เราสามารถแบ่งคุณสมบัติที่จะทำให้คุณสามารถอยู่กรุงเทพฯ ได้อย่างสบายๆ แม้มีเงินหรือรายได้แค่เพียง 4,000 บาทต่อเดือน โดยแบ่งระดับคุณสมบัติออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้
ระดับแรก เริ่มจากตัวเราเองก่อน
“ทุนที่เรามี นิสัยที่เราเป็น” น้องฝึกงานเล่าให้เราฟังว่า เธอมีรายได้อยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน รายได้หลักของเธอมาจากพ่อแม่ของเธอ เธอสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่ยากลำบากเลย เพราะเธอมีกฎทองอยู่ 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ไม่ใช้เครื่องสำอาง น้องฝึกงานของเราเป็นผู้หญิงครับ เธอเป็นนักศึกษาปี 4 เธอบอกว่าเธอไม่ชอบแต่งหน้า และเธอไม่ค่อยแต่งหน้า ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของเธอทั้งหลายแหล่ จึงไม่ได้หมดไปกับเครื่องสำอาง
2. ไม่ช่างแต่งตัว น้องฝึกงานเธอบอกว่า เธอมีชุดเสื้อผ้าอะไรอยู่ เธอก็แต่งมาฝึกงานแค่เพียงเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะซื้อใหม่ ไม่ได้สนใจที่จะตามกระแสแฟชั่นแบบคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่แม่เธอก็เลือกหาซื้อชุดเสื้อผ้ามาเองด้วย แม่ไม่ได้ซื้อให้บ่อย เธอใส่และใช้เสื้อผ้าเท่าที่เธอมี
3. กินแต่พออิ่ม ไม่กินขนมจุกจิก น้องฝึกงานบอกเราว่า เธอกินแค่พออิ่มเท่านั้น หลายคนที่ทำงานออฟฟิศมักจะออกไปหาอาหารหรือขนมทานระหว่างวันตลอดเวลา แต่สำหรับเธอ เธอทานแค่อาหารและขนมแค่มื้อหลักๆ เท่านั้น จึงทำให้ไม่ต้องหมดเปลืองเงินกับส่วนนี้มาก
4. มีบ้านเป็นของตัวเอง โชคดีสำหรับคนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องอาศัยเช่าบ้าน เช่าที่พัก เช่าอพาร์ทเมนท์ ทำให้เธอไม่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นยังไม่ต้องเสียค่าผ่อนชำระอีกด้วย เพราะมีบ้านเป็นของตัวเอง
5. เก็บออมสม่ำเสมอ น้องฝึกงานบอกเราว่า เธอชอบที่จะเก็บออมสม่ำเสมอ หลายครั้งที่เธอหางานพิเศษทำ เป็นงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียน เธอเก็บออมเงินเหล่านั้นทุกครั้ง คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของเธอก็ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงที่เธอหาบวกกับเงินที่เธอเก็บออมมาอย่างยาวนาน เธอบอกว่า จะได้ไม่ต้องเป็นภาระพ่อแม่ที่ต้องมาจ่ายชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้
6. ไม่เป็นหนี้ เธอเคยพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับการเป็นหนี้ ปรากฏว่าเธอทำออกมาได้ไม่ดีอย่างที่เธอคิดนัก ส่วนหนึ่งเธอบอกว่า เธอไม่เคยเป็นหนี้ใคร มีแต่เพื่อนๆ มายืมเงินเธอ เธอเคยเป็นแต่เจ้าหนี้และไม่เคยเป็นลูกหนี้ เธอเลยไม่เข้าใจว่าความรู้สึกของลูกหนี้เป็นยังไง
