ถ้าขี้เกียจอ่านกดดูคลิปด้านบนได้เลยครับ...
สำหรับวันนี้เป็นคำถามที่เข้ามาบ่อยๆ นั่นคือ ขายของออนไลน์... เสียภาษีอะไรบ้าง? โดยคำถามนี้เรียกได้ว่าหนักอกหนักใจพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ เพราะมีความกังวลใจเรื่องภาษี เอาล่ะ มาฟังคำตอบกันดีกว่าจ้า
อันดับแรกตอบให้ได้ก่อนว่า ... ขายของออนไลน์ที่ว่าน่ะ ขายอะไรกันแน่ เพราะมันมีมากมายหลากหลายให้เลือกสรร ถ้าเราตอบได้ว่าขายอะไร มันก็จะง่ายขึ้นครับผม เพราะหลักการคำนวณภาษีบางตัวก็จะแตกต่างกันไป
แต่เอาหลักการก่อนละกัน คืองี้ ภาษีหลักๆสำหรับคนขายของออนไลน์ มันจะมี 2 ตัว คือ ภาษีเงินได้ กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้เสียตามรูปแบบของธุรกิจ นั่นคือ เราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนบริษัทห้างหุ้นส่วนเรียบร้อย อันนี้ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครับกระผม
ถ้าไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร ฟันธงเลยว่า จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะถ้าไม่รู้ตัวว่าเคยจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือเปล่า ก็แปลว่า คุณไม่ได้จดไงครับผม
ทีนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี คือ
วิธีแรก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี และ วิธีที่สอง คือ เงินได้ x 0.5% วิธีนี้คิดเป็นภาษีเลย โดยจะใช้วิธีนี้เมื่อตัวเรามีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นค่อยเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีรายได้จากการขายของออนไลน์ 1 ล้านบาท คำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ก่อนเลย นั่นคือ เอา 1,000,000 x 0.5% = 5,000 บาท เก็บตัวเลขนี้ไว้ในใจ แล้วไปต่อด้วยการคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1 ต่อ
วิธีที่ 1 เราก็เอารายได้ 1,000,000 บาททีว่ามาหักค่าใช้จ่าย ซึ่ง ค่าใช้จ่ายเนี่ยโดยปกติขายของออนไลน์ทั่วไป ซื้อมาขายไปธรรมดา ส่วนใหญ่จะเลือกหักได้ 2 แบบ คือ เหมาไปเลย 60% กับ หักค่าใช้จ่ายจริง เลือกเอาว่าอันไหนมากกว่า คุ้มกว่าเหมาะกับเรา
เราก็ต้องมาคิดว่าถ้าเลือกหักเหมา 60% ของรายได้ 1,000,000 บาท ก็จะได้ค่าใช้จ่าย 600,000 บาท ถ้าหากคิดว่าค่าใช้จ่ายจริงมันมากกว่า 600,000 บาท (เช่น 900,000 บาท) แล้วคิดว่าคุ้มค่ากว่าก็ใช้ค่าใช้จ่ายจริงก็ได้นะ
ทีนี้มาที่ค่าลดหย่อนกันบ้าง โดยปกติถ้าไม่มีค่าลดหย่อนอะไรเลยเราก็จะมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
สมมติว่าเลือกหักเหมา เราจะได้เงินได้สุทธิออกมาจำนวน 1,000,000 - 600,000 - 60,000 = 340,000 บาท ก็เอาตัวนี้มาเทียบในหน้าตารางอัตราภาษีด้านล่างนี้ จะได้ภาษีที่ต้องเสียออกมาจำนวน 11,500 บาท (7,500 + 4,000)
เมื่อเทียบกับ 5,000 บาทที่ได้ตามวิธีที่ 2 เราก็จะเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่านั่นเอง
แต่ถ้าคุณจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน อันนี้คุณจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลละ ซึ่งคุณต้องมีนักบัญชี มีผู้สอบบัญชี มีทำงบการเงิน ส่งให้สรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะคำนวณภาษีจาก กำไรสุทธิ ซึ่งเอาเป็นว่าถ้าเป็นรูปแบบนี้ คุณจะต้องมีบัญชีจัดการให้ และศึกษาเรื่องภาษีธุรกิจเพิ่มเติมเข้าไปครับผม
อันนี้คือหลักการของภาษีเงินได้ นั่นคือ ดูตามรูปแบบของธุรกิจ
ส่วนเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้นจะดูที่รายได้ของเรา ถ้าเรามีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT แล้วนะ โดยเสีย 7% จากยอดรายได้นี่แหละ ซึ่งหลักการสำคัญ ก็คือ ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทเมื่อไรต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันครับผม หลังจากนั้นก็ไปศึกษาเพิ่มเติมกันต่อจ้า
ถ้าอยากได้แบบสรุป ขี้เกียจอ่าน จัดรูปนี้ให้ดูกันครับผม
ถ้าอยากดูเป็นคลิปสอนเรื่องภาษีขายของออนไลน์ พรี่หนอมก็ทำไว้ในยูทูป TAXBugnoms ให้ดูกันฟรีๆ เลยจ้า มีทั้งคลิปสอนคำนวณพร้อมยื่นภาษีปี 2561 แบบนี้ก็ดูได้
หรือถ้าใครอยากรู้แบบชัดเจนถึงแก่น ถึงแนวคิด แนะนำดูคลิปด้านล่างนี้ก็ดีไม่แพ้กัน เพราะว่ามีถึง 5 คลิปสอนหลักการครบจบเรื่องภาษีขายของออนไลน์ในที่เดียวครับผม
สุดท้ายขอฝากไว้ใ้ห้คิดกัน ...
ขายของออนไลน์ = มีรายได้ แปลว่าต้องเสียภาษี ถ้าจะให้ดีทำให้ถูกต้องดีกว่าจะได้สบายใจกันไปยาวๆ ครับผม