วิธีการเก็บเงินมีหลายทางเลือก เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นรายตัว กองทุนรวม ประกันชีวิต ทองคำ ลงทุนอสังหา ฯลฯ ในอนาคตก็จะมีแบบอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราจะเลือกวิธีไหนนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน

ขั้นตอนที่ใช้ในการตัดสินใจได้

1. ชีวิตนี้เราจะต้องดูแลใครบ้าง

เช่น เราทำงานคนเดียวต้องดูแลทุกคนในครอบครัว แต่ละคนในครอบครัวดูแลตัวเอง เราดูแลตัวเองคนเดียวเท่านั้นไม่มีญาติพี่น้อง ทั้งหมดนี้มีผลกับเป้าหมายการเงินของเรา

2. เลือกวิธีเก็บเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงิน

เช่น ต้องการเก็บเงินฉุกเฉิน ควรเลือกเป็นความเสี่ยงต่ำ เก็บเงินเกษียณอีกหลายสิบปีควรเก็บไว้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น สร้างความอุ่นใจให้คนในครอบครัว ฯลฯ

3. ลงมือทำ

เช่น เราต้องการมีเงินฉุกเฉิน รู้แล้วว่าควรเก็บที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ สุดท้ายค่อยมาเลือกว่าจะไปที่ธนาคารหรือกองทุนชื่อว่าอะไร

แอดมินจะยกตัวอย่างเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นนะคะ ในภาพนี้เราเป็นผู้หญิงอายุ 30 ปี รับความเสี่ยงได้สูงมาก สามารถออมเงินได้เดือนละ 5,000 บาท ความแตกต่างของวิธีการเก็บเงินอยู่ที่ภาระความรับผิดชอบในครอบครัว แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 เราคนเดียวต้องดูแลทุกคนในครอบครัว 

เราอยู่ตรงกลางที่ต้องทำงานดูแลพ่อ แม่และลูกของตัวเอง ถ้ามีเรี่ยวแรงทำงานก็ยังหาเงินได้ แต่ถ้าเราหายไปคนเดียวครอบครัวอยู่ลำบาก เราอาจจะแบ่งเงิน 5,000 บาท ออกเป็น 4 ส่วน

1. ดูแลพ่อแม่ : 

เก็บไว้ดูแลสุขภาพพ่อแม่เดือนละ 500 บาท ไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้ เผื่อจำเป็นต้องใช้จะได้ขายกองทุนเอาเงินมาจ่ายได้ ถ้าพ่อแม่มีประกันสุขภาพดูแลตัวเองอยู่แล้ว เงินก้อนที่เราเก็บไว้เอาไว้จ่ายส่วนต่างค่ารักษาเพราะอาจจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่สูงเกินความคาดหมาย

2. เงินเกษียณของตัวเอง : 

เราเป็นคนรับความเสี่ยงได้สูง DCA กองทุนหุ้นเดือนละ 1,000 บาท ถ้ากองทุนหุ้นมีผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ถ้าเราเกษียณอายุ 60 ปี มีระยะเวลาการลงทุน 30 ปี เราน่าจะมีเงินเกษียณประมาณ 832,258 บาท

3. ค่าเทอมของลูกปีหน้า :

เรารู้อยู่แล้วว่าแต่ละปีค่าเทอมของลูกมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ทำให้เราเก็บเงินล่วงหน้าได้ ลดปัญหาอาการเงินช๊อตช่วงเปิดเทอม เราเก็บเดือนละ 2,000 บาท ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง

4. สร้างความอุ่นใจให้ครอบครัว : 

แผนสำรองกรณีเลวร้ายที่สุด คือ ถ้าเราทุพพลภาพทำงานไม่ได้หรืออายุสั้น ก็ยังมีเงินจากประกันชีวิตมาดูแลครอบครัวต่อจากเราได้ เลือกประกันความคุ้มครองสูง คือ ประกันควบการลงทุน จ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 1,500 บาท มีความคุ้มครองให้ครอบครัว 4,500,000 บาท เราทำเพื่อ…

