"วิกฤติ Covid-19" อาจทำให้หลายคนต้องเจอกับความยากลำบากทางด้านการเงิน บางคนต้องไปหยิบเงินออมที่มีเพื่อนำมาใช้จ่ายเฉพาะหน้าไปก่อน วันนี้ aomMONEY ขอนำเสนอเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับแนวทางการออมเงินเพื่อเกษียณ โดยผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความรู้ในครั้งนี้ ก็คือ "คุณศิษฏศรี นาคะศิริ" ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเด็นหัวข้อ การออมเพื่อเกษียณภายหลัง Covid-19
วิกฤต Covid-19 ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงภาวะการออมของคนไทยอย่างไร ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : ค่าเฉลี่ยโดยทฤษฎีการออม ควรจะเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 3-6 เดือนของรายจ่ายแต่ละเดือน แต่ในภาวะวิกฤตในลักษณะนี้ ระดับการออมก็จะต้องมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาที่คนไทยออมกันน้อย เพราะมักจะเข้าใจกันว่าเงินจะต้องเหลือใช้ก่อน แล้วค่อยออม ซึ่งโดยหลักของพฤติกรรมคน ถ้าบอกว่าเหลือแล้วค่อยออม ก็มักจะไม่เหลือ
จริง ๆ แล้วการออมเป็นวินัยค่ะ ถ้าเราออมสม่ำเสมอ ผลตอบแทนของการออมจะสะสมไปเรื่อย ๆ เราก็จะเข้าถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น จากตัวเลขบอกว่าถ้าเราออมเร็วขึ้น 10 ปี สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นเท่าตัว
มันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีเงินมากหรือน้อย...
เพียงแต่ว่าขอให้เริ่มเร็วและควรจะรองรับภาวะวิกฤตไว้ด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรืออยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านงาน เงินก้อนนี้ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้
วิกฤต Covid-19 จะทำให้การออมเป็น New Normal ของคนไทยในอนาคต ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : เราน่าจะเห็นกันแล้วว่า ผลของการไม่ออม มันคือความไม่แน่นอนของการงานหรือว่าสิ่งที่จะมากระทบกับรายได้ แล้วเราก็จะเห็นปัญหาในเชิงสังคมทุกวันนี้ เช่น การกระจายรายได้ที่อาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งมีปัญหาอยู่แล้ว พอเกิดวิกฤตแล้วคนที่ออมน้อยหรือรายได้น้อยก็จะเกิดปัญหามากขึ้น หลังจากนี้ก็เชื่อว่าคนจะตื่นตัวในการออมมากขึ้น นี่จะเป็น New Normal ที่เราจะเห็นสิ่งดีๆ ในสังคมไทยค่ะ
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ไหม ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะบริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ เราจะเห็นการลงทุนของเขา 40% ในพันธบัตรหรือเงินฝาก ซึ่งปลอดภัยมาก แล้ว 30% ก็จะซื้อหุ้นกู้บ้าง แต่พอเข้าไปดูนะคะ แม้เหตุการณ์ที่เรียกว่า Default หรือผิดนัด กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทบไม่ลงในของเหล่านี้เลย ประมาณ 0.026 คือน้อยมาก คือ ปลอดภัยมาก ก็เลยไม่ค่อยได้รับผลกระทบในภาวะช่วงนี้เท่าไหร่
.
แต่ทั้งนี้เราก็ควรแบ่งการลงทุนให้หลากหลายด้วยค่ะ เพราะถ้าเราเลือกการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ ก็ต้องยอมรับว่ามันก็จะมีความเสี่ยงอีกแบบ คือ "เกษียณแล้วเงินไม่พอใช้" แล้วตอนนี้ก็มีการคาดการณ์ว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยก็จะยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้หญิง ภาวะวิกฤตอย่างนี้ เรารู้สึกว่ากองทุนสินทรัพย์ปลอดภัย ก็ปลอดภัย แต่เราก็ต้องคิดถึงในเรื่องผลตอบแทนด้วย เพราะเป้าหมายของเราเป็นเรื่องผลตอบแทนเมื่อเกษียณ
.
อยากแนะนำว่าถ้าอายุยังน้อยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงมากนิดหนึ่ง เพราะว่าเรายังมีเวลาอีกนานกว่าจะเกษียณ แล้วค่อยๆ ไปลดสัดส่วนเอาตอนที่ใกล้ๆ เกษียณ ช่วงหนุ่มสาวอาจจะมีสัดส่วนของหุ้นมากหน่อยเพื่อผลตอบแทน
สิทธิประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มากกว่า
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : เครื่องมือที่ใช้รองรับการเกษียณจะมีหลายตัว แต่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจมีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เหนือกว่าตัวอื่น คือ
- เราได้เงินสมทบจากนายจ้างเพิ่ม สมมติว่าเราจ่ายไป 1,000 บาทในแต่ละเดือน นายจ้างจะจ่ายให้อีก 1,000 บาท ถ้าเราเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 20 ปี แล้วเกษียณ 60 ปี สมมติว่าผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ดังนั้นพอเกษียณแล้วเราจะมีเงิน 3 ล้านบาท ถ้าหลังเกษียณต้องอยู่ไปอีก 20 ปี ก็เท่ากับว่าแต่ละเดือนเราจะมีเงินใช้ 12,000 บาท เงินก้อนนี้ก็จะช่วยเราไปได้เยอะ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เหมือนการลงทุนแบบอื่น ตรงที่ตลอดเส้นทางการลงทุนจะไม่โดนหักภาษี แถมช่วยลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลของเราด้วย และเงินก้อนพอเอาออกมาก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน ไม่เหมือนกับการเอาเงินไปฝาก หรือไปซื้อพันธบัตร ที่ดอกเบี้ยเรายังต้องจ่ายภาษี เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้พวกเราพึ่งพิงตัวเอง โดยสะสมเงินออมเพื่อรองรับการเกษียณ
- เงินที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกระบวนการบริหารจัดการจาก บลจ. ซึ่งเป็นมืออาชีพในการบริหารการลงทุน และมีคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาช่วยสอดส่องให้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้แต่ละงวดเขาก็จะมารายงานผลการลงทุน และสรุปภาวะการลงทุนให้เราทราบอีกด้วย
- หากต้องโยกย้ายเปลี่ยนงาน ก็มีความยืดหยุ่นให้เพียงพอที่จะไม่ทำให้เราเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีตรงนั้นไป
ถ้าบางคนเคยส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประจำ แต่ตอนนี้ถูกไล่ออก ควรทำอย่างไร?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : แนะนำอย่างนี้ค่ะ เนื่องจากว่ารัฐบาลให้สิทธิประโยชน์เราในเรื่องภาษี เพื่อการออมระยะยาว ดังนั้นจึงมีเงื่อนไข เราจะได้สิทธิประโยชน์นี้เมื่อเราออมต่อเนื่อง 5 ปี หรือจนถึงอายุ 55 ปี กรณีเกิดวิกฤตอย่าง Covid-19 ถ้าเรายังต้องการสิทธิประโยชน์ตรงนี้ ก็ควรที่จะคงไว้นะคะ มันมีทางเลือกมากมาย คือเราคงเงินไว้กับกองเดิมก่อนก็ได้ แล้วพอเราย้ายงาน นายจ้างใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็ค่อยย้ายไป เงินของเราก็จะต่อเนื่อง ไม่โดนเรื่องการจ่ายภาษี
.
หรืออีกทางหนึ่ง ถ้าเราไม่แน่ชัดว่าเราจะทำงานบริษัทต่อหรือเปล่า เราอยากจะไปทำอาชีพอิสระ ก็ย้ายไป RMF for PVD ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 59 กอง 10 บลจ.ที่ให้บริการตรงนี้ แล้วก็มีทางเลือกในการลงทุนทุกประเภท ก็จะเป็นความต่อเนื่องแล้วก็เป็นวิธีบริหารในเรื่องของภาษีค่ะ แต่อยากฝากสำหรับคนที่จำเป็นต้องนำเงินออกมาใช้ก่อน ถ้าพ้นจากจุดที่ลำบากแล้วก็อยากจะให้เริ่มต้นกลับมาออมใหม่ เพราะว่าเวลาที่เราจะเข้าสู่การเกษียณมันกำลังนับถอยหลังไปเรื่อยๆ
RMF for PVD มีรายละเอียดอย่างไร ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : อันนี้ไม่เหมือน RMF ทั่วไปที่มีเงื่อนไขว่าทุกปีต้องส่งเงินเข้าไป แต่อันนี้รองรับเหตุการณ์แบบนี้ คือขอให้คงเงินไว้ใน PVD เงื่อนไขเท่าเดิม ส่งอย่างน้อย 5 ปี หรือจนถึงอายุ 55 แต่ไม่ต้องส่งเงินทุกๆ งวดเหมือน RMF แค่ต่างไปจาก PVD เดิมตรงที่จะไม่มีนายจ้างช่วยเราเพิ่ม
หมายความว่าเงินก้อนนี้ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ไปเจอกันอีกทีตอนเกษียณเลย ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : ถูกค่ะ แต่ทุกปีก็จะมีคนเกษียณจากกองทุนนี้ประมาณ 20,000 ราย บางคนอาจจะรู้สึกว่าได้เงินก้อนใหญ่มาแล้ว ก็จะนำเงินออกไปทั้งหมดเลย แต่อย่าลืมว่าถ้าเราต้องอยู่จนถึงอายุ 80 ปี การนำเงินทั้งหมดออกมามันก็จะไม่ได้งอกเงย แล้วถ้าไม่ได้มีวินัยที่ดีก็อาจจะใช้หมดก่อน จริง ๆ แนะนำว่าค่อย ๆ ทยอยนำเงินออกไปจะดีกว่า วิธีการก็ไม่ยาก แค่ติดต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วทางบริษัทจัดการก็จะดำเนินเรื่องให้ กลไกการบริหารก็จะดำเนินต่อเนื่องไปเลย
"นโยบายการลงทุน" เราควรดูปัจจัยไหนเป็นหลัก ?
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : หัวใจของการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนอยู่ที่ความเสี่ยงที่เรารับได้ แต่การพูดเป็นอายุ อายุมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใหญ่เหมือนกัน เพราะอายุน้อย ๆ ยังมีเวลาอีกมากในการสะสมเงิน จริง ๆ แล้วถึงเราอายุ 40-50 ปี แต่ถ้ารู้สึกว่าเรามีทางเลือกด้านรายได้มากมาย หรือว่าอาจจะมีฐานะที่มั่งคั่งอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้เหมือนกับทฤษฎีของอายุได้ เช่น อายุมาก แต่ก็ยังลงทุนในสัดส่วนที่เป็นหุ้นมากหน่อย ทั้งหมดนี้อยู่ที่เราเลือก แต่ว่าอายุเนี่ยเป็นคำแนะนำสำหรับคนกลุ่มใหญ่ เพื่อทำให้การลงทุนของเขาง่ายขึ้น
คำแนะนำถึงเด็กรุ่นใหม่เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คุณศิษฏศรี นาคะศิริ : จริง ๆ เรากำหนดการสะสมขั้นต่ำแค่ 2% เท่านั้น แค่เหมือนกับแบ่งบางส่วนมาตรงนี้ด้วย เพราะว่าอยากจะไปลงทุนให้สร้างผลตอบแทนเยอะตามวัย ก็เป็นอะไรที่ถูกต้องแล้ว เพราะเขาจะได้มีประสบการณ์การลงทุน และในที่สุดแล้วทุกคนต้องเจอกับการเกษียณ หรือว่าการที่จะต้องออกจากงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นเหมือนความปลอดภัยในระยะยาว ขอแค่สมัครเพียงครั้งเดียว เริ่มเร็วได้ก็จะยิ่งดีที่สุดค่ะ
และนี่คือบทสัมภาษณ์ "คุณศิษฏศรี นาคะศิริ" ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเด็นหัวข้อ การออมเพื่อเกษียณภายหลัง Covid-19
เป็นอย่างไรกันบ้างกับแนวคิดการออมเพื่อเกษียณภายหลัง Covid-19 หลายคนอาจไม่คาดคิดว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี่ล่ะ ที่จะช่วยให้เรามีเงินก้อนในช่วงบั้นปลายชีวิต
ดังนั้นแล้วเริ่มออมตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายนะครับ
และถ้าเพื่อนๆ อยากชมวีดีโอสัมภาษณ์แบบตัวเต็ม สามารถดูได้ที่วีดีโอด้านล่างนี้เลยครับ
บ.ก.aomMONEY
"การออมเพื่อเกษียณภายหลัง Covid-19"
โดย "คุณศิษฏศรี นาคะศิริ" ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
.
.
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
.
? Website : www.aomMONEY.com
? Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH
? กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/
.
.