จากครั้งที่แล้ว หลังจากได้รู้แล้วว่าการซื้อ LTF/RMF อย่างไรเพื่อที่จะได้ความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป และสบายใจมากขึ้น และการซื้อ RMF ก่อน LTF นั้นก็เป็นข้อดีของการวางแผนเพื่อการเกษียณ รวมถึงยังสามารถเลือกรูปแบบกองทุน RMF ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราได้
ดังนั้นถ้าใครมีเงินก้อน แล้วอยากลงทุนครั้งเดียว ในช่วงปลายปีที่ต้องการลดภาษีแบบเร่งด่วนแบบนี้แล้ว ก็ควรที่จะมีการจัดพอร์ตการลงทุนตามบทความครั้งที่แล้วได้เลย (คลิกที่นี่ครับ) จะได้มีพอร์ตการลงทุนที่ไม่เสี่ยงจนเกินไปครับ
แต่นอกจากวิธีการผสมสัดส่วนกองทุน LTF/RMF ที่เหมาะสมแล้ว วิธีการแบ่งเงินลงทุนก็มีผลเหมือนกันครับ ที่จะช่วยจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ แต่ถ้าซื้อผิดวิธีก็อาจจะต้องขาดทุน หรือลงทุนนานกว่าที่คิดไว้ เพราะว่ามีโอกาสติดดอยกองทุนเหมือนกัน
ดังนั้นในครั้งนี้ ผม หมอนัทแห่งคลินิกกองทุนจะมาชวนท่านนักลงทุนทั้งหลายมาดูกันว่า วิธีการลงทุนด้วยวิธี “DCA” (Dollar cost averging) หรือวิธีการซื้อกองทุนแบบถัวเฉลี่ยนั้น กับการซื้อกองทุนปลายปีสุดคลาสสิกที่ทำกันมาทุกปีนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน
เมื่อเข้าใกล้ช่วงสิ้นปีก็จะมีกระแสการลงทุนลดหย่อนภาษีเกิดขึ้นเสมอๆ ทำให้หลายท่านตื่นตัว…..เอ้ย! ตื่นเต้น !! ในช่วงนี้ จากนั้นก็กลับมานั่งคำนวณว่าจากรายได้ทั้งปีนี้มีแนวโน้มว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วควรจะซื้อ LTF เท่าไหร่ ซึ่งในปีที่ผ่าน ๆ มาคนส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าราคาหน่วยลงทุนในช่วงปลายปีนั้นจะลดลงมาให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะซื้อกองทุนกันปลายปี และบางคนก็ถึงขนาด “แช่ง” ให้ปลายปีดัชนีหุ้นร่วงลงมาเพื่อที่จะได้ ซื้อกองทุน LTF จะได้ราคาที่ถูกกันเลยทีเดียว….ผมก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น #ทีมแช่ง
หรือจริง ๆ แล้ว จะไม่ใช่กันแน่นะ เพราะว่าบางคนก็บอกว่าให้ทยอยซื้อจะดีกว่า เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่หลายคนอาจจะคิดไม่ตกเสียที คือ จะซื้ออย่างไร?
“การทยอยซื้อทุกเดือนหรือซื้อครั้งเดียวช่วงสิ้นปี”
ดังนั้นเรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ เพื่อที่จะได้เห็นภาพกันมากขึ้น
จากเงื่อนไขการลงทุน LTF นั้นต้องถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีจึงจะขายออกได้ ผมจึงทำกราฟมูลค่า หน่วยลงทุน (NAV) ย้อนหลัง 5 ปีของ LTF กองทุนหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2010 - 2014 เพื่อจะได้เห็นภาพความ ผันผวนขึ้นลงจากการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น
รูปภาพ มูลค่าหน่วยลงทุนย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2010 - 2014)
หมายเหตุ : ตัวอย่างกราฟเป็น NAV ของกองทุนเปิดเค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล (K20SLTF)
จากภาพจะเห็นว่าแต่ละปี NAV มีการปรับตัวขึ้นลงตลอดเวลา ถ้าเราไม่ได้มีเวลาในการดูข้อมูลการลงทุน ก็จะทำให้เราจับจังหวะการลงทุนไม่ถูกว่า ช่วงนี้เราควรจะซื้อ LTF ได้แล้วรึยัง เพราะกลัวว่าจะซื้อของแพงไป แต่เมื่อราคาลดลงก็ไม่กล้าซื้อเพราะ กลัวราคาจะลงไปอีก สุดท้ายก็ยังตัดสินใจไม่ได้ทำให้ต้องมาซื้อกองทุนที่สิ้นปีทุกครั้ง
ซึ่งจากสถิติ การซื้อกองทุน LTF ปลายปีนั้น ส่วนใหญ่จะได้ราคาหน่วยที่ราคาแพงครับ มีเพียง 2 ปี จากระยะเวลา 5 ปี เท่านั้น ที่ได้ราคาหน่วยลงทุนที่ถูกกว่าการซื้อต้นปี หรือ ในเดือนอื่น ๆ และถ้าติดตามย้อนหลังไปถึง 10 ปี จะมีเพียง 3 ปีเท่านั้นครับ ที่ซื้อกองทุน LTF ณ สิ้นปีแล้วจะได้ราคาหน่วยลงทุนที่ราคาถูกกว่าการซื้อต้นปี ส่วนการซื้อแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือนนั้น ก็น่าจะได้ราคาหน่วยลงทุนเฉลี่ยที่ถูกกว่าการซื้อที่ปลายปีเพียงอย่างเดียวครับ
ดังนั้นไม่แปลกเลยที่เราจะพบคนชอบบ่นว่า ซื้อกองทุน LTF ทีไรขาดทุนทุกที เพราะเราไปซื้อกองทุนกันปลายปีนี่แหละครับ
แถมการซื้อด้วยเงินก้อนนั้น บางครั้งเราก็อาจจะรู้สึกเสียดายครับ ที่ต้องจ่ายเงินก้อนออกไป แต่เมื่อไม่อยากเสียภาษีสูง ก็ต้องยอม ซึ่งค่อนข้างจะบั่นทอนความรู้สึกเหมือนกันที่ต้องจ่ายเงินเยอะ ๆ เพื่อซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี
ดังนั้นถ้าเราแบ่งเงินเป็นก้อน ๆ หรือ จากหลักการของการออมเงิน คือ รายได้ - เงินออม = รายจ่าย นั้นสามารถนำมาดัดแปลงใช้กับการซื้อ LTF ได้เช่นกัน โดยการสร้างวินัยในการออมเงินที่เก็บก่อนใช้จ่าย ซึ่งการซื้อสะสมทีละนิดนั้นจะทำให้เรามีกำลังใจมากกว่าการซื้อด้วยเงินก้อนโตเพียงครั้งเดียว
ข้อดีของการทยอยซื้อ LTF
- มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
- ลดความผันผวนจากการลงทุนในกองทุนหุ้น
- ไม่ต้องมานั่งกังวลหาจังหวะการลงทุน
- สร้างนิสัยการออม และความมีวินัยในการลงทุน
เพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีก ผมขออนุญาตนำตัวอย่างมูลค่า หน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุน LTF กองหนึ่ง มาคำนวณเปรียบเทียบวิธีการซื้อ 2 แบบว่า การทยอยซื้อทุกเดือนนั้นได้รับผลตอบแทน แตกต่างจากการซื้อครั้งเดียว ในช่วงสิ้นปีได้อย่างไร ซึ่งจะมีวิธีการซื้อ 2 รูปแบบ ดังนี้
- วิธีการซื้อแบบ DCA คือ การแบ่งจำนวนเงินที่เท่ากันซื้อหน่วยลงทุนทุกเดือนหรือ ที่เราเรียกทั่วไปว่า “ซื้อแบบเฉลี่ยต้นทุน” จากตัวอย่างจะซื้อทุกต้นเดือนเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งหมด 60 ครั้ง
- การซื้อครั้งเดียวช่วงสิ้นปี จากตัวอย่างจะเป็นการซื้อวันแรกของเดือนธันวาคม รวมทั้งหมด 5 ครั้ง
รูปภาพ การเปรียบเทียบจำนวนหน่วยลงทุนระหว่าง DCA & การซื้อครั้งเดียว
หมายเหตุ : ตัวอย่างกราฟเป็น NAV ของกองทุนเปิดเค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล (K20SLTF)
จากการซื้อแบบ DCA นั้น หากเดือนไหน NAV มีราคาสูงขึ้นเราก็จะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง แต่ถ้าเดือนไหน NAV ราคาลดลง เราก็จะซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวนที่มากขึ้น จากภาพอาจจะมีบางปีที่ การซื้อแบบ DCA จะได้หน่วยลงทุนน้อยกว่าวิธีการซื้อครั้งเดียวต่อปี แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อครบกำหนด 5 ปี วิธีการซื้อแบบ DCA ก็ยังได้รับหน่วย