=> ถ้าเราทุพพลภาพทำงานไม่ได้ มีเงินดูแลตัวเองและครอบครัว 4,500,000 บาท

=> ถ้าเราอายุสั้นเสียชีวิต มีเงินดูแลพ่อแม่และลูก 4,500,000 + เงินจากกองทุนรวม

=> ถ้าเราอายุยืน สามารถถอนเงินจากกองทุนรวมเป็นเงินเกษียณของตัวเองได้

แบบที่ 2 เราดูแลตัวเองเท่านั้น ไม่มีญาติพี่น้องให้ต้องเป็นห่วง

เก็บสะสมเงินดูแลตัวเองในวัยเกษียณได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีความกังวลว่าถ้าเกิดทุพพลภาพทำงานหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ จะนำเงินตรงไหนมาใช้จ่ายและจ้างพยาบาลมาดูแลที่บ้าน เราอาจจะแบ่งเงิน 5,000 บาทออกเป็น 3 ส่วน

1. เงินฉุกเฉิน :

ควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 3 - 12 เท่าของค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับอาชีพและความเสี่ยงที่จะตกงาน เช่น ถ้าเป็นข้าราชการเก็บไว้ 3 เดือน แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ควรเก็บ 12 เดือน เราเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท ไว้ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ถ้าเก็บครบแล้วค่อยเปลี่ยนไปเก็บไว้ที่เป้าหมายเกษียณต่อไป

2. เงินเกษียณ :

ถ้าคำนวณอย่างง่ายว่าเราต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณตั้งแต่อายุ 60 - 90 ปีเดือนละ 30,000 บาท ควรเตรียมเงินไว้ประมาณ 30,000 x 360 = 10,800,000 บาท(ยังไม่รวมเงินเฟ้อ) ตอนนี้เราเก็บได้เดือนละ 2,500 บาทที่กองทุนรวมหุ้น สมมติว่าผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ตอนอายุ 60 เรามีเงินประมาณ 2,080,646 บาท

3. ทุพพลภาพทำงานไม่ได้ :

ถ้าเราต้องนอนนิ่งๆอยู่ที่บ้าน ไม่มีรายได้เข้ามา ต้องหาเงินมาจ้างคนดูแลที่บ้าน ก็จะต้องมาดูว่าจากทรัพย์สินทั้งหมดของเราจะถอนเงินตรงไหนมาใช้ได้บ้าง ถ้าใช้หมดแล้วก็จะต้องขายรถ ขายบ้าน ขายของสะสมเพื่อเอาเงินมาดูแลตัวเอง

อีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องขายทรัพย์สิน คือ การทำประกันควบการลงทุน เบี้ยประกันเดือนละ 1,500 บาท ความคุ้มครอง 4,500,000 บาท หากทุพพลภาพจะมีเงินก้อนจ้างพยาบาลมาดูแลตัวเอง 4,500,000 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆจะเหมือกับข้อ 4 ข้างบนนะคะ

สุดท้ายเราค่อยมาเลือกว่าจะเลือกออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของธนาคารอะไร เลือกกองทุนรวมชื่ออะไร เลือกประกันชีวิตควบการลงทุนของบริษัทอะไรที่ใช้เงินน้อยและได้รับความคุ้มครองสูง แต่ถ้าเรามีงบน้อยอาจจะใช้ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาทดแทนกันได้จ้า ส่วนเบี้ยประกันจะแตกต่างตามเพศ อายุและสุขภาพร่างกายนะคะ

เมื่อแต่ละคนมีชีวิตที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีจัดการเงินที่ไม่เหมือนกัน บทความนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อให้มองเห็นภาพและไปวางแผนการเงินของตัวเองได้ แต่รายละเอียดเชิงลึก เช่น การเปรียบเทียบกองทุน แบบประกันชีวิตรวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ควรไปหาความรู้เพิ่มเองนะจ๊ะ

เพจอภินิหารเงินออม

------------

PR : Workshop , E-book และหนังสือเล่ม วิธีจัดการเงินขั้นเทพฉบับลงมือทำ อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้เลยจ้า https://bit.ly/2Dvegib