"ขายเนื้อสด (สัตว์) ไม่แปรรูป ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไหม?" คำถามนี้ต้องขยายความเพิ่มเติมก่อนว่าเป็นการขายในรูปแบบเนื้อสดบรรจุใส่แพ็คซีนสูญญากาศ โดยมีขายผ่านออนไลน์ให้กับลูกค้า และมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถดูเพิ่มเติมได้ทีคลิปด้านล่างนี้ก่อนครับ



ทีนี้มาถึงคำตอบกันบ้าง เรามักจะได้ยินว่า การขายเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการแปรรูปจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ดังนี้ครับ 

มาตรา 81(1)(ข) การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือด้วยการจัดทำหรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีก หรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้นหรือด้วยวิธีอื่น แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ตามลักษณะ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

อยากให้สังเกตคำว่า อยู่ในสภาพสด หรือ รักษาสภาพไว้มิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่งตรงนี้ ซึ่งถ้ากรณีเนื้อสดบรรจุใส่แพ็คซีนสูญญากาศตรงนี้ เข้าเงื่อนไขที่ว่ามา คือ รักษาความสดเท่านั้น ย่อมถือว่าเป็นสินค้าที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มครับ

แต่หากมีการนำสัตว์ดังกล่าวมา ปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใด รวมถึงแปรสภาพเป็นอาหาร ที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ที่มีการบรรจุอย่างมั่นคง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั่นเองครับ

สำหรับคนที่มีคำถามเรื่องการแปรรูปอาจจะเช็คเพิ่มเติมจาก คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 29/2535 เรื่อง การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ตามมาตรา 81(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 1  การขายสัตว์ไม่มีชีวิต เนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ในราชอาณาจักรในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 

(1) การขายผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ มาจัดทำโดยปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวยังคงลักษณะเป็นเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ที่อยู่ในสภาพสด หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียในระหว่างขนส่ง หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง 

(2) การขายน้ำมันที่สกัดจากสัตว์ ไม่ว่าจะมีสารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันผสมอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุกระป๋องภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง

(3) การขายน้ำนมจากสัตว์ที่ได้นำมาจัดทำหรือปรุงแต่งไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ และไม่ว่าจะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคงหรือไม่แต่ไม่รวมถึงนมสดที่มิได้มีการปรุงแต่ง รสกลิ่น หรือสี

(4) การขายเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม สัตว์ไม่มีชีวิต และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ที่ได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารหรือสินค้าอื่นที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) แล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าอาหารหรือสินค้าอื่นนั้นจะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคงหรือไม่

หรือลองดูแนวคำตอบเพิ่มเติมที่ขยายความไว้ตามข้อหารือที่ กค 0811/พ.4701 นี้ก็ได้ครับ

สินค้าตามมาตรา 81(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นกรณีการขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนมและวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้มิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง แต่การขายสัตว์ดังกล่าวจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีการนำสัตว์ดังกล่าวมาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารจึงหมายถึงอาหารสำหรับคนเท่านั้น

อ้อ ต้องแยกเรื่องให้ดีด้วยนะครับ เพราะกรณีนี้เราคุยกันเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียว ส่วนเรื่องภาษีเงินได้ ต้องเสียอยู่แล้ว โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของการทำธุรกิจครับว่าเป็นบุคคล หรือ นิติบุคคล

สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม