ทำไมไม่มีรายการค่าลดหย่อน 100,000 บาท? สรุปรายการลดหย่อนภาษีที่ให้มาผิดหรือเปล่า?

ผมจะพบคำถามนี้บ่อย ๆ ทุกครั้งที่โพสสรุป "ค่าลดหย่อน" ลงไปที่เพจ TAXBugnoms ซึ่งคำตอบเรื่องนี้ง่ายมากครับ มันเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างคำว่า "ค่าใช้จ่าย" และ "ค่าลดหย่อน

ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ค่าใช้จ่าย ต่างจาก ค่าลดหย่อน อย่างไร ถ้าให้สรุปแบบสั้น ๆ ผมคงจะบอกว่า ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ โดยกฎหมายกำหนดให้เงินได้ทั้ง 8 ประเภท หักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน

ส่วน ค่าลดหย่อน นั้นขึ้นอยู่กับรายบุคคลที่ใช้สิทธิ ซึ่งกฎหมาย (อาจ) จะให้สิทธิลดหย่อนภาษีใหม่ๆขึ้นอยู๋กับเงื่อนไข และมาตรการภาษีต่างๆในแต่ละปี

โดยความเข้าใจผิดเกิดขึ้นบ่อย คือ คนมักจะเข้าใจว่า ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท เป้นรายการลดหย่อนภาษี แต่จริง ๆ ไม่ใช่ครับ เพราะ 100,000 บาทที่ว่า มันคือรายการค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน)

ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง มีรายได้จากการทำงาน โดยเงินได้ที่เขามีถือว่าเป็นประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า เงินได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 50% ของเงินได้ไม่เกิน 100,000 บาท

มาตรา42 ทวิ เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา ๔๐ (๑) และ (๒) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ ๕๐ แต่รวมกันต้องไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

แต่คนๆนั้นสามารถหักลดหย่อนได้ตามสิทธิที่มี ซึ่งถ้าหากเขาไม่วางแผนภาษี เขาจะหักได้แค่ ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท

มาตรา 47 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกต่อไปนี้
    (1) ลดหย่อนให้สำหรับ
         (ก) ผู้มีเงินได้ ๖๐,๐๐๐ บาท

ดังนั้นสรุปได้ว่า ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท คือ ตัวที่มีความสัมพันธ์กับเงินได้ประเภทที่ 1 ดังนั้นถ้ามีรายได้ประเภทอื่น ย่อมจะใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป โดยใครมีรายได้ประเภทไหน
ก็ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายประเภทนั้น

ส่วนค่าลดหย่อนก็ใช้ตามเงื่อนไขของมัน ถ้าไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติม เราจะหักได้แค่ค่าลดหย่อนส่วนตัวสำหรับผู้มีเงินได้จำนวน 60,000 บาทเท่านั้นครับ

สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม