ควรมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อยเท่าไหร่?

  ทำไมเวลาถึงผ่านไปเร็วแบบนี้ เคยรู้สึกไหมว่าเวลาแต่ละปีนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว นี่เดือนสิงหาคมแล้ว ดูเหมือนว่ายังทำอะไรไม่เสร็จสักอย่างก็จะถึงสิ้นปีอีกละ พอถึงปีใหม่ก็ต้องมานั่งคิดละว่าปีนี้เราจะทำอะไรดี เปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้าง หมุนวนแบบนี้ทุกปีๆ เมื่อเวลามันผ่านไปเร็วแบบนี้ การเก็บเงินเพื่อเกษียณก็ควรรีบวางแผน จากความคิดที่ว่าอีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ เดี๋ยวค่อยคิดเรื่องออมเงินก็ได้ ข้อมูลต่อไปนี้อาจจะทำให้เราเปลี่ยนใจแล้วหันกลับมาเริ่มเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่วันนี้ก็ได้   ควรมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อยเท่าไหร่?   จากภาพนี้เป็นอายุเฉลี่ยของคนไทยที่มีอายุยืนขึ้น ซึ่งเราอาจจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญของการวางแผนเกษียณนั้นจะต้องบวกอายุเพิ่มจากอายุเฉลี่ยไปอีก 5-10 ปี เพราะเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ในอนาคตอาจจะทำให้คนอายุยืนมากขึ้นกว่าเดิม คราวนี้เราก็ต้องมาดูที่เงินออมของเราแล้วหละว่าจะมีเพียงพอใช้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ จะใช้คนเดียวหมดหรือส่งต่อให้คนอื่นเป็นมรดก   เมื่อรู้แล้วว่าอนาคตเราอาจจะมีอายุมากขึ้น หลายคนอยากจะรู้ว่า "ควรมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อยเท่าไหร่" ถึงจะพอใช้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  แล้วอายุตอนนี้จะต้องออมเงินเท่าไหร่ เราหาข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในรายงานเกี่ยวกับภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2557 เป็นรายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติในปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า  
"ภายใต้โครงสร้างการบริโภคปี 2554 ผู้สูงอายุจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 2.03 ล้านบาทต่อคน จึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุ 80 ปี"
  หากโครงสร้างการบริโภคเปลี่ยนไปตามทิศทางเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราเก็บเงินที่มากขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด เพราะทุกอย่างล้วนเป็นตัวเลขประมาณการณ์ ณ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพราะอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้าทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ การเริ่มออมเงินทันทีโดยการออมเงินจากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้เพื่อมีเงินออมพื้นฐานทีี่ควรจะมีในวัยเกษียณ และถ้าเราต้องการจะมีเงินใช้มากกว่ามาตรฐานนี้ก็ควรออมให้มากขึ้น เราเก็บเงินไว้เกินกว่าที่จะใช้หมด ยังดีกว่าเงินหมดทั้งที่ยังไม่ตายนะจ๊ะ   จากตารางนี้บอกเราได้ว่าถ้าต้องการมีเงินไว้ใช้ช่วงเกษียณจนถึงอายุ 80 ปี หากเริ่มออมตอนอายุ 30 ปี ไว้กับการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทน 3% จะต้องออม 3,484 บาทต่อเดือน แต่ถ้านำไปออมกับการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนปีละ 5% ก็จะออมเงินในจำนวนที่น้อยลง คือ 2,440 บาทต่อเดือน เราก็ไล่เรียงตามอายุดูจะรู้ว่ายิ่งออมช้าก็จะต้อง ใช้เงินออมมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้     ควรมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อยเท่าไหร่?   หมายเหตุ
  1. เลขอ้างอิงค่าใช้จ่ายในวันเกษียณมาจากรายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติในปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าภายใต้โครงสร้างการบริโภคปี 2554 ผู้สูงอายุจะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 2.03 ล้านบาทต่อคนจึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุ 80 ปี (http://bit.ly/1nAcNqM หน้าที่ 5 )
  2. ใช้อายุ 60 ปีเป็นอายุเกษียณ โดยใช้อัตราผลตอบแทน 3% และ 5%
  3. วิธีกดเครื่องคิดเลข ดังนี้ เริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุ 20 ปี คือ 480N , (3/12) I/Y , 0 PV ,-2,030,000 FV CPT PMT= 2,192.08 หมายความว่า ถ้าออมเงินตั้งแต่อายุ 20 ปี จะออมเงินเดือนละ 2,192.08 ที่อัตราผลตอบแทน 3% เป็นระยะเวลา 480 เดือน จึงจะมีเงินใช้ 2,030,000 บาทที่อายุ 60 – 80 ปี
  ความคิดเห็นเพิ่มเติม  

สร้างกำลังใจในการออมเพื่อเกษียณด้วยเป้าหมายเล็กๆ

หากสำเร็จก็จะทำให้มีพลังบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ

จากสูตรคำนวณต่างๆของการออมเพื่อวัยเกษียณจะมีจำนวนเงินเก็บที่เยอะมาก เช่น ต้องออมเงิน 10 ล้านกว่าบาทถึงจะพอใช้หลังเกษียณ อาจจะทำให้ผู้ออมเกิดความท้อใจเพราะเห็นตัวเลขแล้วเป็นลม และเหน็ดเหนื่อยกับการออมระยะยาว โดยคิดว่าตนเองไม่สามารถเก็บเงินนั้นได้ อาจจะเลื่อนการออมเงินออกไปหรือยกเลิกความคิดที่จะออมเพื่อวัยเกษียณ กำลังใจและวินัยออมเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ลองเปรียบเทียบง่ายๆว่าการออมเงิน 2 ล้านนิดๆกับ 10 ล้าน ใครจะเริ่มออมเร็วกว่ากัน แน่นอนว่าต้องเป็น 2 ล้านเพราะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า หากทำสำเร็จก็จะมีพลังให้ออมเงินได้มากกว่านี้   บทความนี้ต้องการเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าเงินเท่าไหร่ถึงจะอยู่ในมาตรฐานการใช้ชีวิตพอเพียงในวัยเกษียณได้ ซึ่งผู้เขียนพยายามจะเปลี่ยนความคิดจาก "การรับรู้เป็นการกระทำ" ที่จากเดิมรู้ว่าการออมเพื่อเกษียณนั้นสำคัญแต่ยังไม่เริ่มออม ให้เป็นการกระทำว่าต้องเริ่มออมจริงๆด้วยจำนวนเงินที่ไม่ไกลเกินเอื้อม และเชื่อว่าถ้าผู้ออมเห็นดอกผลจากการออมก็จะเป็นการจูงใจให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต   รับรู้ว่าเงินเพื่อเกษียณนั้นสำคัญ ==> ตัวเลขมาตรฐานที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ==> เริ่มต้นออมเงินอย่างจริงจัง ==> เห็นผลตอบแทนจากการออม ==> เป็นกำลังใจให้อยากจะออมเงินมากขึ้น