ปกติการใช้จ่ายของเขาจะเป็นลักษณะ จ่ายสด งดเชื่อตลอดเลยครับ สาเหตุหลักคือเขากลัวการเป็นหนี้มาก ซึ่งหนี้ก้อนนี้ก็ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ก้อนแรก ราคาบ้านเต็มๆ เนี่ย อยู่ที่ 3.8 ล้านบาท ดาวน์ไป 3.5 แสนบาท 

การจัดสรรเงินที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือน เป็นยังไง ?

  • ค่าใช้จ่ายของเขาต่อเดือนจะหมดไปกับการผ่อนบ้านอย่างน้อย 2-30,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว พ่อแม่ อยู่ที่ 10,000 บาท
  • หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่ายประจำ เขาจะเหลือเงินไว้ใช้อยู่ที่ 8,000 - 10,000 บาทต่อเดือน

บริหารเงินเดือนละ 8,000 บาทยังไงให้อยู่กรุงเทพฯ รอด ?

เริ่มคำนวณนับตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านก้าวแรก..

สิ่งสำคัญและจำเป็นที่คุณจะสามารถคุมเงินให้ใช้ชีวิตได้รอดในกรุงเทพฯ ด้วยเงินหลักพัน คุณต้องมีบ้านเป็นของตัวเองครับ ถ้าเช่าเขาเนี่ย หลัก 8,000 บาทต่อเดือน อยู่กรุงเทพฯ ลำบากแน่นอน

สิ่งสำคัญรองลงมา ก็คือ การเดินทาง มันเป็นเรื่องโชคดีมาก ที่บ้านเขาใกล้ออฟฟิศที่ทำงาน วิธีเดินทางของเขาจะใช้นั่งรถเมล์และมาต่อรถไฟฟ้า ก็ถึงออฟฟิศแล้ว

อีกเส้นทางหนึ่งคือนั่งเรือข้ามฟากซึ่งเป็นการข้ามฟากฟรีเพราะเป็นเรือข้ามฟากไอคอนสยาม จากนั้นก็นั่งรถบัสฟรีต่อ (ซึ่งก็เป็นบริการฟรีจากไอคอนสยามเหมือนเดิม) ดังนั้น ถ้าวันไหนไม่รีบ ก็ถือว่าเขาไม่ต้องเสียค่าเดินทางเลย นั่งฟรีอย่างเดียว

แต่เคล็ดลับสำหรับเดินทางที่น่าสนใจคือ เขาใช้วิธีซื้อบัตร BTS รถไฟฟ้า ซึ่งถ้าใช้เป็นบัตร เดินทาง 1 สถานีจะลดให้ 1 บาท (เมื่อเทียบกับซื้อแบบหยอดเหรียญ ถูกกว่า 1 บาท) คุณเดินทางครบ 15 เที่ยวจะเหมือนนั่งฟรีเที่ยวที่ 16 

การกิน อยู่ ลำบากมั้ย ?

จากนั้น เราก็คุยกันต่อเรื่องอาหารการกิน อดอยาก หรือลำบากขนาดไหน เขาก็แจกแจงให้เราฟังว่า เขาเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยขนมปังแถวฟาร์มเฮาส์ 1 แถว และแบ่งมากินเช้าละ 1 คู่ (ขนมปัง 1 แถวมี 10 แผ่น) 

ต่อมา มื้อบ่าย เขาก็จะทานอาหารทั่วไป แถวออฟฟิศอยู่ในเรตราคา 50 - 60 บาทครับ ไม่เกินนี้ บวกกับมื้อเย็น ประมาณ 30-40 บาท ไม่เกิน นอกจากนี้ก็มีการซื้อนมเป็นแพ็คเก็บไว้ในช่วงลดราคา ก็ทุ่นค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินได้ค่อนข้างมาก

เขาเลือกทานขนมจากร้าน Bread Talk ที่จะมีการลดราคาหลัง 20.00น. แน่นอน ถ้าคุณอยากทาน S&P คุณก็สามารถไปหาทานได้ในวันพุธ เพราะเขาลดราคาพิเศษ

วิธีการใช้เงินสำหรับเอนเตอร์เทนตัวเอง

วิธีที่เขาใช้นี้ ค่อนข้างน่าสนใจ ดูๆแล้ว คล้ายๆ จะเป็นคนรักครอบครัวครับ คนรักครอบครัวจะไม่ค่อยสิ้นเปลืองมาก เพราะใช้จ่ายด้วยการหารกับครอบครัวนั่นเอง เช่น เป็นสมาชิก Netflix ด้วยเรตครอบครัว หารกับเพื่อนๆ แบ่งๆ กันดูครับ ใช้จ่ายแค่เดือนละ 105 บาท นอกจากนี้ก็มี Spotify ที่หารกับเพื่อนเช่นกัน นี่ก็จ่ายแค่เดือนละ 35 บาทเท่านั้น

