จัดการลงทุนส่วนตัวแบบนักลงทุนสถาบัน
ต้อนรับควันหลงสงกรานต์ยามสิ้นเดือนเมษา ..
วันนี้ผมเลยจะมาแนะนำ วิธีจัดพอร์ทแบบนักลงทุนสถาบันกันครับ
ในปัจจุบัน ตลาดการลงทุนเปิดเสรีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก .. เราสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อก่อนเยอะ ไม่ว่าจะผ่านทางกองทุนต่างๆ ที่มีการไปลงทุนต่างประเทศ หรือกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกที หรือที่เรียกกันว่า "Feeder Fund" .. ทำให้หลายๆ ที่เริ่มมีการจัดพอร์ทการลงทุนที่รวมสินทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาค่อนข้างเยอะ ... วันนี้เราจะมาดูกันแบบง่ายๆ นะครับว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น .. ขอแยกระดับการลงทุนออกเป็น 2 ชั้น โดย ชั้นแรกจะขอเรียกกว่าการทำ "Asset Allocation" ซึ่งหมายถึงการเลือกว่าจะไปลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดก่อน เช่น ปีนี้ เราจะลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ร้อยละ 30 หุ้นยุโรปร้อยละ 15 หุ้นจีนร้อยละ 10 หุ้นไทยร้อยละ 10 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยร้อยละ 10 และพันธบัตรรัฐบาลไทยร้อยละ 10 เป็นต้น (ในที่นี่ของรวม Country Allocation คือการเลือกประเทศเข้ามาด้วยครับ)
ถัดไป ชั้นที่สองคือสิ่งที่เรียกว่า "Security Selection" เราถึงจะมาเลือกว่าในสินทรัพย์ต่างๆ ที่เราจะลงนั้น เราจะลงทุนยังไงดี เช่น หุ้นไทยร้อยละ 30 เราจะลงทุนหุ้น ABC ร้อยละ 30 หุ้น DEF ร้อยละ 40 หุ้น XYZ ร้อยละ 30 เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 ระดับนั้นจะอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป
อย่างแรก คือ การเลือกประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุนนั้น จำเป็นจะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิด เพราะในแต่ละสภาพแวดล้อม สินทรัพย์แต่ละประเทศจะให้ผลตอบแทนได้ไม่เหมือนกัน เช่น เรารู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ราคาน้ำมันลดลงทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง ความผันผวนในตลาดสูง ทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่า ตลาดพันธบัตรนั้นน่าจะยังคงให้ผลตอบแทนดี เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นในระยะอันใกล้ แต่หุ้นนั้นอาจให้ผลตอบแทนไม่ดี เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่านี้ ดังนั้นเราคาดว่าพันธบัตรอาจให้ผลตอบแทนดีกว่าในปีนี้ เป็นต้น เราอาจปรับน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรมากหน่อยในปีนี้
ในขณะที่การเลือกหลักทรัพย์รายตัวนั้น จะต้องอาศัยความถนัดในเรื่องที่เป็นระดับย่อยกว่า เช่น การแนวโน้มผลการดำเนินงานรายบริษัท หรือรายอุตสาหกรรม
โดยเราต้องเอาทั้งสองประการมาประกอบรวมกันเพื่อตัดสินใจจัดพอร์ทการลงทุน ซึ่งวิธีการประกอบรวมกันนั้นมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ง่ายๆ เช่น การอาศัยประสบการณ์ หรือจะยุ่งยากมากๆ เช่น การทำ Portfolio Optimization แต่เราคงไม่จำเป็นต้องไปถึงระดับนั้น (หากเพื่อนๆ สนใจ เราสามารถมา Update กันได้เดือนละครั้งนะครับ) อาจจะอาศัยอ่านตามที่มีคนจัดมาให้บ้าง เช่น ขอยกตัวอย่างดังนี้
