ว่ากันว่า... มีอยู่สองสิ่งที่มนุษย์หนีไม่พ้นในชีวิต “หนึ่งคือความตาย สองคือการเสียภาษี" ซึ่งตัวผมเองเชื่อว่าความตายคือสิ่งที่เราทุกคนหนีไม่ได้แน่ๆครับ ส่วนเรื่องของภาษีนั้น เราอาจจะไม่ต้องหนี แต่เลือกที่จะทำให้ถูกวิธีน่าจะดีกว่า จริงไหมครับ

 

ถึงแม้ว่าเรื่องราวของ “ภาษี” นั้น จะเป็นปัญหาหลักในชีวิตของทุกคน ตั้งแต่เรื่องง่ายๆอย่างความหมายของ การวางแผนภาษี การหนีภาษี และการเลี่ยงภาษี ไปจนถึงความรู้เรื่องการคำนวณภาษีและยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งแรกๆตอนที่มีเรารายได้ไม่เยอะ ต่อให้ไม่ยื่นภาษีก็คงไม่เป็นปัญหาเท่าไร แต่มันอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาในอนาคตได้ ถ้าหากเรามีรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังคำนวณภาษีของตัวเองไม่ถูกต้อง!!

 

ดังนั้นในช่วงนี้ เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ หรือจากหน่วยภาษีที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้ตัวดีว่าตัวเองมีหน้าที่จะต้องนำข้อมูลของเราที่เกิดขึ้นในระหว่างปีไปคำนวณและยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้กับพี่ๆสรรพากรในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป ใช่ไหมครับ? และนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีนั่นเอง

 

แต่.. สำหรับ รายได้บางประเภท กฎหมายยังใจดี (หรอ?) กำหนดให้คนที่มีเงินได้ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการที่มีชื่อว่า ภ.ง.ด. 94 เพื่อเสียภาษีล่วงหน้าสำหรับรอบครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน อีกด้วยครับ โดยรายได้ที่ว่านั้นคือ รายได้หรือเงินได้ประเภทที่ 5 ถึง 8 นั่นเองครับ ซึ่งประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้

 

 

เงินได้ประเภทที่ 5 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ

เงินได้ประเภทที่ 6 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป(แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด

เงินได้ประเภทที่ 7 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

เงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7

 

สำหรับตัวอย่างของเงินได้แต่ละประเภทนั้น ลองดูรายละเอียดตาม Infographic สวยงามที่รูปด้านล่างได้เลยนะคร้าบบ

 

แล้วมีรายได้เท่าไร
ถึงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งปี?

 

เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษี เราจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้ครับ

 

- กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้เกิน 30,000 บาท
- กรณีมีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 60,000 บาท

 

จากตรงนี้ขอเน้นย้ำอีกทีนะครับว่า ถ้าหากมีรายได้ถึงเกณฑ์เมื่อไร เรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีก็ตามคร้าบบ

 

หลักการและระยะเวลา
สำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี มีกำหนดให้ยื่นภายในสิ้นเดือนกันยายนของแต่ละปี หรือภายในวันที่ 30 กันยายน ด้วยแบบแสดงรายการที่มีชื่อว่า ภ.ง.ด. 94 แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบผ่านทางอินเตอร์เน็ตแล้วล่ะก็ … เราจะได้สิทธิพิเศษโดยขยายกำหนดเวลาชำระเงินออกไปถึง วันที่ 8 ตุลาคม 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกและลดการใช้กระดาษ ตามโครงการร่วมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ของกรมสรรพากรครับ (โครงการ RD Carbon Credit) ซึ่งช่วยให้เราประหยัดเวลาได้มากขึ้น แถมยังมีเวลาโอ้เอ้ไม่ต้องรีบยื่นแบบซะด้วย (อิอิ)

 

อย่างไรก็ตาม ภาษีครึงปีที่เราได้เสียไว้นั้น สามารถนำภาษีครึ่งปีที่เสียไปเป็นเครดิตออกจากภาษีสิ้นปีได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

 

สมมุติว่า นายเกรย์แมนได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 5,000 บาท พอสิ้นปีนาเกรย์แมนคำนวณภาษีได้จำนวน 8,000 บาท นายเกรย์แมนก็ชิวๆสบายๆ จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 3,000 บาทเท่านั้น (คำนวณโดย 8,000 - 5,000)

 

แต่ถ้าหากนายเกรย์แมนคำนวณภาษีได้แค่ 4,000 บาท นายเกรย์แมนก็สามารถขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตั้งแต่ครึ่งปีจำนวน 1,000 บาทได้เช่นเดียวกันครับ (คำนวณโดย 4,000 - 5,000)

 

ยื่นแบบล่าช้า/ไม่ได้ยื่นแบบมีโทษอย่างไร

 

สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภายในกำหนดนั้น ถือว่ามีความผิด และจะต้องรับผิดโดนการเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระและต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทอีกด้วยครับ

 

สรุปสั้นๆง่ายๆก็คือ ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 1.5% ต่อเดือน และค่าปรับจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท (ซึ่งในทางปฎิบัติแล้วจะปรับจริงเพียงแค่ 200 บาทเท่านั้นครับ)

 

สำหรับตอนนี้ก็เป็นตอนแรกที่เราได้ทำความรู้จักกับเจ้าภาษีเงินได้ครึ่งปีแล้วนะครับว่า เงินได้ประเภทไหนและใครบ้างที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีบ้าง รวมถึงรู้จักกับกำหนดระยะเวลายื่นแบบพร้อมกับโทษกันไปเรียบร้อยแล้ว ในตอนต่อไปเราจะมาเข้าใจถึงวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และขั้นตอนการคำนวณภาษีกันต่อครับ ซึ่งถ้าใครมีปัญหาสงสัยเรื่องภาษีครึ่งปี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เพจ @TAXBugnoms ตลอดเวลานะคร้าบบ

 

ภาษีครึ่งปี