นอกนั้น ก็เลือกดูหนังในโรงภาพยนตร์ด้วย แต่ดูเฉพาะวันพุธนะครับ ซึ่งก็เป็นเรตที่ถูกกว่าวันอื่นๆ 

นี่ก็รวมถึง ค่า fitness ด้วยนะครับ เขาใช้วิธีเหมาจ่ายรายปี ถ้ารายเดือนมันอยู่ที่ 1,600 บาทต่อเดือน การเหมาจ่ายไปเลยทั้งปี คุณจะจ่ายลดลงเดือนละ 300 บาท แล้วทำไมเราจะไม่เหมาละ ?

เสื้อผ้า หน้าผม ดูแลตัวเองแค่ไหน

โชคดีที่ผู้ให้สัมภาษณ์เป็นชายหนุ่มออกแนวเซอร์ๆ ครับ ไม่ใช่คนช่างแต่งตัว ส่วนใหญ่จะเน้นเสื้อแถม เสื้อแจกที่ออฟฟิศทำใส่เป็นปกติ จึงไม่ต้องไปใช้จ่ายกับเงินในส่วนนี้มาก

เที่ยวไหม เที่ยวแบบไหน เปย์สาวรึเปล่า ?

ผู้ให้สัมภาษณ์เราก็เที่ยวเหมือนกันนะครับ อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็เป็นนัดกันไปเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง เรตราคาที่จ่ายไม่เกิน 500 บาท 

ค่าโทรศัพท์ ค่าพาหนะ 

เขาจ่ายค่าโทรศัพท์+อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 1,100 บาทต่อเดือน ส่วนเรื่องพาหนะ เขาเลือกใช้มอเตอร์ไซค์เพราะความคล่องตัว เสียน้ำมันอย่างมากไม่เกิน 300 บาท 

ภาษีสังคม มีไหม ต้องจ่ายรึเปล่า ? ภาษีสังคมของเขา คิดแล้วตกประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าคิดเป็นรายปีอาจเหยียบ 20,000 บาทได้ เพราะบางครั้ง 1 เดือนมีเพื่อนแต่งงาน มีบวช มีงานศพซ้อนๆ กัน อย่างน้อยต้องกันไว้จ่ายเพื่อดูแลเพื่อนบ้างครับ 

หลักคิดในการใช้เงิน บริหารเงินเดือนละ 8,000 - 10,000 บาท เอาอยู่ แม้อยู่ในกรุงเทพฯ 

เขาเล่าให้เราฟังว่า การซื้อบ้านด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขานี้ หลักประจำใจคือ ปีแรกคุณต้องเอาตัวเองให้รอด เพราะเป็นปีที่จ่ายหนักสุดแล้ว ดอกเบี้ยเยอะ ปีที่สอง คุณมีเงินเหลือเก็บ เพื่อที่จะโปะค่าบ้านเยอะขึ้น ปีที่สาม คุณจะเริ่มมีเงินเหลือเที่ยว

การเป็นหนี้นั้น ต้องบอกว่าหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเราจัดการได้ คุณต้องทำให้การเงินของคุณให้เป็นระบบ ดีกว่าเอาตัวรอดไปวันๆ วินัยทางการเงินก็สำคัญ การจ่ายค่าบ้าน ต้องจ่ายให้ตรงเวลา เพราะคิดดอกเบี้ยต่อวัน วันละ 350 บาท ถ้าจ่ายช้า คุณก็ต้องบวกค่าดอกเบี้ยไปอีก

เวลาคนคิดจะซื้อบ้าน มักจะมองแค่ค่าผ่อนบ้าน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันต้องมีค่าโอน ค่าประกันไฟไหม้ คือคุณต้องรู้ล่วงหน้าว่าคุณต้องใช้เงินให้หมดไปกับอะไรบ้าง เรื่องที่จะวางแผนและเกิดสถานการณ์ที่ผิดแผนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเวลาวางแผน คิดแผนเผื่อไปอีก เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย

จากนั้น คุณก็ต้องประเมินความฟุ่มเฟือยของตัวเองด้วย อย่าให้มันมากเกินไป และเวลาบริหารเงินนี้ คุณต้องเรียนรู้โปรโมชั่นต่างๆ ให้ดี การเชี่ยวชาญเรื่องโปรโมชั่นทำให้คุณประหยัดเงินในการใช้จ่ายได้เยอะ 

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีวินัยทางการเงิน การมีวินัยทางการเงินจะช่วยให้คุณหลุดพ้นวิกฤตทางการเงินได้ค่อนข้างดี