สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ TAXBugnoms และคอลัมน์ภาษีธุรกิจกันอีกแล้วครับ หลังจากที่จบกันไปในตอนที่แล้วกับ จะจดบริษัททั้งที จะทำยังไงให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด? (ตอนที่ 1) ผมว่าเราได้รู้ข้อมูลเบื้องต้น หลังจากที่ตัดสินใจจดนิติบุคคล (บริษัทฯหรือห้างหุ้นส่วน) ทั้งในเรื่องของการวางแผนค่าใช้จ่ายก่อนจดบริษัทรวมถึงค่าทำบัญชีต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว ทีนี้มันก็มาที่ขั้นตอนต่อไปครับว่า หลังจากจดแล้วจะประหยัดภาษีได้ยังไงต่อล่ะเนี่ย?

 

หากใครคุ้นเคยกับบทความในคอลัมน์นี้ คงจะได้อ่านบทความต่างๆที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ไปแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นบทความ ทำไมธุรกิจขาดทุนถึงยังต้องเสียภาษี นี่คือเหตุผลที่คุณต้องอึ้ง!! หรือ พี่ครับ! ผมเป็น SMEs แล้วมันประหยัดภาษีตรงไหนนนนน? คิดว่าคงจะเข้าใจว่าหลักการคำนวณภาษีของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร

 

ทีนี้ประเด็นสำคัญที่อยากจะเพิ่มเติมให้สำหรับการประหยัดภาษี นั่นคือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีบางรายการที่น่าสนใจ ที่เป็นมาตรการกระตุ้นเรื่องการลงทุนหรือการใช้จ่ายจากทางภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจสามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีรายการสำคัญๆดังต่อไปนี้ครับ

 

1.รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างให้ปฎิบัติงานด้านบัญชี (2 เท่า) หรือพูดสั้นๆง่ายคือ ค่าจ้างทำบัญชีที่จ่ายให้นักเรียนหรือนักศึกษาโดยมีหลักเกณฑ์ว่า ต้องเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินซึ่งไม่เกิน 200 และค่าจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน และต้องจ่ายค่าจ้างในการทำงานให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในแผนกหรือสาขาวิชาบัญชี จะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2561 ครับ

สรุปสั้นๆให้อีกที นั่นคือ จ่ายค่าทำบัญชีให้นักศึกษาหรือนักเรียนที่เรียนอยู่ในสาขาหรือวิชาบัญชีจะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าครับผม

อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 607) พ.ศ. 2559

 

2.รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (3 เท่า) กรณีจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสามารถลงเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3 เท่า โดยต้องเป็นการจ่ายในระหว่าง 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ครับ แต่ตรงนี้จะต้องตรวจสอบกับการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของเดิมก่อนด้วยนะครับ (ไว้ผมจะเขียนบทความอธิบายเรื่องนี้ให้อีกทีหนึ่งครับ ฝากติดตามกดไลค์ที่เพจ ภาษีธุรกิจ ด้วยครับ)

อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559

 

3.รายจ่ายอบรมพนักงาน (2 เท่า) อีกหนึ่งรายจ่ายที่ควบคู่กับกิจการของเรา คือ รายจ่ายในการอบรมพนักงานครับ แต่ต้องเป็นการอบรม 2 ประเภทครับ คือ Public Training และ In House Training ซึ่งเงื่อนไขแต่ละอย่างจะเป็นดังต่อไปนี้ครับ

- Public Training คือ การอบรมภายนอกที่เป็นไปตามเงื่อนไขสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานที่กระทรวงการคลังกำหนด

- In House Training คือ การอบรมภายในที่กิจการจัดขึ้นมาเอง เพื่อพัฒนาฝีมือโดยได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงานครับ ซึ่งตรงนี้รวมถึงรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งต่างๆที่เกี่ยวกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่นายจ้าง รวมถึงค่านำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาด้วยครับ

อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548

 

4.รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน เป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก ทำให้ดีขึ้นของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับกิจการ แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมคงสภาพเดิม สำหรับสินทรัพย์ซึ่งได้แก่ เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ และอาคารถาวรต่างๆ โดยต้องไม่เคยผ่านการใช้งาน ต้องหักค่าเสื่อมราคาได้ และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านอื่นๆ ซึ่งต้องเกิดจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 – 31 ธันวาคม 2559 ครับ (สำหรับรายละเอียดพร้อมตัวอย่างนั้น ติดตามกันในบทความต่อไปครับ)

อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

 

และทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่อยากแนะนำให้ใช้เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นครับ ซึ่งตรงนี้สิ่งที่อยากจะเตือนให้ระวังไว้ คือ การใช้สิทธิประโยชน์นั้นต้องตรวจสอบเงื่อนไขให้ถูกต้องครับ มิฉะนั้นค่าใช้จ่ายที่หักเกินไปแบบนี้ จะทำให้เรามีปัญหาได้ครับ

 

สุดท้ายนี้บทความในส่วนของการหารายจ่ายที่หักได้เพิ่มก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในบทความต่อไปจะเป็นตอนสุดท้ายที่จะสรุปภาพรวมให้แล้วครับว่า จะทำอย่างไรให้ประหยัดภาษีมากที่สุด อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับว่าตอนสุดท้ายจะเป็นยังไง แล้วพบกันคร้าบ

 

%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a9%e0%b8%b1%e0%b8%97%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b5-%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%a2%e0%b8%b1