
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของนิติบุคคล ซ่ึึ่งมีมากมายหลายประเภทที่กฎหมายกำหนด แต่เราจะคุ้นเคยกันกับชื่อของบริษัท และ ห้างหุ้นส่วนเป็นหลัก
สำหรับคนทำธุรกิจถ้าคุณจดทะเบียนนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างฯ) มีเลขทะเบียนนิติบุคคล แปลว่าคุณเป็นนิติบุคคล และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเอง

เอาจริงๆ แล้ว บุคคล ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกำหนดไว้อยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่
• บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
• บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่เข้ามากระทำการในไทย หรือมีรายได้จากประเทศไทย
• กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดยองค์กรต่างประเทศ หรือรัฐบาลต่างประเทศ
• กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
• มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้
• นิติบุคคลอื่น เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลมี 4 วิธี นั่นคือ
• กำไรสุทธิ (มาตรา 65)
• รายได้ก่อนหักรายจ่าย (มาตรา 67)
• เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย (มาตรา 70)
• จำหน่ายกำไรออกนอกประเทศไทย (มาตรา 70 ทวิ)
----
สำหรับคนทำธุรกิจ จะใช้วิธีคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษีของกิจการ
ปกติเราจะคุ้นเคยกับคำว่า กำไร นั้นมาจากรายได้ - ค่าใช้จ่าย แต่กำไรสุทธิทางภาษีนั้นจะมีการปรับปรุงจากกำไรทางบัญชีตามปกติดังนี้ครับ
กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี = กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ + รายจ่ายต้องห้าม – รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น – รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น
โดยรายการปรับปรุงแต่ละตัวมีความหมายดังนี้ครับ...
1) รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี คือ รายได้ที่ทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้แต่ต้องถือเป็นรายได้ทางภาษี
2) รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น คือ รายได้ที่ทางบัญชีถือเป็นรายได้ แต่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
3) รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางหลักภาษี
4) รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น คือ รายจ่ายที่ทางภาษีกำหนดให้หักเป็นรายจ่ายได้มากกว่าหลักการบัญชี

อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 20% แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมอย่าง SMEs จะได้รับสิทธิยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายที่ออกมา
ปัจจุบัน ธุรกิจ SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทและทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได่รับสิทธิยกเว้นกำไร 3 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษี ส่วนกำไรส่วนที่เกินนั้นจะมีเงื่อนไขการเสียภาษีที่แตกต่างกันไป (ตรงนี้จะมีการอัพเดทให้ฟังกันในอนาคตอีกทีครับ)

เหมือนกันกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับคนทำธุรกิจนั้นต้องยื่นปีละ 2 ครั้ง นั่นคือ ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) กับภาษีเต็มปีหรือเต็มรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.50)
ปกติรอบบัญชีของธุรกิจจะอยู่ที่ 1 ปี เริ่มต้น 1 มกราคม - 31 ธันวาคมของทุกปี แต่ก็อาจจะมีรอบบัญชีอื่นๆได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของธุรกิจนั้นๆ
แต่จำไว้ว่าภาษีเต็มปี ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ส่วนภาษีครึ่งปีให้ยื่นภายใน 2 เดือนของวันครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีครับ (ถ้ายื่นผ่านอินเตอร์เน็ตก็บวกไปอีก 8 วันจ้า)
เช่นรอบปกติ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม มักจะยื่นภาษีครึ่งปี ภายใน 31 สิงหาคมของทุกปี และยื่นภาษีเต็มปีภายในวันที่ 29-30 พฤษภาคมของปีถัดไป (ขึ้นอยู่กับปีไหนมีเดือนกุมภาพันธ์ 29 วันนั่นเอง)
ติดตามความรู้เรื่องภาษีสำหรับคนทำธุรกิจได้ที่แฟนเพจ พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ หรือกดเพิ่มเพื่อนได้ที่ Line @BizTaxThai หรือคลิกที่ลิงค์
https://line.me/ti/p/@biztaxthai
#ภาษีเงินได้นิติบุคคล
#ภาษีสำหรับเจ้าของธุรกิจ
#พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