อยากมี "เงินบำนาญ" ควรทำอย่างไรดีน๊า??

หลายคนต้องการที่จะเกษียณเร็ว อยากมีเงินบำนาญ อยากมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร มีหลากหลายวิธีเพื่อเกษียณจนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะทำแบบไหนดี มันไม่มีวิธีที่ดีที่สุดหรอกนะ มันมีแต่วิธีที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดต่างหากหละ

เราเปรียบเทียบการออมเพื่อเกษียณเหมือนกับ “การได้คืนภาษี”

อารมณ์ตอนยื่นภาษีแล้วรู้ว่าได้เงินคืน เรารู้สึกอย่างไรบ้าง สุดยอดแห่งความดีใจเลยใช่ไหมหละ ทั้งที่ความจริงเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินกว่าภาษีที่ต้องเสียจริง พอยื่นภาษีเราจึงได้รับเงินจำนวนนั้นกลับคืนมา ตลอดปีภาษีเราไม่รู้สึกอะไรมากเพราะถูกหักไปแต่ละเดือนด้วยจำนวนเล็กน้อย แต่พอรวมเป็นปีแล้วได้เงินคืนเป็นก้อนโต

นั่นแหล!! วิธีออมเงิน

การออมเงินเพื่อเกษียณต้องใช้ความอดทนและวินัยการออมอย่างมาก อารมณ์ดีใจของเราจะเกิดก็ต่อเมื่อเรามีเงินใช้อย่างสบายช่วงหลังเกษียณ บางคนอาจจะนอนตีพุงชิวๆรับค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าคอนโด หรือวิธีลงทุนอื่นๆที่จะทำให้เราได้รับเงินอย่างต่อเนื่องหลังเกษียณ บทความนี้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในออมเงินสำหรับคนที่ต้องการสร้างเงินบำนาญด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ใช้หลังเกษียณอย่างชัดเจน คือ วิธีการออมเงินแบบอัตโนมัติผ่านการทำประกันชีวิตชนิดบำบาญ

ประกันชีวิตชนิดบำนาญตอบโจทย์ได้ดีกับการออมระยะยาวซึ่งมีผลประโยชน์ดังนี้

  • เก็บระยะยาวไว้ใช้หลังเกษียณด้วยจำนวนเงินที่เรากำหนดเองได้
  • ได้รับลดหย่อนภาษี 15% ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินสามารถกู้กรมธรรม์เพื่อนำเงินมาใช้ได้ชั่วคราว(แล้วแต่เงื่อนไขกรมธรรม์)

ตารางต่อไปนี้เป็นจำนวนเบี้ยประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิตบริษัทหนึ่งที่มีอยู่จริง เรายกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้นว่า “ออมก่อนนั้นดีอย่างไร”  โดยเป็นรูปแบบประกันชีวิตชนิดบำนาญ(ลดหย่อนภาษี) ที่เลือกรับเงินเกษียณตั้งแต่อายุ 60 ปี ซึ่งกรมธรรม์นี้เบี้ยประกันชีวิตของผู้ชายจะถูกกว่าผู้หญิง ในตัวอย่างนี้ทำทุนประกัน 1,000,000 บาท(หมายถึงเรามีเป้าหมายในการออมเงิน 1 ล้านบาท) เราลองคำนวณว่า ถ้าอายุและเพศต่างกันจะจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ซึ่งจะมีเงื่อนไขการรับเงินคืนเหมือนกัน

สร้างบำนาญให้ตัวเองตั้งแต่อายุ 60-90 ปี

ได้ปีละ 150,000 บาท หรือเดือนละ 12,500 บาท

บางคนอาจจะเห็นตัวเลขเงินที่ต้องจ่ายต่อปีค่อนข้างสูงจนอาจจะทำให้ถอดใจ จากตัวเลขนี้เราควรจะแบ่งย่อยออกเป็นรายเดือนเพื่อที่จะทะยอยเก็บให้ได้ตามเป้าหมาย เราจะได้ไม่รู้สึกเป็นภาระมากเกินไป

ตัวอย่างการแบ่งออมเงินรายเดือน

น้องหญิงอายุ 30 ปี จากตารางข้างต้นออมเงินปีละ 72,350 บาท เมื่อย่อยออกมาเป็นรายเดือนจะออมเดือนละ 6,029.17 บาท (ทำเป็นเลขกลมๆจะได้ 6,100 บาท) โดยตัดเงินทุกเดือนเข้าบัญชีฝากออมทรัพย์(ซื้อกองทุนตราสารหนี้หรือออมแบบไหนก็ได้ที่ตัดเงินฝากเข้าได้ทุกเดือน)  พอครบปีจึงถอนมาจ่ายชำระเบี้ยประกันชีวิตชนิดบำนาญ ทำแบบนี้จนกระทั่งอายุ 59 ปีจึงหยุดจ่ายเบี้ยประกัน

หมายเหตุ

  • ควรเลือกวิธีการออมเงินให้เหมาะสมกับความถนัดของตนเอง
  • กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ในความจริงสามารถตัดเงินเก็บไว้ในรูปแบบอื่นได้ โดยมีแนวคิดที่ว่า ณ วันที่ถอนออกมูลค่าเงินที่สะสมนั้นไม่ลดลงต่ำกว่าเงินต้น
  • การทำประกันชีวิตชนิดบำนาญนั้นเงื่อนไขของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน เราควรศึกษาเงื่อนไขให้เข้าใจก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิต