กลับมาพบกันอีกครั้งกับ ซีรีย์ภาษีง๊ายง่ายในตอนที่ 3 ครับ ซึ่งตอนนี้เป็นตอนสำคัญที่เราจะมาทำความเข้าใจกับการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องกันครับ หลังจากที่เราจัดการเงินได้ในตอนที่ 1 และเลือกค่าใช้จ่ายในตอนที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงตัวสุดท้ายที่เราต้องสนใจและเข้าใจมันก็คือเรื่องของ “ค่าลดหย่อน” นั่นเองครับ

 

เอ้า.. มาทบทวนกันอีกครั้ง ตั้งแต่ ตอนที่ 1 กันอีกที จำได้ไหมครับว่า ภาษีคำนวณยังไงกันบ้าง เอ้า ลองดูตามนี้คร้าบบบบ

 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้ = (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

 

ลองนึกย้อนกลับไปนึกถึงสมการสมัยเด็กๆ หากเราต้องการจะลด “ภาษี” ให้ต่ำที่สุด เราต้องทำตัวเลขในวงเล็บ (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) ให้น้อยๆ เพื่อที่จะได้คูณอัตราภาษีออกมาแล้วจะได้จำนวนเงินที่ต่ำมากๆ ยิ่งอัตราภาษีเป็นแบบขั้นบันไดอย่างนี้ ทำให้น้อยเท่าไรยิ่งดี!!

 

TAXPay

ที่มา : ภาพประกอบตัวอย่างอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันไดคร่าวๆ จากบทความ เรื่องน่ารู้!!! มนุษย์เงินเดือนทำธุรกิจส่วนตัวต้องเสียภาษีอย่างไร?

 

ทวนกันอีกทีนะครับว่า ... เราได้รู้เคล็ดลับแรกในการทำตัวเลขในวงเล็บให้น้อยไปแล้วจาก ตอนที่ 2 เรื่องวิธีการจัดประเภทรายได้ให้ถูกต้อง แต่สำหรับคนที่รายได้ที่ไม่สามารถจัดประเภทใหม่ได้อย่างมนุษย์เงินเดือน ต่อให้จัดรายได้แค่ไหนมันก็หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่ 60,000 บาท อยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยเราได้ก็คือเรื่องของค่าลดหย่อนนั่นเองครับ

 

แล้วค่าลดหย่อนที่กฎหมายให้เราคืออะไร มันก็คือรายการที่ทางรัฐมองว่าเป็นภาระในชีวิต หรือเป็นสิทธิพิเศษที่ต้องการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมบางอย่างของประชาชน นั่นเองครับ

 

โดยรายการค่าลดหย่อนทั้งหมดนั้นอยู่ในบทความที่มีชื่อว่า “14 รายการลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน” และถ้าจะให้เข้าใจค่าลดหย่อนได้ง๊ายง่ายตามชื่อของซีรีย์แล้วล่ะก็ @TAXBugnoms ขอแบ่งค่าลดหย่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ ค่าลดหย่อนธรรมดา  ค่าลดหย่อนที่เป็นการออมเงิน และ ค่าลดหย่อนเพื่อการบริจาค โดยบทความตอนนี้เราจะพูดในเรื่องของการวางแผนภาษีด้วยค่าลดหย่อนธรรมดา และค่าลดหย่อนที่เป็นการออมเงินครับ แต่คงไม่ลงลึกในเรื่องของค่าลดหย่อนเพื่อบริจาค เพราะมันวางแผนกันไม่ได้ (อิอิ)

 

ค่าลดหย่อนธรรมดา คือ ค่าลดหย่อนธรรมดาก็คือค่าลดหย่อนที่เรามีก็ได้ใช้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ บุตร ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรืออะไรก็ตามแต่ที่เรามีแล้ว วิธีใช้ก็แค่หยิบมาใช้ได้เลยครับ ฟรี!!

 

ส่วน ค่าลดหย่อนเพื่อการออมเงิน นั้น จะเป็นค่าลดหย่อนที่เราสะสมแล้วได้กำไรถึง 2 ต่อ ต่อแรกคือการลดภาษีเงินได้โดยวิธีการคำนวณเมื่อตะกี้นี้ และต่อที่สองคือการมีเงินออมหรือเงินลงทุนเพื่อชีวิตในอนาคตอีกด้วยครับ

 

โดยค่าลดหย่อนเพื่อการออมเงินนั้น มีอยู่ 5 ตัวหลักๆได้แก่ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต LTF และ RMF ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตทางด้านการเงินของเราไปพร้อมๆกับการลดหย่อนภาษีในแต่ละปี

 

ดังนั้น หลักการลดหย่อนภาษีง่ายๆ สำหรับคนไทยทุกคนนั้น คือ การจัดประเภทรายได้ให้ถูกต้อง - เลือกใช้ค่าลดหย่อนให้ถูกที่ แบบนี้ก็จบง่ายๆที่การประหยัดภาษีได้แล้วคร้าบ

 

แต่ทีนี้หลักการประหยัดภาษียังไม่จบเพียงเท่านี้ ผมยังมีวิธีคิดสำหรับการเลือกใช้ค่าลดหย่อนเพื่อการออมมาฝากกันครับ เอาล่ะเราลองมาดูกันเลยว่าเราจะวางแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากการออมได้อย่างไรบ้าง

 

ค่าลดหย่อน-01

 

จากรูปนี้เราจะเห็นครับว่า เราต้องเริ่มจากการวางแผนออมเงินก่อน แล้วค่อยมาวางแผนประหยัดภาษี ซึ่งวิธีที่ผมแนะนำนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่เป็นเพียงแนวทางสำหรับการวางแผนภาษีกันเท่านั้นครับ และถ้าหากใครสนใจเรื่องแนวคิดการประหยัดภาษีด้วย LTF และ RMF ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 5 ขั้นตอนวางแผนซื้อ LTF และ RMF สำหรับปี 2015 เลยคร้าบ

 

สุดท้าย ซีรีย์ภาษีง่ายๆ สั้นๆ เพียง 3 ตอนจบนี้คงต้องลากันไปก่อน ผมหวังว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องทุกคนคงจะได้รับประโยชน์จากการบทความชุดนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ และถ้าใครมีปัญหาภาษี สามารถมาติดต่อสอบถามพูดคุยได้ที่เพจ TAXBugnoms ตลอดเวลานะครับ ผมยินดีตอบทุกคำถามให้ฟรีๆคร้าบบ