ทีนี้เราก็มาเลือกดูว่าตัวเรานั้นต้องการความเสี่ยงระดับไหน เช่น น้อยสุด ก็จะเลือกแบบ Capital Preservation ก็จะลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรร้อยละ 59.00 หุ้นไทยร้อยละ 5.00 หุ้นต่างประเทศร้อยละ 7.00 การลงทุนทางเลือกร้อยละ 5.00 และถือเงินสดหรือกองทุนพันธบัตรระยะสั้นๆ อีกร้อยละ 25.00 แต่ยิ่งเสี่ยงน้อยผลตอบแทนก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะน้อยลง
ทั้งนี้เราต้องเข้าใจกันด้วยว่าในระยะยาวนั้น อะไรที่มีความเสี่ยงน้อยก็ควรจะให้ผลตอบแทนน้อยไปด้วย ซึ่งอาจจะเรียงกันตามนี้ครับ
(1) เงินสดและพันธบัตรระยะสั้น
(2) พันธบัตรระยะกลางและยาว
(3) หุ้นและตราสารทางเลือก
โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่ จะมาจาก 2 ส่วนประกอบกัน ได้แก่
(1) Carry เช่น Yield & เงินปันผล และ (2) Price ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ โดยการพิจารณาผลตอบแทนคาดหวังนั้นจำเป็นจะต้องพิจารณาจากทั้งสองส่วนรวมกันด้วยครับ
หลักการในการเลือกคือเราต้องประเมินตัวเองใน 2 ด้าน ครับ ว่าเราเต็มใจจะรับความเสี่ยงมากมั๊ย และเรามีความสามารถในการรับความเสี่ยงหรือการขาดทุนมากน้อยแค่ไหน … อันนี้สำคัญมากครับ อยากให้เพื่อนๆ ประเมินตัวเองจากสองด้านนี้เสมอ ในบางครั้งเราอาจเต็มใจจะรับความเสี่ยงเต็มที่ แต่เราก็มีค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้ในแต่ละเดือน เป็นต้น ทั้งสองด้านนี้จำเป็นต้องสมดุลเสมอครับ (วันหลังจะมาแนะนำวิธีบริหารพอร์ทฟอลิโอแบบลดความเสี่ยงในการชำระหนี้ในอนาคตต่อไป ☺)
ต่อไปเราก็จะไปเลือกดูว่าพันธบัตรที่ บลจ ต่างๆ นำเสนอมาให้นั้น ที่ไหนดี มีการลงทุนที่เราคิดว่าน่าจะให้ผลตอบแทนดี เช่น เน้นการลงทุนในพันธบัตรภาคเอกชน หรือ หุ้นต่างประเทศ ถ้าเราคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะขยายตัวได้ดี เราก็ไปลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลัก เป็นต้น
ถามว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ อย่างแรก คือ การกระจายความเสี่ยง โดยหากเราลงทุนทั้งหมดในหลักทรัพย์ไทย ในบางครั้งเราอาจจะมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง โดยหากเรากระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆ บ้าง เช่น พันธบัตร ความเสี่ยงโดยรวมจะน้อยลง อย่างที่สองก็คือ การเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ จริงๆ แล้วเกือบจะเป็นตัวตัดสินว่าผลตอบแทนที่เราจะได้นั้นควรจะอยู่ประมาณเท่าไร (ผลการวิจัยส่วนใหญ่จะชี้ว่าผลตอบแทนร้อยละ 80 ถึง 95 นั้นจะมาจากการทำ Asset Allocation) และการอาศัยภาพเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นเป็นภาพที่ไม่เปลี่ยนบ่อย หากเราเข้าใจ เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจบางครั้งอาศัยเวลาเป็นปีกว่าจะเปลี่ยนครั้งหนึ่ง
จริงๆ แล้วในรายละเอียดของนักลงทุนสถาบัน หรือผู้จัดการกองทุนยังมีอยู่อีกมาก หากมีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังในรอบต่อๆ ไป หวังว่าเพื่อนๆ คงได้ความรู้เพิ่ม หรืออย่างน้อยใครก็ตามที่จะไปลงทุนในกองที่เป็น "Asset Allocation" นั้นก็จะได้เข้าใจว่าตัวเองจะไปลงทุนอะไร และในอนาคต เราอาจจะถามว่า ปีนี้ลงหุ้นตัวไหนดี เป็นปีนี้ลงทุนในสินทรัพย์อะไรดีแนบไปด้วย ก็ได้ครับ ☺