ถามหน่อยครับ ถ้าได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ เกิน 20,000 บาท ควรทำยังไงดี?
คำถามเต็มๆ คือ รบกวนสอบถามหน่อยครับ เกี่ยวกับภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ในกรณีเราได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี แปลว่าเราต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่ว่าจะยินยอม หรือไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้สรรพากร ถูกต้องไหมครับ
คำตอบแรก คือ เข้าใจถูกแล้วครับ การที่ ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร เป็นเรื่องที่ต้องแยกคุยกับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ครับ นั่นคือ การส่งข้อมูลให้สรรพากรมีอยู่ 2 กรณี คือ
1. เข้าเกณฑ์รายการธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ที่เป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดให้ส่งข้อมูลให้กับสรรพากร เช่น มีเงินเข้าบัญชีถึง 3,000 ครั้งในระหว่างปี หรือ 400 ครั้งและมียอดเงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งสามารถดูเพิ่มเติมได้ในคลิปด้านล่างนี้ครับ
2. ส่งในกรณีของ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งเป็นข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารมีหน้าที่ส่งให้กับสรรพากร โดยผู้เป็นเจ้าของบัญชีมีสิทธิปฎิเสธการส่งข้อมูลได้ โดยการแจ้งความประสงค์ที่ธนาคาร
ถ้ามองในมุมของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ถามมา ก็มักจะมีคำถามต่อ คือ แล้วการยินยอม และไม่ยินยอม ให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยไปให้ทางกรมสรรพากร มีความแตกต่าง และข้อดีข้อเสีย ยังไงบ้าง?
คำตอบแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้ครับ
1. กรณีปกติ คือ ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี เราจะได้รับสิทธิไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% หากยอมให้ส่งข้อมูลตามปกติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูล ก็จะถูกหักภาษีไว้ 15% ทันที โดยไม่ได้รับสิทธิยกเว้นดอกเบี้ยในส่วนนี้ครับ
2. แต่ถ้ากรณีที่มีดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี การส่งหรือไม่ส่งก็จะถูกหักภาษี 15% อยู่ดี เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้อีกต่อไป
กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ ๒ จากทุกธนาคารรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นเกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดปีภาษีนั้น ให้แจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ (๒) และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละแห่งได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดปีภาษีนั้นให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากนั้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา ๕๐ (๒) และมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 55) |
โดยสรุปแล้ว ความเห็นของพรี่หนอมที่มีต่อกรณีนี้คือ การถูกหรือไม่ถูกส่งข้อมูลในกรณีนี้ ไม่ได้มีผลอะไรครับ เพราะการถูกส่งมันคือการส่งวิธีคำนวณดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งต่อให้ไม่ส่ง กรมสรรพากรก็รู้รายได้ส่วนนี้จากยอดภาษีที่เราถูกหักไว้อยู่ดีครับ แต่ถ้ารู้สึกไม่สบายใจที่จะถูกส่งข้อมูลการคำนวณ ก็ให้แจ้งทางธนาคารว่าไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลส่วนนี้ครับ (อันนี้เป็นเรื่องของความต้องการส่วนบุคคลมากกว่า) แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีนะครับ
ดังนั้น เลือกทางที่สบายใจดีกว่าครับ แต่บอกได้แค่ว่า สุดท้ายแล้วถ้าหากสรรพากรสงสัย ยังไงก็มีวิธีการตรวจสอบเราได้อยู่ดี เพราะอำนาจตามกฎหมายมีไว้ตั้งแต่แรกนั่นเองครับ
สุดท้ายนี้ ถ้าใครชอบบทความแบบนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม