ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่เก็บจากการบริโภคที่เกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าถ้าใครบริโภคทรัพยากรมาก ก็ต้องเสียภาษีมากนั่นเอง

ในทางทฤษฏี ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่ผลักภาระได้ให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้ชำระแทนได้

สมมุติให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 7 และการซื้อและการขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน….
1. บริษัท A ซื้อวัตถุดิบ มาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) จำนวน 7 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 107 บาท
2. บริษัท A นำไปออกมาผลิตเป็นสินค้าขายให้ผู้บริโภคในราคา 200 บาท ตอนขายไปบริษัท A จะต้องคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) จำนวน 14 บาท
3. บริษัท A ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 14 – 7 = 7 บาท


ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้ขายสินค้า
2. ผู้ให้บริการ
3. ผู้นำเข้า

โดยปกติแล้วจะมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจบางประเภท (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่มาตรา 81 ประมวลรัษฏากร)

สำหรับคนทำธุรกิจนั้น ให้จำไว้เพียงว่า หากคุณมีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และกิจการของคุณไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณมีหน้าที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย

และอีกข้อที่ควรรู้คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล คุณมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งคู่ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน หากเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับคนทำธุรกิจ คุณยังต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อน ถึงจะเริ่มเสียภาษีได้ โดยยึดตามฐานรายได้ที่กฎหมายกำหนด นั่นคือ 1.8 ล้านบาท


สำหรับคนทำธุรกิจ วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

ภาษีขาย คือ ภาษีที่เราเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
ภาษีซื้อ คือ ภาษีที่เราจ่ายให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ

ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เจ้าของธุรกิจมีหน้าที่ต้องคำนวณทุกเดือน หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ก็จ่ายให้กรมสรรพากร หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ก็สามารถยกยอดไปได้ในเดือนต่อไป หรือขอคืนได้ในแต่ละเดือน


ถ้าเอาแบบเข้าใจง่ายๆ ปัจจุบันอยู่ที่ 7% แต่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจริงๆ อยู่ที่ 10%

ถ้าเอาแบบซับซ้อน ภาษีมูลค่าเพิ่มจริงๆ คือ 6.3% และ เรายังต้องเสียอัตราภาษีท้องถิ่นอีก 1/9 ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 0.7% สรุป เราเสีย VAT 7% นั่นแหละ

แต่พิเศษสำหรับผู้ที่ส่งออกสินค้าหรือบริการไปนอกประเทศ คุณจะเสียภาษีในอัตรา 0% ซึ่งฟังเผินๆเหมือนกับไม่เสียภาษี แต่ข้อดีคือคุณสามารถขอคืนภาษีซื้อที่คุณจ่ายไปได้เต็มจำนวน


ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นเป็นรายเดือน คำนวณยอดทุกเดือนมาเพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนทำธุรกิจปกติใช้กันคือ แบบ ภ.พ.30 เวลายื่นคุณกรอกข้อมูลต่างๆ ไปแต่ไม่ต้องแนบเอกสารประกอ

นอกจากยื่นแล้ว คุณยังต้องนำรายงานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ได้แก่

1. รายงานภาษีซื้อ
2. รายงานภาษีขาย
3. รายงานสินค้าและวัตถุดิบ (ถ้ามี)


ติดตามความรู้เรื่องภาษีสำหรับคนทำธุรกิจได้ที่แฟนเพจ พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ หรือกดเพิ่มเพื่อนได้ที่ Line @BizTaxThai หรือคลิกที่ลิงค์
https://line.me/ti/p/@biztaxthai ครับ

#ภาษีมูลค่าเพิ่ม
#ภาษีสำหรับเจ้าของธุรกิจ
#พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