คุณมี "เงินเก็บ" ฉุกเฉิน
มากพอแล้วหรือยัง??
บางช่วงของชีวิตที่โชคชะตามักจะเล่นตลกกับเรา เวลาที่ดวงขึ้นทำอะไรก็ดีไปเกือบทุกอย่าง หยิบจับอะไรก็กลายเป็นเงินเป็นทองไปหมด โอกาสที่ดีหลายอย่างก็เข้ามาจนแทบรับไม่ไหว บางครั้งดังเป็นพลุแตกชั่วข้ามคืน ถ้าเปรียบชีวิตช่วงนี้เป็นหุ้น ช่วงที่ดวงดีเวอร์ๆแบบนี้ก็จะเป็น “หุ้นไร้แนวต้าน” ที่ตั้งหน้าตั้งตาขึ้นอย่างเดียว
แต่อย่าลืมว่าหุ้นมีขึ้นก็ต้องมีลงที่บางครั้งอาจจะไร้แนวรับก็ได้ บางช่วงเวลาที่ชีวิตเราเจอมรสุมใหญ่ จะทำอะไรก็ติดขัดไปซะทุกอย่าง เหมือนฟ้ากลั่นแกล้งให้เราท้อแท้จนแทบขาดใจตาย นับเป็นช่วงโปรโมชั่นความโชคร้ายที่ไม่มีใครอยากจะได้รับ
แต่มันเกิดขึ้นแล้วจะทำยังไงดีหละ? ช่วงเวลาเลวร้ายแบบนั้นเราก็เคยเจอมาครั้งหนึ่ง แต่ก็รอดมาได้เพราะปรับแนวคิดต้อนรับความซวยเหล่านั้น เราคิดท้าทายความซวยด้วยแนวคิดที่ว่า “ซวยให้สะใจ” เพราะอะไรจะเกิดก็ปล่อยมันไป เราห้ามมันไม่ได้ เราทำใจต้อนรับมันด้วยความใจเย็น ค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละนิดจนหลุดจากสิ่งนั้นมาได้
หากเจอวิกฤตชีวิตสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำใจ คิดซะว่าเป็นช่วงฝึกจิตใจให้แข็งแกร่ง ยิ่งยากจะยิ่งแกร่ง หลังจากนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องเงิน ซึ่งทุกวิกฤตก็มันจะมี “เงิน” เป็นตัวละครเอกเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้น เช่น
- ตกงาน – ไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบัตรเครดิต อาจจะถูกยึดรถยนต์ ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จนทำให้เครียด ไม่มีจิตใจทำงาน บางคนมีครอบครัวก็ไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ
- โรคร้ายแรงกะทันหัน – โรคบางอย่างไม่มีสัญญาณบอกว่าจะเกิดขึ้น ล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลถึงจะยอมตรวจว่าเป็นอะไร เช่น โรคมะเร็งที่ส่วนใหญ่จะเจอในระยะ 3-4 หรือโรคอื่นๆที่ต้องใช้เงินค่ารักษามหาศาล
- อุบัติเหตุ – เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครดาดเดาได้ แต่พอเกิดขึ้นแล้วก็สร้างความเสียหายเกินกว่าจะรับไหว เช่น อุบัติเหตุรถชน อาจจะทำให้คนในครอบครัว ทรัพย์สินเสียหาย บางครั้งอาจจะต้องรับผิดชอบครอบครัวของคู่กรณีที่พิการหรืออาจจะเสียชีวิต
ปัญหาต่างๆเหล่านี้เรามักได้ยินจากเพื่อนหรืออ่านเจอในกระทู้ ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะไม่ใส่ใจเพราะเป็นปัญหาของคนอื่น แต่เคยคิดไหมว่าเราอาจจะเจอปัญหาเหล่านั้นบ้างเข้าสักวัน ถ้าเกิดเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในชีวิตจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร
“เรื่องเงิน”
อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา
ถ้าวันนี้เราสามารถเตรียมพร้อมได้
หากต้องการให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้เบาลง เราควรเตรียมความพร้อมไว้ ณ ตั้งแต่วันนี้ด้วยการ “เตรียมเงินฉุกเฉิน” ให้พร้อมรับกับสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้น แม้ว่าอาจจะไม่ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังดีกว่าไม่เตรียมอะไรไว้เลย
ควรเตรียมเงินฉุกเฉินไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่าย
ตัวอย่าง เราใช้เงินวันละ 200 บาท
- ถ้าคิดเป็น 1 เดือนก็จะ 200 X 30 วัน คือ 6,000 บาท
- เก็บไว้ 6 เท่า คือ 6,000 x 6 = 36,000 บาท
ควรเข้าใจเบื้องต้นว่าเงินเก็บฉุกเฉินไม่ใช่เงินเย็น แต่เป็นเงินที่ต้องพร้อมใช้ตลอดเวลา หากต้องการใช้สามารถถอนออกมาได้ทันที ใช้เวลาถอนไม่นานและเงินต้นไม่หาย
จากประสบการณ์ตรงที่ทำผิดพลาดจากการออมเงินฉุกเฉินไว้ในสินทรัพย์การลงทุน ช่วงที่นักวิเคราะห์บอกว่าทองคำจะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เงินน้อยๆทยอยสะสมทองคำ เราเปิดใช้บริหารโปรแกรมออมทอง โดยออมต่อเนื่องทุกเดือนๆละ 2,000 บาท
มีช่วงหนึ่งต้องรีบใช้เงินก็ต้องขายทองที่ออมไว้เพื่อนำมาใช้จ่าย บังเอิญทองคำราคาไหลลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขายขาดทุน (เงินต้นหาย) หลังจากนั้นเราก็คิดได้ว่าควรนำเงินที่ใช้หมุนเวียนระยะสั้นเก็บไว้ในแหล่งเก็บเงินระยะสั้น
ตัวอย่างการเลือกสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อเก็บเงินฉุกเฉิน
- บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป – ได้ดอกเบี้ยน้อย ถอนได้ทุกเวลา
- บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง – ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ละธนาคารมีเงื่อนไขการถอนออกแตกต่างกัน
- กองทุนรวมตลาดเงิน – ได้ผลตอบแทนประมาณ 1 - 2% ต่อปี ขายหน่วยลงทุนวันนี้ได้เงินวันรุ่งขึ้น