ในตลาดหุ้นเค้าว่ากันว่า 100 คน มีคนขาดทุน 80 คน คนเท่าทุน 15 คน คนกำไร 5 คน (อยากรู้จังว่าไอ้ “เค้า” เนี่ยมันเป็นใคร ^_^") ข้อความนี้เป็นจริงหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่มีอยู่อย่างนึงที่ผมแน่ใจสุด ๆ คือ คนที่ขาดทุนมีจำนวนเยอะกว่าคนที่มีกำไร

ในเมื่อคนที่เล่นหุ้นแล้วเจ๊งเป็นคนส่วนใหญ่ของตลาด ดังนั้นผมคิดว่าเป้าหมายแรกของนักลงทุนหน้าใหม่ คงไม่ใช่การพยายามเล่นหุ้นให้ได้กำไรเสียแล้ว แต่น่าจะเป็นการพยายามเล่นหุ้นยังไงไม่ให้เจ๊งมากกว่า

จากประสบการณ์ในการให้คำแนะนำกับเพื่อน ๆ นักลงทุน พบว่าคนส่วนใหญ่เวลาที่จะซื้อหุ้นมักให้ความสำคัญผลกำไรที่คาดว่าจะได้ โดยการตั้งคำถามว่า “ซื้อหุ้นตัวนี้แล้วราคาเป้าหมายน่าจะไปที่เท่าไหร่ แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่” แต่ในทางตรงกันข้ามเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ ในการเทรดแต่ละครั้งจะให้ความสำคัญไปที่ความเสี่ยง และผลขาดทุนก่อนเสมอ เพื่อกำหนดว่าในการเทรดครั้งนี้จะซื้อจำนวนกี่หุ้นดี  

ดังนั้นถ้าจะให้ผมแนะนำมือใหม่ว่า จะเล่นหุ้นอย่างไรให้ได้กำไร ผมจะบอกว่า “การเล่นหุ้นให้ได้กำไร ต้องคิดว่าจะเล่นหุ้นอย่างไรไม่ให้เจ๊ง”  แล้วสุดท้ายผลกำไรจะตามมาเอง ซึ่งความรู้ที่นักลงทุนต้องศึกษาเอาไว้ เพื่อนำมาสร้างกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดในตลาดนั้น ก็คือ การบริหารความเสี่ยงและเงินลงทุน หรือ Money Management นั่นเอง ซึ่งผมจะแนะนำให้รู้จักกันในบทความนี้ครับ

Money Management

หลังจากที่เราวิเคราะห์กราฟทางเทคนิค เพื่อให้ได้จังหวะในการซื้อหุ้นที่ดีแล้ว เราเคยตอบคำถามเหล่านี้ต่อไปนี้กันไหมครับ

1 จะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อหุ้นครั้งนี้กี่บาท เพราะอะไร ?  

2 จะซื้อกี่หุ้น เพราะอะไร ?

3 จะใช้เงินในการซื้อขายกี่บาท เพราะอะไร ?

ถ้ายังไม่เคยผมเชื่อว่าหลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้วทุกคนจะเห็นถึงความสำคัญของคำถามเล่านี้ทันที เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราเอาตัวรอดในตลาดได้ และทำให้เล่นหุ้นแล้วไม่เจ๊งนั่นเอง

ทำไม Money Management จึงสำคัญ

การบริหารความเสี่ยงและเงินลงทุนในการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้ง หรือ Money Management มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการเทรดหุ้นมีข้อจำกัดและความไม่แน่นอนหลายอย่างที่นักลงทุนจะต้องเจอ กระบวนการของ Money Management จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

1)  ไม่รู้ว่าผลการซื้อขายในแต่ละครั้ง ครั้งไหนจะออกมาเป็นกำไร ครั้งไหนผลการซื้อขายจะออกมาเป็นขาดทุน และไม่รู้ว่าจะมีผลการซื้อขายที่ขาดทุนติดต่อกันกี่ครั้ง ดังนั้น จึงต้องมีการจำกัดความเสี่ยงโดยกำหนดผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละครั้ง ถ้าการเทรดหุ้นมีผลขาดทุนครั้งละมาก ๆ และติดต่อกันหลายครั้ง โอกาสที่จะได้ทุนคืนยิ่งยากมากขึ้น และโอกาสหมดตัวสูงขึ้น

2) การตัดสินใจเลือกเทรดหุ้นแต่ละตัว มีโอกาสไม่เป็นไปตามที่คิดได้เสมอ เพราะเราไม่รู้ว่า หุ้นตัวไหนราคาจะขึ้นหรือลง หุ้นตัวไหนจะขึ้นช้าหรือขึ้นเร็ว ผลการเทรดหุ้นตัวไหนจะออกมาเป็นกำไรหรือขาดทุน หุ้นตัวไหนจะทำให้ได้กำไรมากหรือน้อย ดังนั้น เราจึงต้องกระจายความเสี่ยงโดยการเทรดหุ้นหลายตัว และหลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นที่ราคามีความสัมพันธ์กันพร้อม ๆ กัน (ขึ้นก็ขึ้นเหมือนกัน ลงก็ลงเหมือนกัน) เพราะถ้าเราทุ่มเงินทั้งหมดเพื่อเทรดหุ้นเพียง 1-2 ตัวแล้วไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ ก็จะเกิดผลเสียหายอย่างมาก

3) ทุกคนมีเงินทุนที่จำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินที่จะเทรดในแต่ละครั้ง เพื่อให้ซื้อหุ้นได้หลายตัวในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่จำกัดเงินทุนในการเทรดแต่ละครั้ง เมื่อมีโอกาสใหม่เข้ามาเราก็จะไม่สามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้

“ เป้าหมายของ Money Management ต้องการให้ผู้ลงทุนสามารถเทรดหุ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว คนที่มีความรู้ในการอ่านกราฟ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเทรดเพราะไม่มี Money Management ”

ตารางกำไร-ขาดทุน-เท่าทุน

ผมอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ นักลงทุนมือใหม่รู้จักกับตารางแสดงผลกำไรขาดทุนกันครับ เพื่อเป็นการย้ำอีกรอบว่า เวลาเทรดหุ้นเราควรให้ความสำคัญกับผลขาดทุนก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องผลกำไร

ตัวเลขในตารางมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นว่าการที่นักลงทุนยอมปล่อยให้เกิดผลขาดทุนมาขึ้นเท่าไหร่ ในการเทรดครั้งถัดไปจะยิ่งต้องการกำไรมากขึ้นเพื่อให้เงินกลับมาเท่าทุน!!! เน้นครับว่า แค่เท่าทุนเท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้กำไรเลย

ตัวอย่างจากตารางจะเห็นได้ว่า ถ้าเราเทรดหุ้นแล้วเราปล่อยให้เกิดผลขาดทุนถึง 50 % กว่าที่เราจะทำให้เงินทุนกลับมาเท่าเดิม ในครั้งถัดมาเราจะต้องทำกำไรให้ได้ 100% จากเงินที่เหลือ เห็นไหมครับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะทำกำไรได้มากขนาดนั้น ดังนั้นในการเทรดหุ้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เทรดหุ้นแล้วไม่เจ๊ง คือ ห้ามขาดทุนเยอะเด็ดขาด ซึ่ง Money Management จะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราไม่ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนมากนั่นเอง

เล่นหุ้นอย่างไรไม่มีเจ๊ง

ในบทความนี้มีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ Money Management ที่ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักกัน คือ Risk of Ruin หรือ ความน่าจะเป็นที่จะเจ๊ง(เจ๊ง = หมดตัว) ตัวเลขตัวนี้จะบอกว่าวิธีการเทรดหุ้นของเราในปัจจุบันมีความเสี่ยงในการซื้อขายหุ้นแล้วจะเจ๊งมากน้อยขนาดไหน

ปัจจัยที่มีผลกับ Risk of Ruin (ROR)

เราจะรู้ว่ามีตัวเองมีความน่าจะเป็นที่เทรดหุ้นแล้วเจ๊งมากน้อยขนาดไหน เราจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง คือ

1) % Win Ratio (กำไรบ่อยไหม) คำนวณจาก จำนวนครั้งที่กำไร หาร จำนวนครั้งที่ซื้อขายทั้งหมด เป็นค่าที่บอกว่าครั้งที่ผลการเทรดออมาเป็นกำไร คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนครั้งที่เทรดทั้งหมด

2) Payoff Ratio