สวัสดีครับ ผมหมอนัท คลินิกกองทุน เรากลับมาพบกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมอาจจะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับกองทุนมากนัก แต่จะขอพื้นที่ในการพูดคุย และ ขอเสนอแนะต่าง ๆ ใหักับนักลงทุนทั่วไป รวมถึง แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ต่อ การอ่าน “Fund Fact Sheet” ที่คนส่วนใหญ่มักจะ “ไม่อ่าน” กันครับ 

เมื่อวันก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับทาง สำนักงาน ก.ล.ต. ในเรื่องการทำ Fact Sheet กองทุนรูปแบบใหม่ที่น่าจะทำให้ ผู้ลงทุนได้เข้าใจถึงกองทุนมากขึ้น เนื่องจาก Fact Sheet เดิมนั้น ค่อนข้างมีปัญหาคือ 

  1. อ่านยาก เพราะว่าเป็นภาษาทางการพอสมควร
  2. คำอธิบายของนโยบาย ไม่ชัดเจน เช่น ถ้าเป็นกองทุนหุ้น ก็จะเขียนคำอธิบายในการลงทุนไว้ว่า กองทุนนี้ จะเลือกหุ้นพื้นฐานดี ฯลฯ…… และถ้าท่านสังเกตคือ ทุกกองทุนก็จะเขียนคล้าย ๆ กัน ประหนึ่ง copy and paste กันมา (แต่บาง บลจ. ก็ทำได้ดีมากนะครับ)
  3. รายละเอียดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บในปัจจุบันบางครั้งก็หาได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะบอกเป็น ค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บสูงสุด
  4. กองทุนต่างประเทศ บอกชื่อ master fund แต่ไม่ได้รายละเอียดของกองทุน master fund นักลงทุนก็ต้องไปหาเพิ่มเติมเอง (บางที่ก็มี link ให้ไปที่ master fund หรือ แนบ fact sheet ของกองทุน master fund มาให้ด้วย น่ารักมาก ๆ เลย)
  5. รายละเอียดป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน บางทีนักลงทุนก็ต้องหาอ่านเอง หรือ บางครั้ง ต้องโทรถาม บลจ.
  6. ผมได้เสนอให้ ก.ล.ต. จัดทำ Data Center เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้ามา รายละเอียดต่าง ๆ ของกองทุนได้ทุกกอง และง่ายในการนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนเอง

จริง ๆ ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ เช่น รายชื่อ ผจก กองทุน, Portfolio Turnover Ratio Tracking Error และข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าจะเปิดเผยให้นักลงทุนทราบกัน เพราะว่าผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนจริง ๆ

การจัดประชุมครั้งนี้ แน่นอนว่าทาง ก.ล.ต. เองก็พยายามที่จะปรับปรุงให้น่าอ่านมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจ และ นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มลงทุน ซึ่งต้องลุ้นกันต่อว่าจะเป็นอย่างไร แต่จากที่เห็นคร่าว ๆ ผมคิดว่า อ่านง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลยครับ 

โดยคนที่มาประชุมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ออกกองทุน- ผู้ขายกองทุน และตัวแทนขายหน่วยลงทุน หลากหลายกันไป ซึ่งผมต้องขอชื่นชม บาง บลจ. ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุนก็ดี หรือ คนที่ออกกองทุน พยายามช่วย เหมือนอยากทำให้ดีขึ้น และถูกต้องมากขึ้น

แต่ก็มีประเด็น ระหว่าง ตัวแทนขายกองทุน กับคนออกกฏ ซึ่งในที่ประชุมนั้นคนที่เป็นตัวแทนขายกองทุนก็ค้านจนเกินไป เหมือนการปรับเปลี่ยน Fact Sheet ในครั้งนี้ ทุกอย่างที่ต้องเปลี่ยนนั้นจะกลายไปเป็นต้นทุนของ บริษัท ฯ ทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้ว บางส่วนนั้นก็เป็นสิ่งที่ทาง บลจ. ต้องทำอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จัดเรียงให้เป็นระบบ หรือ เพิ่มเติมลงใน Fact Sheet เท่านั้นเอง

ถึงขนาดมีการพูดออกไมค์ว่า “ทำไปก็ไม่มีคนอ่านหรอก !!”

