วันนี้ผมจะขอมาพูดเรื่องการเงินแบบรวมๆนะครับ (ทั้งเรื่องลงทุน และเรื่องประกัน) ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุนแล้ว แทบทุกคนก็คงจะนึกถึงเรื่อง "ผลตอบแทน" เป็นหลัก เวลาลงทุนในหุ้น หรือจะซื้อกองทุนไหนซักกอง ก็มักจะดูและเปรียบเทียบกับจากผลตอบแทนระยะสั้น ระยะยาว ถ้ากองทุนไหนผลตอบแทนโดยรวมสูงกว่า เราก็มักจะเลือกกองนั้น (ถ้าเป็นหุ้น ก็อาจจะศึกษางบการเงิน ศึกษาธุรกิจ ดูข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบ ทั้งหมดนั้น ก็คือมุ่งไปที่ผลลัพธ์คือการได้ผลตอบแทนที่ดี)

(อันนี้พูดถึงคนที่ยังรู้จักเลือกเองนะครับ ไม่นับบางคนที่ถึงขนาดลงทุนจากการฟังๆ ตามๆที่เขาแนะนำมา เพื่อนเลือกกองไหนก็ลงทุนตามตัวนั้นแหละ ไม่เคยดูข้อมูลอะไรเองด้วยซ้ำ ซึ่งคิดว่าคงมีอีกเยอะ)

เช่นเดียวกับด้านของประกัน ทุกวันนี้ถามว่าคนส่วนใหญ่ซื้อประกันชีวิตเพราะอะไร? ถ้าให้ลองไปถามคนทั่วไปดู ผมว่า 80% ขึ้นไปจะตอบว่าซื้อเพราะ "เอาไว้ลดหย่อนภาษี" และถ้าถามต่อว่า ซื้อแบบไหน? ก็น่าจะเป็นประเภท "สะสมทรัพย์" (และก็ชอบซื้อที่แบบออมสั้นๆ) เพราะจะได้มีเงินคืน ได้เงินก้อนใหญ่เมื่อครบสัญญา ซึ่งมันก็หนีไม่พ้นเรื่องของการหวังผลตอบแทนอยู่ดีนั่นแหละ (ภาษีที่ได้ลดหย่อนคืน, เงินคืน, เงินครบสัญญา)

ที่เป็นแบบนี้ ก็มีอยู่ 2 อย่างนั่นแหละครับ คือถ้า 1) ไม่เข้าใจเรื่อง "ความเสี่ยง" จริงๆแล้ว ก็ 2) มองโลกในแง่ดีเกินไป  (สำหรับการลงทุน ผมว่าหลักๆมาจากข้อที่ 1) ส่วนเรื่องทำประกัน ผมคิดว่ามาจากข้อ 2) เป็นหลัก)

รู้ไหมครับ ว่าทำไมคนกว่า 90% ถึงไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการลงทุน? เพราะเขาเลือกกองทุนผิด ไปเลือกกองทุนที่ไม่ดี หรือเลือกหุ้นผิดตัวอย่างนั้นเหรอ? หรือเป็นเพราะว่าลงทุนผิดจังหวะ ดันไปลงทุนตอนราคาแพง ทำให้ติดดอย? ถ้าจะมีส่วน ก็คงมีส่วนไม่มาก (เพราะคงไม่มีใครเลือกผิด หรือลงทุนผิดจังหวะไปซะทุกตัว ทุกเวลา) แต่สาเหตุหลักๆเลยคือ เพราะเขา "ทนอยู่" กับสภาวะการขาดทุนที่เกิดขึ้น ไม่ได้ต่างหาก

ความสำเร็จในการลงทุน ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนนั่นแหละครับ มันต้องอาศัยเวลา (ใครคิดจะมาหวังรวยทางลัดด้วยการเล่นหุ้น คงไม่ต่างอะไรกับการเข้าบ่อนการพนัน) และเมื่อต้องใช้เวลา ในการลงทุนจึงจำเป็นต้องมี "วินัย" ลงทุนให้ได้สม่ำเสมอ หรือไม่ก็ต้องทำตามกลยุทธ์ ทำตามหลักการ ตามแผนการลงทุนที่เราวางไว้ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือล้มเลิกกลางคัน แต่ก็มีอยู่น้อยคนนักที่จะทำได้ ก็เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจถึงเรื่อง "ความเสี่ยง" จากการลงทุนนี่แหละครับ

