = 15,000 x 48 = 720,000 บาท

ดอกเบี้ยจ่าย = จำนวนเงินผ่อนชำระทั้งหมด – เงินต้น = 720,000 – 600,000 = 120,000 บาท

หาอัตราดอกเบี้ย = [120,000 x 100] ÷ [600,000 x 4] = 5% ต่อปี

เราสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่องของการหาอัตราดอกเบี้ยอย่างง่าย ในการเปรียบเทียบต้นทุนการกู้ยืมต่าง ๆ ในเบื้องต้นได้นะครับ

สำหรับตอนต่อไป เราจะไปเรียนรู้การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นกันนะครับ

ความรวย... ไกล... แค่เอื้อม สวัสดีครับ