7. กินข้าวครบสามมื้ออย่างประหยัด น้องฝึกงานเลือกทานอาหารในราคาประหยัดแค่เพียงพออิ่ม เช่น อาหารเช้าคือหมูทอดกับข้าวเหนียวในราคา 20 บาท ค่าอาหารกลางวันอยู่ที่ 40 บาท และขนมหวานที่เธอชอบ เช่น ไอศกรีม ขนมหวานทั้งหลายอยู่ที่ 40 บาทต่อครั้ง จากนั้น อาหารเย็นเธอไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะเธอหิ้วท้องกลับไปทานกับครอบครัว
ระดับที่สอง สังคมที่เราอยู่ หรือ เพื่อนๆที่แวดล้อมเรา
8. ไม่ชอบปาร์ตี้ น้องฝึกงานบอกเราว่าเธอไม่ชอบปาร์ตี้ที่ไหน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการไปกินดื่มยามค่ำคืน หรือกินเลี้ยงสารพัดหัวข้อที่จะอยากกินนั้น (เช่น ปาร์ตี้เนื่องในโอกาสอยากกิน รับน้อง หรือทำรายงานเสร็จ ฯลฯ) ไม่เคยได้กินเงินเธอเลย แถมเพื่อนๆ ก็ไม่เคยชวนเธอไปเสียเงินเพื่อปาร์ตี้เสียด้วย
9. ไม่มีภาษีสังคม อาจจะเป็นเพราะน้องยังไม่มีสังคมกว้างขวาง ประเภทต้องไปงานบวช งานแต่งแบบคนทำงานทั่วไป ทำให้เธอไม่เคยต้องเสียภาษีสังคมเหล่านี้เลย
ระดับที่สาม งานที่เราเลือกทำ
10. เลือกทำงานใกล้บ้าน น้องฝึกงานเลือกฝึกงานในสถานที่ทำงานที่อยู่ใกล้บ้าน นอกจากเธอจะได้ความรู้ระหว่างทำงานในช่วงฝึกงานแล้ว เธอยังเสียค่าเดินทางขณะไป - กลับสถานที่พักของเธอไม่แพงมาก เธอเสียค่าเดินทางด้วยรถกระป๊อ เพียง 7 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น
สรุปแล้ว ค่าใช้จ่ายประจำวัน จันทร์ - ศุกร์ ที่เธอต้องจ่ายมีดังนี้
ค่าอาหาร 20+40+40 = 100 บาท 1 วัน (5 วัน = 500 บาท / สัปดาห์)
ค่าอาหาร 4 สัปดาห์ = 500 * 4 = 2,000 บาท : 1 เดือน
ค่าเดินทาง 14 บาท 1 วัน (14*5 = 70 บาท / สัปดาห์)
ค่าเดินทาง 4 สัปดาห์ = 70 * 4 = 280 บาท : 1 เดือน
รายได้ 4,000 บาท หักค่าใช้จ่ายประจำวัน 1 เดือน = 2,280 บาท
4,000 - 2,280 = 1,720 บาท เหลือไว้เก็บออมเผื่อไปลงทุนได้อีก
Based On TrueStory ข้อมูลจริงจากน้องนักศึกษาฝึกงานของเราเอง น้องชื่อออม ออมเงินเก่ง สมแล้วที่อยู่ aomMONEY
ภารกิจทดลองใช้ชีวิตด้วยการกำหนดงบประมาณการกิน ด้วยเงิน 4,000 บาทต่อเดือน
เป็นไปได้มั้ย?!!
.
หลังจากที่เราสัมภาษณ์น้องฝึกงานไป แล้วพบว่าเธอมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีกฎเหล็ก 10 ข้อที่ทำให้เธออาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ด้วยเงินเพียง 4,000 บาท จากนั้น เราจึงนำมาทดลองใช้ชีวิตแบบเดียวกับเธอ โดยภารกิจนี้มีผู้ร่วมทดลองเป็นน้องฝึกงานรวมพี่เลี้ยงด้วย รวมทั้งหมด 8 คนครับ
.
ผลการทดลองพบว่า การใช้ชีวิตด้วยการกำหนดงบประมาณการกิน ดื่ม อย่างเดียว (ไม่รวมค่าเดินทางและค่าเอนเตอร์เทนตัวเองอื่นๆ นะครับ) เราตั้งเป้าหมายงบประมาณด้านการกินไว้ที่ 4,000 บาทต่อเดือน ผู้ร่วมภารกิจ 8 คน ผลลัพทธ์ที่ได้คือ สำเร็จ 7 คน ไม่สำเร็จ 1 คนครับ
.
สาเหตุที่เราเลือกจำกัดงบประมาณการกิน-ดื่ม ก็เพราะว่าค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ ถูกแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ เลย คือ การกิน การอยู่อาศัย และการเดินทาง
.
ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จและล้มเหลวจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
.
1. คุณต้องมีบ้าน ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ แบบที่ไม่ต้องเสียเงินค่าที่พักรายเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่พัก หรือค่าน้ำค่าไฟก็ตาม
.
2. คุณต้องเป็นคนติดบ้านและรักครอบครัวมากๆ ทำงานหรือเรียนเสร็จก็กลับบ้านเลย ไม่ได้มีกิจกรรมปาร์ตี้ที่ไหนต่อ
.
3. คุณต้องเป็นคนเก็บตัว หรือมีเพื่อนที่ไม่ชอบปาร์ตี้สังสรรค์เหมือนๆ กัน เพราะเพื่อนคุณจะไม่ชวนคุณไปหาอะไรทานหลังเลิกเรียนหรือทำงานเสร็จ แน่นอน คนวัยทำงานหมดสิทธิ โดยเฉพาะคนที่มีเพื่อนหลากสังคม หลายกลุ่ม เดี๋ยวเพื่อนคุณจะชวนฉลอง สังสรรค์ บ้างก็ชวนไปคลายเครียดด้วยการทาน รวมถึงปรึกษาหารือหลากประเด็น
.
4. คุณต้องมีช่วงเวลาปิดเทอมด้วย (นั่นหมายความว่า คนวัยทำงานนี่น่าจะหมดสิทธินะครับ) น้องๆ ฝึกงานเล่าว่า ถ้าเปิดเทอมน่าจะใช้เงินมากกว่านี้ แต่ช่วงที่ร่วมภารกิจเป็นช่วงปิดเทอม วันๆ ก็เดินทางมาฝึกงานที่ออฟฟิศและก็กลับบ้าน ไม่ได้เจอเพื่อน จึงไม่มีเพื่อนๆ ชวนกันกิน แน่นอน พวกน้องๆ ก็จะทานข้าวมาจากที่บ้านบ้าง เอาข้าวจากที่บ้านมาทานกลางวันบ้าง และกลับไปทานข้าวเย็นที่บ้าน (แค่นี้ 4,000 บาทต่อเดือน เอาอยู่แน่นอน)
.
5. กำลังใจ ข้อนี้สำคัญมาก การมีเพื่อนร่วมทดลอง ร่วมเกมท้าทายความสามารถในการรักษาเป้าหมายและทำให้มันสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ โดยเฉพาะเป้าหมายที่เหลือเชื่อขนาดนี้ เพื่อนผมบอก แค่ฟังจำนวนเงินก็ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าร่วมภารกิจแล้ว ครับ ผมเนี่ยแหละ ทำไม่สำเร็จ เพราะต้องไปคอยกินเลี้ยงปลอบเพื่อนบ้าง สังสรรค์บ้าง คนทำงานกับงบเท่านี้ ถือว่าไกลเกินฝันครับ
.
6. ระดับความเป็นไปได้ของเป้าหมาย สำคัญและจำเป็นครับ ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ไกลกว่าความเป็นจริงมากเท่าไร ก็ยิ่งทำได้ยาก เช่น ถ้าคุณดื่ม กินในระดับหลักหมื่นทุกเดือน จะมาลดเหลือ 4,000 บาทนั้น เป็นไปได้ยากครับ เหลือเชื่อ
.
คร่าวๆ ก็น่าจะประมาณนี้ สำหรับวัยเรียน น่าจะทำได้ ไม่ยากมาก แต่อย่างที่บอก ว่าน้องๆ อยู่ในช่วงปิดเทอม หลายคนจึงทำได้สำเร็จ แต่ถ้าสำหรับวัยทำงาน ที่หอบข้าวที่บ้านมาทาน ทำกับข้าวทานเอง ไม่ค่อยไปไหนมาไหนกับเพื่อนๆ ก็อาจจะทำได้ครับ ของอย่างนี้ ต้องลอง
.
.
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
Line@ : @aommoney
Website : www.aomMONEY.com
Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH
กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/