ถ้าเรามีลูกแล้วควรวางแผนเรื่องเงินอย่างไร


วันอาทิตย์ที่ผ่านมาอภินิหารเงินออมต้องการอัพเดทข้อมูลว่าคนที่เคยเปิดบัญชีกองทุนรวมกับวางแผนการเงินว่าชีวิตหลังโควิด-19 นั้นเป็นอย่างไร มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจอยากจะเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้อ่านนำไปปรับใช้กับแผนการเงินของตัวเองนะคะ

 

ปีที่แล้วน้องชายคนนี้มีสถานะโสด จึงวางแผนการเงินให้แบบคนโสดว่าควรจัดการเงินอย่างไร แต่การรีวิวแผนปีนี้น้องแต่งงานและมีลูกที่กำลังจะคลอดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เหตุการณ์ในชีวิตเปลี่ยนไป มันก็ต้องปรับแผนใหม่เพื่อรองรับตัวเล็กที่กำลังจะเกิด เพราะบางอย่างเรารู้ข้อมูลจึงวางแผนล่วงหน้าได้


แนวทางวางแผนเรื่องเงิน 


1. เรื่องสุขภาพของลูก 

ถ้าเป็นข้าราชการ ลูกที่เกิดมาก็จะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ถ้าทำงานบริษัทเอกชนจะมีสวัสดิการประกันกลุ่ม ควรไปสอบถามบริษัทของเราว่าสามารถซื้อเพิ่มให้ลูกได้มั้ย มีความคุ้มครองสุขภาพอะไรบ้าง ต้องใช้เงินเท่าไหร่ 


แต่ถ้าไม่มีสวัสดิการส่วนนี้ ก็มีบัตรทองที่รัฐบาลให้มาอยู่แล้ว แต่ก็รู้กันอยู่ว่าโรงพยาบาลที่จะเข้าไปใช้บริการต้องรอคิวนาน ในขณะที่เวลาลูกป่วย พ่อแม่ร้อนใจทนรอไม่ได้ ทำให้ต้องพ่อแม่ต้องซื้อประกันสุขภาพให้ลูกเอง เพราะเด็กป่วยแต่ละครั้งค่ารักษาค่อนข้างแพง 


ควรหาข้อมูลประกันสุขภาพเด็กเตรียมไว้ก่อน เพราะแต่ละบริษัทมีจุดเด่นแตกต่างกัน ควรเปรียบเทียบว่าความคุ้มครองและเบี้ยประกันของที่ไหนเหมาะสมกับสภาพคล่องของเรามากที่สุด แล้วค่อยติดต่อตัวแทนประกันของบริษัทนั้นๆเพื่อซื้อประกันให้ลูกต่อไป 


มีบางเคสลูกเกิดมามีโรคประจำตัวก็ทำประกันสุขภาพไม่ได้ แบบนี้พ่อแม่ต้องทำใจและตุนเงินไว้เผื่อลูกป่วยด้วยนะคะ แยกเงินออกมาเก็บไว้ที่ที่มีสภาพคล่องจะได้ดึงมาใช้ได้ทันที เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง


2. ค่าเทอมของลูก

พ่อแม่หลายคนวางแผนคร่าวๆไว้แล้วว่าจะให้ลูกเรียนที่ไหน มีค่าเทอมประมาณเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นราคาของวันนี้ เพราะค่าเทอมแพงขึ้นเฉลี่ย 6 - 10% ซึ่งแต่ละโรงเรียนแพงขึ้นไม่เท่ากัน การเตรียมเงินให้ลูกในอนาคตก็ต้องรวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ทำให้รู้ว่าจะต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ 


ตัวอย่าง ตอนนี้ลูกเพิ่งเกิด เก็บข้อมูลไว้ว่าตอนนี้ค่าเทอมปีละ 40,000 บาท ถ้าลูกเข้าเรียนจริงๆแล้วค่าเทอมจะกลายเป็นเท่าไหร่ 

ถ้าเรามีลูกแล้วควรวางแผนเรื่องเงินอย่างไร

ที่มา : https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/2961978843839713


หลังจากนั้นจึงวางแผนว่าจะเก็บเงินให้ลูกอย่างไร สมมติว่าลูกเพิ่งเกิด 

=> อีก 3 ปีจะเข้าอนุบาล เงินต้นควรปลอดภัย ควรเก็บเงินไว้ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากประจำ กองทุนรวมตราสารหนี้ 


=> อีก 18 ปีลูกจะเข้ามหาวิทยาลัย เราให้ผลตอบแทนจากการลงทุนทำให้เงินเติบโตทันกับค่าเทอมที่แพงขึ้น เราจะได้เก็บเงินรายเดือนน้อยลง เช่น กองทุนรวมหุ้นไทย กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ทองคำ อสังหาฯ ฯลฯ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีความรู้เรื่องการลงทุน มีวินัยและลงทุนเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอ


