[ซีรีย์] เจาะลึก ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน Unit-Linked (ตอนที่ 3)
สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับตอนที่ 3 ของซีรีส์ความรู้ด้านประกันชีวิตกันนะครับ จากเมื่อครั้งตอนที่ 1 ที่ผมเคยได้อธิบายและให้ความรู้ในส่วนของประกันชีวิตแต่ละแบบไปแล้ว (อ่านตอนที่1 ได้ที่ [ซีรีย์] ซื้อประกันอย่างให้ให้ถูกต้องและสบายใจ (ตอนที่1) ) มาตอนนี้ ผมจะขอยกเอาประกันชีวิตแบบพิเศษขึ้นมาอธิบายให้ความรู้กันแบบเจาะลึกกันซักหน่อย เพราะเชื่อว่า หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังไม่คุ้นเคยกับประกันชีวิตแบบนี้กันซักเท่าไหร่ ซึ่งนั้นก็คือประกันชีวิตแบบ “ควบการลงทุน” หรือแบบ Unit-Linked นั่นเองครับ
ความแตกต่างระหว่าง โครงสร้างประกันชีวิตแบบทั่วไป และแบบควบการลงทุน
ก่อนจะไปรู้จักกับประกันชีวิตควบการลงทุน (ต่อไปนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า “ยูนิตลิงค์” (Unit-Linked) นะครับ) ผมอยากจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ หรือโครงสร้างเบื้องหลังของการทำประกันชีวิตทั่วไปกันสักหน่อย เพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่างของประกันชีวิตแบบทั่วไป กับแบบยูนิตลิงค์กันนะครับ
สำหรับประกันชีวิตทั่วไป (แบบตลอดชีพ, สะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ) โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไป บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นการทำประกันชีวิตให้เรานั่นแหละครับ) กับ 2) ส่วนที่เอาไปบริหารจัดการ โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (ตามนโยบายบริหารของแต่ละบริษัทประกัน) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา แล้วบริษัทจะดึงเอาผลตอบแทนที่ได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็น “เงินคืน” ตามสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกัน หรือสะสมเป็น “มูลค่าเงินสด” อยู่ในกรมธรรม์ สำหรับประกันชีวิตโดยทั่วไป ส่วนใหญ่บริษัทจะมีนโยบายลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากนัก (เช่นลงทุนในเงินฝาก, ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก อาจจะมีลงทุนในหุ้นบ้าง เป็นส่วนน้อย) เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายผลตอบแทนที่เป็น เงินคืน ซึ่งมีการ “การันตีผลตอบแทน” (เป็น % ของทุนประกัน) ให้กับผู้เอาประกัน ดังนั้น บริษัทจะไปลงทุนอะไรที่เสี่ยงต่อการขาดทุนมากไม่ได้
ซึ่งสัดส่วนของเงินทั้ง 2 ส่วน คือส่วนที่ 1) กับส่วนที่ 2) นี้เองครับ ที่ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่างๆ ที่มีผลตอบแทน และทุนประกันคุ้มครองชีวิตที่ได้ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ที่เน้นการคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ไม่มีเงินคืน ก็จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) มากกว่าส่วนที่ 2) (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเกือบหมด ทำให้ได้ทุนประกันที่สูง และเหลือเงินไปลงทุนน้อย จึงไม่มีเงินคืน และมีมูลค่าเงินสดอยู่ในกรมธรรม์น้อย)
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) น้อยกว่าส่วนที่ 2) (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยน้อยกว่า เอาไปลงทุน ทำให้แบบประกันแบบนี้จะมีทุนประกันต่ำกว่าแบบตลอดชีพ (ณ เบี้ยประกันที่เท่ากัน) แต่ก็มีผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะเอาเงินไปลงทุนมากกว่า) แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังถือว่าไม่สูงมากอยู่ดี(โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 1% กว่าๆ – 2% กว่าๆต่อปี) เนื่องจากบริษัทประกันต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนแทนคนทำประกัน และมีการการันตีเงินคืน ทำให้ต้องลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็เลยต่ำไปด้วย
แต่สำหรับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แล้ว แทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 2) ไปลงทุนแทนเรา โดยต้องลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำๆอย่างเดียว บริษัทก็จะให้เราสามารถ “เลือก” ลงทุนด้วยตัวเอง ผ่าน “กองทุนรวม” ที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เราต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปเลยครับ
ถึงจุดนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วมันต่างจากการไปลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปยังไง?” หรือ “แล้วทำไมต้องมาซื้อยูนิตลิงค์ ไปซื้อกองทุนรวมทั่วไป ไม่ดีกว่าเหรอ?” คำตอบก็คือ เราไม่สามารถเอายูนิตลิงค์กับกองทุนรวมมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงครับ เพราะยูนิตลิงค์แม้จะมีการลงทุนด้วย แต่สุดท้ายหัวใจของมันก็คือการทำประกัน ที่มีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้หากดูเฉพาะแค่ผลตอบแทน มันย่อมน้อยกว่าการไปลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น จะเปรียบเทียบกันเฉพาะแต่ในแง่ของผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องดูในแง่ของการคุ้มครองชีวิตด้วย เช่น สำหรับคนที่เอาเงินไปลงทุนเอง หากเสียชีวิตกะทันหัน ในช่วงที่ผลตอบแทนขาดทุนอยู่พอดี ลูกหลานก็จะได้รับมรดกเท่ากับมูลค่าการลงทุนที่กำลังขาดทุนอยู่ แต่หากเป็นยูนิตลิงค์ แม้ผู้เอาประกันจะจากไปขณะที่มูลค่าเงินสด หรือมูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์ลดต่ำลงจากผลการลงทุนที่ขาดทุน ลูกหลานหรือผู้เอาประกัน ก็จะได้รับเป็นเงินเอาประกันที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(ที่กำลังขาดทุนอยู่) แน่ๆ จึงถือเป็นการทำประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงหากเสียชีวิต ตรงนี้ด้วยที่ทำให้ต่างจากการลงทุนทั่วไปอย่างชัดเจน
นอกจากจะสามารถให้เราเลือกบริหารการลงทุนในเงินส่วนที่ 2) เองได้แล้ว ยูนิตลิงค์ยังสามารถให้เรา “กำหนดสัดส่วน” ระหว่างความคุ้มครองตามกรมธรรม์ กับส่วนของเงินลงทุนเองได้ (กำหนดสัดส่วนระหว่างเงินส่วนที่ 1) กับ 2) ด้วยตัวเองนั่นแหละครับ) ว่าจะให้มีสัดส่วนของความคุ้มครองชีวิตหรือการลงทุนมากกว่ากัน ถ้าเราเลือกให้สัดส่วนของความคุ้มครองสูงขึ้น ก็จะทำให้เราได้ทุนประกันที่สูงขึ้น (หรือมองอีกมุมหนึ่งคือ ถ้าเราเลือก/ปรับให้ทุนประกันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยของเราก็จะสูงขึ้น) แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้สัดส่วนของเงินที่นำไปลงทุนล