ซึ่งคนที่พูดออกมาแบบนี้ ผมคิดว่าเขาไม่ได้ผิดที่จะคิดแบบนี้ นั้นก็เพราะว่า “คนส่วนใหญ่” ก็ไม่ได้อ่าน fact sheet จริง ๆ น่ะแหละครับ 

การที่นักลงทุนไม่อ่านนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น อ่านไม่รู้เรื่อง, ขี้เกียจอ่าน บอกมาเลยว่าให้ลงทุนกับกองทุนไหนดี หรือ Fact sheet ห่วยจนไม่อยากอ่าน 

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ ก็ได้สร้างแนวคิดย้อนกลับไปที่ผู้ขายกองทุน และ ผู้ผลิตกองทุนว่า นักลงทุนไม่อ่าน Fact Sheet ครับ 

และก็วนเป็น ลูป แบบนี้ไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่า นักลงทุนได้สร้าง “ปีศาจ” หรือ คนที่ไม่อยากจะเปลี่ยนรูปแบบของ Fact Sheet ใด ๆ ใหักับตัวนักลงทุนเอง จนสุดท้ายก็ไม่เกิดการพัฒนาใด ๆ มาหลายปี 

จึงทำให้ ก.ล.ต. ต้องปรับปรุงแก้ไขในวันนี้ โดยโจทย์คือ การทำให้น่าอ่านมากขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขเรื่อง Fact Sheet ที่อ่านไม่รู้เรื่องโดยตรง และผมคิดว่าก็น่าจะดีขึ้น ส่วนเรื่องขึ้เกียจอ่าน และหาแต่คนแนะนำนั้น(บอกมาเลยว่ากองทุนไหน) ผมคิดว่า คงถึงคราวที่นักลงทุนเอง ควรจะหาความรู้ก่อนการลงทุนด้วยตนเองให้มากขึ้นแล้วครับ 

ในวันที่ประชุมนั้น มีส่ิงหนึ่งที่ผมไม่พอใจในที่ประชุมมากที่สุดก็คือ “เมื่อตัวแทนขายกองทุนรู้ว่าคนไม่อ่าน” ทำไม ถึงไม่เสนอทางออกให้กับนักลงทุน หรือ ก.ล.ต. แต่กลับกลายเป็น แค่การ บ่น, โอดครวน ถึงสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น ประหนึ่งไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย 

และก็กลายเป็นลืมสิ่งที่ ผู้ขาย ผู้แนะนำการลงทุนที่ดีต้องทำคือ ทำอย่างไรให้นักลงทุนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน หรือ การบรรยาย หรือ การชี้แจ้ง หรือ ทำกระบวนการอะไรก็ได้ที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่ การบอกว่า “ทำไปก็ไม่มีคนอ่าน” ซึ่งบางคนก็แค่บ่น และมันก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร

คนที่ลงมือทำ และแก้ไขนั้น ผมว่าน่ายกย่องมากกว่า

สิ่งที่ตัวแทนขายกองทุนบางคน หรือ บางบริษัท พูดออกมานั้นจริง ๆ แล้ว นอกจากจะเป็นการคัดค้านที่ไม่สร้างสรรค์แล้ว ยังจะเป็นการ “การดูถูก ผู้ลงทุน อย่างมาก” ประมาณจะบอกว่าลูกค้าไม่รู้หรอก แถมยังไม่สนใจด้วย ไม่ว่าต่อให้เขียน fact sheet ออกมาดีแค่ไหน นักลงทุนก็ไม่อ่าน(เว้ย) และสุดท้ายก็ถาม ตัวแทนขายอยู่ดีว่า “กองทุนไหนดี”

ดังนั้น ทางแก้ไขคือ นักลงทุนเอง

ก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนอยู่เสมอ

โดยจากนี้ไป ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ ผู้ลงทุนเอง ควรจะอ่าน Fact sheet ก่อนการลงทุน อ่านให้เป็น และ อ่านให้เข้าใจ เพื่อที่จะลงทุนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับความเสี่ยงที่จะได้รับ และเป็นเพิ่มความรู้ ความเข้าใจของนักลงทุน อย่าให้ผู้ขายมาดูถูกความสามารถของเรา แน่นอนว่า จะเป็นประโยชน์ระยะยาวกับผู้ลงทุนเองด้วย 

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่า Fact Sheet อันใหม่นั้น ถ้ามองมุมผู้ออก และผู้ขาย แน่นอนว่า มันคือ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้น ต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่า ถ้าผู้ออกกองทุน และ ผู้ขายกองทุน นั้นได้ถอดหมวกของตัวเองออก และมองว่า เราเป็นนักลงทุนคนหนึ่ง ผมว่าน่าจะเห็นอะไรที่มากขึ้นกว่าเดิม