พอลงทุน ก็คิดว่าถ้าเลือกลงทุนในตัวที่ดี ในจังหวะที่ถูกต้องแล้ว จะทำให้ได้กำไรงามๆ แค่นี้เอง จนอาจจะลืมไปว่า ไม่มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนไหน ไม่เคยผ่านช่วงที่ต้องรับกับสภาวะการขาดทุนหนักๆ หรือไม่ก็คิดไปเองว่าขาดทุนแค่นั้น "น่าจะรับไหว" (เข้าข่ายมองโลกในแง่ดีเกินไปเช่นกัน) แต่พอถึงเวลาที่ต้องขาดทุนหนักๆจริงๆแล้ว ก็เริ่มสูญเสียเหตุผล ละทิ้งหลักการ เกิดความกลัว ความวิตกกังวลเข้ามา จนต้องซื้อๆขายๆอยู่บ่อยครั้ง หรือไม่ก็เข็ดขยาดกับการลงทุนไปเลย ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างที่ตั้งใจ  

ในการลงทุน เราจึงต้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการลงทุน ต้องรู้จักตัวเองว่า ความรู้ความสามารถเรามีอยู่แค่ไหน? เรารับไหวแค่ไหน? อย่าอวดดี อวดเก่ง หรือมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะสุดท้ายถ้าเราทำอะไรที่เราไม่รู้จริง เราก็มักจะเจ็บตัวกลับไป การลงทุนให้สำเร็จจึงต้องเข้าใจเรื่องของความเสี่ยงให้มากๆ ทั้งการอ่านค่าความเสี่ยงให้เป็น (Standard Deviation, Sharpe Ratio, CV (ที่ไว้วัดความคุ้มค่าของความเสี่ยง) ฯลฯ), การบริหารจัดการความเสี่ยง (Asset Allocation, การจัดพอร์ตการลงทุน, การใช้ Derivative ในการทำ Portfolio Insurance) และรู้ข้อจำกัดของตัวเอง ว่าเรารับความเสี่ยงและความผันผวนได้แค่ไหนด้วย การรู้แค่ว่าหุ้นตัวนี้ดี กองทุนตัวนี้ผลตอบแทนสูง หรือซื้อ-ขายตอนนี้เหมาะสมแล้ว ไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนจริงๆอย่างยั่งยืนได้หรอกครับ

เช่นเดียวกับในเรื่องของการทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ ที่เรามักจะทำเพราะแต่เรื่องของผลตอบแทนเป็นหลัก น้อยคนมากที่จะทำด้วยความเข้าใจหัวใจของการทำประกัน ว่าเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง หรือการยอมเสียเงินจำนวนน้อย เพื่อปกป้องเงินจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า "ตัวเองไม่มีความเสี่ยง" หรือ "โอกาสที่จะเกิดน้อย" ดันเข้าใจไปเองว่า ประกันมีไว้ทำสำหรับคนที่ "มีความเสี่ยงสูง" (เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยแข็งแรง มีโรคประจำตัว หรือญาติ พ่อแม่พี่น้องมีโรคประจำตัว) ส่วนคนที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นตัวเอง (คิดเอาเอง) ไม่จำเป็นต้องทำประกันหรอก เพราะทำไปก็คงไม่ค่อยได้ใช้ "ไม่คุ้ม" กับค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป (ถ้าคุ้มคือต้องนอนโรงพยาบาลบ่อยๆ หรือต้องเสียชีวิต ถามจริงๆเถอะครับว่าอยากให้คุ้มแบบนี้หรือ?)

แต่ในความเป็นจริง ความน่ากลัวของการเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือเรื่องร้ายแรง (เช่นประสบอุบัติเหตุหนักๆ หรือเป็นโรคร้ายแรงโดยไม่คาดคิดมาก่อน) ไม่ใช่ว่ามันมีโอกาสเกิดบ่อยอยู่แล้วล่ะครับ แต่เป็นการที่มันเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเกิดขึ้นทีแล้วจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงให้เราหรือคนรอบข้างต่างหาก (เช่น โอกาส 1 ใน 1,000 แต่ถ้าเกิดขึ้นทีก็ทำให้หมดตัวได้เลย เป็นต้น)

ดังนั้น การทำประกัน จึงมีไว้สำหรับคนที่ "มีความเสี่ยงต่ำ" โอกาสเกิดเหตุร้ายน้อย แต่ถ้าเกิดแล้วจะมีความเสียหายมาก จึงต้องใช้วิธี จ่ายเงินจำนวนน้อย เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยง เสมือนว่าว่าจ้างให้คนอื่น(บริษัทประกัน) มารับความเสี่ยงแทนเรา นั่นเอง 

นี่แหละครับ คือหัวใจ หรือหลักการของการทำประกันเพื่อคุ้มครองและจัดการกับความเสี่ยง 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน หรือการทำประกัน หรือแม้แต่การเก็บเงิน ออมเงิน (การมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉิน เช่น ตกงาน หรือไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น) ก็หนีไม่พ้นการทำความเข้าใจเรื่อง "ความเสี่ยง" ทั้งนั้น เรื่อ&#x

วางแผนการเงินกับ Insuranger

วางแผนการเงินกับ Insuranger

GURU aomMONEY ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินและประกันทุกประเภท

Related Story