3. เงินสร้างความมั่นใจให้ครอบครัว

พ่อของแอดมินเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ตรวจเจอแล้วไม่เกิน 3 เดือนท่านก็เสียชีวิต แอดมินได้แค่จุดธูปบอกพ่อว่าใบปริญญาโทที่พ่ออยากเห็น เราทำให้สำเร็จแล้วนะคะ 


เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะอยากจะบอกว่าถ้าเราวางแผนการเงินเผื่ออายุยืนแล้ว ควรมีเผื่ออายุสั้นสร้างความอุ่นใจให้ครอบครัวด้วย ถ้าเตรียมไว้ไม่ได้ใช้ในระยะสั้นก็เก็บไว้เพื่อวัยเกษียณของตัวเองได้


เงินก้อนจาก “ประกันชีวิต” สร้างความมั่นใจให้ครอบครัวได้ เพราะเรารู้ตั้งแต่วันแรกว่าครอบครัวจะได้รับเงินเท่าไหร่ มี 3 แบบที่เน้นให้ความคุ้มครองสูง(ทุนประกัน)  คือ ประกันแบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีพ แบบควบการลงทุนเน้นทุนสูง ซึ่งแต่ละแบบมีจุดแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกัน ควรเปรียบเทียบและเลือกให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของตัวเองนะคะ


เราจะทำทุนประกันเท่าไหร่นั้นก็ต้องมาเลือกวิธีคำนวณว่าจะให้ครอบคลุมรายได้ทั้งชีวิตของเราหรือตามความจำเป็น เบื้องต้นควรเป็นตามความจำเป็น แนวคิดคำนวนทุนประกันตามความจำเป็น 

ถ้าเรามีลูกแล้วควรวางแผนเรื่องเงินอย่างไร

ที่มา : https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/3271547259549535


4. เงินเกษียณของตัวเอง

ทุ่มเทให้ลูกแล้วก็ต้องดูแลเงินเกษียณของตัวเองด้วย บางเคสที่แอดมินเจอทำประกันไว้ให้คนข้างหลังแน่นมากๆ แต่ลืมเก็บเงินเกษียณไว้ให้ตัวเอง ลองนึกภาพถ้าลูกเรียนจบ แยกสาขาไปเปิดคอรบครัวใหม่ของตัวเอง ลูกมีภาระหนี้สินของตัวเอง พ่อแม่คิดว่าลูกของเราจะส่งเงินมาเลี้ยงดูเราได้เดือนละเท่าไหร่


บางคนคาดหวังให้ลูกมาเลี้ยงดูโดยไม่เก็บเงินเกษียณของตัวเอง ในขณะที่บางคนไม่ต้องการให้ลูกมาดูแลเพราะลูกก็มีภาระหนี้เยอะ แค่ไม่กลับมาขอเงินก็ดีใจแล้ว จึงเก็บเงินเกษียณของตัวเอง ทั้งสองคนนี้จะมีชีวิตหลังเกษียณที่แตกต่างกัน เพราะคนแรกก็ต้องนั่งรอให้ลูกส่งเงินมาให้ ลุ้นทุกเดือนว่าจะได้เท่าไหร่  ส่วนอีกคนหนึ่งใช้เงินของตัวเองสบายใจกว่า


ตัวอย่าง ตอนนี้อายุ 30 ต้องการใช้เงินหลังเกษียณอายุ 60 เดือนละ 30,000 บาท ควรเตรียมเงินเท่าไหร่และน่าจะมีรายได้จากที่ไหนเข้ามาบ้าง

ถ้าเรามีลูกแล้วควรวางแผนเรื่องเงินอย่างไร

ที่มา : https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/3265480933489501


สุดท้ายเราก็ต้องมาเรียงลำดับเป้าหมายการเงินของตัวเองว่าอะไรสำคัญอันดับ 1 , 2 , 3, … แล้วมาดูว่าแต่ละเดือน เรามีเงินออมเดือนละ……..บาท ถึงจะเลือกได้ว่าควรทำเป้าหมายการเงินอะไรก่อนหลัง ควรเก็บเงินไว้ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ทำตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นระบบแล้วคอยอัพเดทแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งนะคะ


------------

 

PR : 

=> E-book , หนังสือเล่ม วิธีจัดการเงินขั้นเทพฉบับลงมือทำและ Workshop ที่เชียงใหม่กับแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้เลยจ้า https://bit.ly/2Dvegib

.

=> คอร์สสอนเขียนเรื่องการเงิน สร้างรายได้จากการเขียน https://bit.ly/3j7HBPc

 

เพจอภินิหารเงินออม