
ค่ารับรอง ไม่สามารถใช้ได้ 100% เต็มตามที่จ่ายไป แต่สามารถหักได้ตามที่กฎหมายกำหนด นั่นคือตามมาตรา 65 ตรี (4) และกฎกระทรวงฉบับที่ 143 ครับ
สำหรับรายละเอียดในแต่ละเรื่องนั้น สามารถดูได้ในแต่ละรายการหลังจากนี้ได้เลยครับ

ความหมายของค่ารับรองตามกฎหมายนั้นมีเพียง 5 ประเภทหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกัน คือ ค่าที่พัก พาหนะ อาหาร (รวมเครื่องดื่ม) มหรสพ กีฬา และสิ่งของ ซึ่งอาจจะมีรายการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ แต่ควรอยู่ในขอบข่ายที่กฎหมายกำหนดครับ
จ่ายแล้วต้องมีการรับรองจริงๆ ตามประเพณีของธุรกิจ นั่นคือไม่ใช่การจ่ายนอกเหนือจากการรับรองปกติ เช่น จ่ายค่าเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ให้ลูกชายลูกค้ารายใหญ่ แบบนี้อาจจะมีปัญหากับทางสรรพากรได้ครับ
คำว่าประเพณีธุรกิจ อาจจะมองดูจากการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีการรับรอง ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทธุรกิจครับ

จ่ายให้กับลูกค้าเท่านั้น ไม่ใช่การจ่ายให้พนักงาน หรือกรรมการของบริษัท แล้วจะถือเป็นค่ารับรองได้ ดังนั้นตรงนี้ต้องระวังว่า ถ้าหากมีการเลียงหรือจ่ายให้ตัวเอง หากถูกตรวจสอบพบ จะผิดกฎหมายได้ครับ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองนั้นสามารถเข้าร่วมได้ครับ ไม่ผิดอะไร เช่น หัวหน้าแผนกเซลล์มีการพาลูกค้ารายใหญ่ไปทานอาหาร เป็นต้น
นอกจากนั้นยังต้องมีการอนุมัติหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยครับ และต้องมีหลักฐานว่าได้รับรองไปจริงๆ ตามจำนวนที่ว่ามาครับผม

การซื้อสินค้าหรือสิ่งของให้นั้น จำกัดไว้ที่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง ดังนั้นถ้าหากซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะสามารถใช้ได้เพียง 2,000 บาทเท่านั้นครับ

กฎหมายกำหนดให้ค่าใช้จ่ายสูงสุดของค่ารับรองในแต่ละรอบบัญชี คือ 0.3% ของรายได้ หรือยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย หรือ ทุนชำระของรอบบัญชีนั้นๆ แล้วแต่ว่าตัวไหนจะสูงกว่า และมีมูลค่าสูงสุดได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
สมมติว่าบริษัทมียอดขาย 10 ล้านบาท และมีทุนชำระ 1 ล้านบาทในรอบบัญชีนั้น ค่ารับรองที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ คือ 30,000 บาทเท่านั้นครับ
ภาษีซื้อจากค่ารับรอง ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ แต่สามารถเอามาเป็นค่าใช้จ่ายได้ โดยที่ต้องไม่เกินเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดครับ
อ้างอิง มาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้เพิ่มเติมครับ
ติดตามความรู้เรื่องภาษีสำหรับคนทำธุรกิจได้ที่แฟนเพจ พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ หรือกดเพิ่มเพื่อนได้ที่ Line @BizTaxThai หรือคลิกที่ลิงค์
https://line.me/ti/p/@biztaxthai ครับ
#ค่ารับรอง #รายจ่ายธุรกิจ
#ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ค่าใช้จ่าย
#พรี่หนอมสอนภาษ๊ธุรกิจ