จากโปรแกรม รวยได้ไม่ง้อพ่อ ในตอนที่ 3 เราจะเห็นว่า รายรับ ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ รายรับหลัก (Active Income) กับ รายรับทางอ้อม (Passive Income)
ประเภทของรายได้
รายรับหลัก หรือ Active Income คือ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำงานเพื่อแลกเงิน ถ้าเกิดวันดีคืนดีเราหยุดทำงาน หรือทำงานไม่ได้ ก็ไม่ได้เงินทันที เช่น มนุษย์เงินเดือน, ข้าราชการ เจ้าของกิจการ ฯลฯ
ส่วน รายรับทางอ้อม หรือ Passive Income คือ รายได้ที่ถึงเราหยุดทำงาน ก็ยังมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หุ้น กองทุน หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์
ในทุกๆ วันนี้ ถ้ารายได้ที่กำหนดการดำเนินชีวิตของเรา คือ Active income ดังนั้นการที่เราจะเพิ่ม Active Income นั้นแปลว่าเราต้องเพิ่มความสามารถของตัวเอง เพื่อที่จะเพิ่มรายได้
ในขณะเดียวกัน Passive Income ส่วนใหญ่จะมาจากเงินออมที่นำไปลงทุนต่อ เมื่อเรานำเงินออมไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และได้ผลตอบแทนกลับมา เราก็จะมีรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำงานของมันไปอย่างอัตโนมัติ โดยที่ตัวเราทำหน้าที่เพียงแค่นั่งมองอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆอยากให้เธอไปดี ขอให้มีความสุข (พอ!!!)
และเมื่อไรที่เรามี Passive Income ที่สามารถทดแทน Active Income ของเราได้ แปลว่า เมื่อนั้นแหละที่เราสามารถหยุดทำงานได้ โดยที่มีเงินใช้ตลอดไป สบายจุงเบย
หรือที่วัยรุ่นทั้งหลาย เค้าฮอตฮิต เรียกกันว่า “อิสรภาพทางการเงิน” นั่นเอง
แล้ว.. อิสรภาพทางการเงิน คือ อัลไล?
"อิสรภาพทางการเงิน" หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Financial Freedom เป็นคำที่ใครก็ร่ำร้องหา อยากได้มันมา ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ยันไปจนเกษียณ แต่เอาจริงๆมันคืออะไรกันครับพี่น้อง!!! @TAXBugnoms ขอนิยามความหมายสั้นๆ ว่ามันคือ
“การที่เราอยากทำอะไรก็ได้
โดยไม่มีข้อผูกมัดทางการเงิน”
อยากจะกินอะไร ก็หากินได้
อยากจะซื้ออะไร ก็ซื้อมาได้
อยากจะเที่ยวที่ไหน เมื่อไร ก็ไปเที่ยวได้
โดยมีเงินพอที่จะตอบสนองความต้องการที่ว่า
ไป “ตลอดชีวิต”
แต่ทว่า... แค่เพียงรายได้อย่างเดียวอาจจะทำให้อิสรภาพทางการเงินของเราไปไม่ถึงฝัน หากยังไม่รู้จักจัดการกับรายจ่าย
ประเภทของรายจ่าย
โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของคนเราจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “Need” (จำเป็น) และ “Want” (ต้องการ)
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (Need) หมายถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตที่เราขาดไม่ได้ เช่น อาหาร น้ำ เครื่องแต่งกาย เท่าที่จำเป็นเพื่อให้ชีวิตเรานั้นอยู่รอดปลอดภัย ครบ 32 มองไปทางไหนก็ไม่ลำบาก แต่ถ้าไม่มีเมื่อไรตายยยย แบบนี้คือ Need ครับผม!!
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องการ (Want) หมายถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่เราอยากได้ แต่อาจจะไม่จำเป็นต่อชีวิต เช่น โทรศัพท์ราคาแพง อาหาร (หรูๆ) เสื้อผ้า (แพงๆ) หรืออะไรก็ตามที่ไม่มีแล้วไม่ตายน่ะครับ เค้าเรียกว่าไม่จำเป็น!!!
นักวางแผนการเงินส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้เราเลือกตัดค่าใช้จ่ายประเภท Want ออกซะ!! เพราะว่าจะช่วยให้เราสามารถประหยัดและมีเงินเหลือได้มากขึ้น แต่สำหรับโปรแกรม รวยได้ไม่ง้อพ่อ ขอแนะนำชัดๆไปเลยว่า ถ้า WANT จริงๆก็ให้เก็บเงินเพื่อซื้อมันซะ แต่ให้ทยอยๆเก็บเงินให้ได้ภายในระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี !!!!
สมมุติว่า @TAXBugnoms อยากได้โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ล่าสุดราคา 24,000 บาท ก็ต้องประเมินตัวเองว่าจะเก็บเงินขั้นต่ำ 1 ปี หรือเดือนละ 2,000 บาทเท่าๆกัน โดยในระหว่างนี้ก็เดินไปดูมันทุกวัน เล่นทุกวัน คอยจับทุกวันตามร้าน ยืมเพื่อนมาเล่นบ้าง จับไปจับมาสักปีนึง รับรองว่าพอเก็บเงินครบแล้วเสียดายจนไม่อยากได้แน่นอนครัสสสส!!!
สรุปคือ เอ็งหลอกข้าใช่ไหม ไอ้ @TAXBugnoms (เสียงคนอ่านด่า...) ใช่แล้วครับ แฮะๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องลดรายจ่ายที่เป็น WANT ให้มากที่สุดต่างหากครับ!!!!! แต่ถ้าอยากได้จริงๆ และคุณสามารถอดทนเก็บเงินได้ตามฝัน ถึงวันนั้นคุณจะใช้เงินก้อนนั้นขึ้นมาและคุณมองว่ามันดีแล้ว... ก็คงไม่มีใครสามารถว่าคุณได้หรอกครับ
ค่าใช้จ่ายการเงิน เปรียบเทียบกับ ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต
เรื่องเงินจบไปแล้ว คราวนี้ขอแทรกข้อคิดดีๆ เรื่องการใช้ชีวิตกันบ้าง เวลากับเงินเหมือนกันตรงที่ เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างจำกัด ดังนั้นเราควรถามตัวเองดีๆว่า...ในชีวิตของเรานั้น สิ่งไหนคือ "Need" และสิ่งไหนคือ "Want" บ้าง
ระหว่าง "การทำงานหาเงินตลอดเวลา" กับ "การแบ่งเวลาให้ครอบครัว"
ระหว่าง "การนอนดูทีวีเฉยๆ" กับ "การออกกำลังกาย"
ลองถามตัวเองก่อนว่าอะไรคือ "Need" และอะไรคือ "Want" เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง เพราะ อิสรภาพทางการเงิน ที่ดีนั้น มันต้องควบคู่ไปพร้อมๆกับการมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต
สุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ง่ายๆ ระหว่าง รายรับ รายจ่าย และการออมก็หนีกันไม่พ้น ว่าแต่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ เคยสงสัยไหมครับว่า..
“ออมแล้วไปไหน”
(คล้ายๆตายแล้วไปไหนนะฮะ แหม่... โปรดติดตามตอนต่อไปคร้าบ)