ตามข้อมูลของ Bloomberg ค่าเงินบาทช่วงนี้ แข็งค่ามากกว่า 8.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แข็งมากที่สุดในโลก
แข็งจนต้องร้องขอชีวิต
แข็งจนแบงค์ชาติต้องออกมาตรการเพื่อไม่ให้มันแข็งกว่านี้
หลายๆคนแลกเงินไปเที่ยวต่างประเทศกันรัวๆ
แต่หลายๆคนสงสัยว่า ค่าเงินบาทไทย ทำไมถึงแข็งจัง
คำตอบก็คือ เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ มันมากกว่าเงินที่ไหลออกไปนั่นเองค่ะ
ซึ่งเราดูได้จาก 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้จากการส่งออกมากกว่ารายจ่ายจากการนำเข้ามั้ย รายได้ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในบ้านเรามีมากกว่ารายจ่ายที่ออกไปมั้ย เงินโอนที่โอนเข้ามาในประเทศมีมากกว่าที่โอนออกไปมั้ย ทั้งหมดนี้ เราดูได้จาก ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในปี 2561 เกินดุลมากถึง 8% ของจีดีพี หรือ 8% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศเลยทีเดียว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย
อ้าว แต่ปีนี้ส่งออกครึ่งปีแรกก็ติดลบ ท่องเที่ยวก็สู้ปีที่แล้วไม่ได้ ทำไมเงินบาทแข็งเอาๆกว่าเงินสกุลอื่นๆล่ะ
คำตอบอยู่ที่ส่วนที่ 2 นั่นคือ เงินที่นักลงทุนนำเข้ามาในบ้านเรานั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล
แล้วทำไมนักลงทุนถึงเลือกนำเงินเข้ามาที่ไทย ปิ่นมองว่าสาเหตุสำคัญมีดังนี้ค่ะ
- ช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนกังวลกับเศรษฐกิจโลก ทั้งตัวเลขการค้าที่แย่ที่สุดนับแต่ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งการลงทุนโดยรวมของโลกที่อยู่ในช่วงขาลง แถมมีเรื่องสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างไปสู่ประเทศอื่นๆด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ที่ส่งออกวัตถุดิบให้จีน เช่น เกาหลีและไต้หวัน นอกจากนี้ ยุโรปก็เจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีประเด็น Brexit อีกต่างหาก พูดง่ายๆคือ หลายๆที่ในโลกตอนนี้กำลังมีปัญหาของตัวเอง
- ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจเราจะชะลอลง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของเรานับว่าปลอดภัยและมีเสถียรภาพมากขึ้นเยอะเมื่อเที่ยบกับตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง ดูจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และหนี้สาธารณะที่อยู่แค่ 42% ของจีดีพี ต่ำกว่าหลายๆประเทศ ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เศรษฐกิจบ้านเราแย่แค่ไหน แต่ประเทศก็ยังมีเงินที่สะสมไว้เยอะและโอกาสที่รัฐบาลจะถังแตกก็มีน้อย
นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไทยเลยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย หรือ safe haven แห่งหนึ่ง ที่นักลงทุนเอาเงินมาพักไว้
ยิ่งช่วงนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และธนาคารกลางยุโรปหรือ อีซีบี ได้คงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณว่า ถ้าเศรษฐกิจยุโรปไม่ดีขึ้น ก็พร้อมที่จะ “ใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” ซึ่งอาจหมายถึงการลดดอกเบี้ยในช่วงต่อไป แม้กระทั่งการทำ QE หรือการซื้อพันธบัตรเพิ่มและปล่อยเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คล้ายๆกับที่เคยทำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเมื่อ 10 ปีก่อน ทั้งหมดนี้ อาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วยก็ได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ จึงออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น 2 มาตรการ คือ
- ลดยอดบัญชีที่ต่างชาติถือเงินฝากสกุลบาทจากเดิม 300 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 200 ล้านบาท
- ให้รายงานข้อมูลที่ต่างชาติถือตราสารหนี้ไทย ว่าใครคือผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง
เพื่อดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้จากการเก็งกำไรค่าเงิน
สุดท้ายนี้ เงินบาทจะแข็งค่าต่อไปอีกนานแค่ไหน คงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่คงตอบได้ว่า คงจะแข็งค่าไปอีกซักพัก ตราบใดที่ไทยยังถูกเลือกให้เป็นที่พักเงินของนักลงทุนต่างชาติค่ะ
บทความอ้างอิง
https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/ForeignExchangeRegulations/Pages/default.aspx