บทความแรกของ ภาษีธุรกิจ 101 ขอเริ่มต้นด้วยคำถามที่ @TAXBugnoms ได้รับเป็นประจำและสม่ำเสมอทางหน้าแฟนเพจ นั่นคือ “อยากจะทำธุรกิจ แต่ไม่รู้ว่าควรจะเลือกรูปแบบธุรกิจแบบไหนและยังไงดี”
ในปัจจุบัน รูปแบบการทำธุรกิจ มีอยู่ 2 รูปแบบให้เลือก นั่นคือ บุคคลธรรมดา (เจ้าของคนเดียว, ห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคล) และ นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ บริษัท) แต่เชื่อไหมครับว่าจุดเริ่มต้นที่หลายคนเลือกพิจารณาเป็นลำดับแรกกลับกลายเป็นเรื่องของ การประหยัดภาษี!!!!!!!!!!!!!!
หมายเหตุ:
- นิติบุคคล-SMEs คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยจะได้รับอัตราภาษีพิเศษ คือ กำไร 300,000 บาทแรกได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ส่วนกำไรในช่วง 300,000 - 1,000,000 บาทจะเสียภาษีในอัตรา 15% และส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทจะเสียในอัตรา 20%
- นิติบุคคล-ทั่วไป คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ใช่ข้อ 1. จะเสียภาษีในอัตรา 20%
ดังนั้น.. ถ้าเราเปรียบเทียบ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถสรุปถึงความแตกต่างกันดังต่อไปนี้
ถ้ากำไร (รายได้สุทธิ) ไม่เกิน 750,000 บาท ควรเลือกทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา
ถ้ากำไร (รายได้สุทธิ) เกิน 1,000,000 บาทเป็นต้นไป ควรเลือกทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลที่เป็น SMEs
แต่คำถามต่อมาคือ เราควรดูแค่เรืองของ “ภาษี” เท่านั้น จริงๆหรือ?
วันนี้เลยเป็นที่มาของ 3 หัวข้อที่คุณควรรู้ก่อนเลือกรูปแบบธุรกิจ ที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้ครับ
ต้นทุนแฝงในการทำธุรกิจ
การใช้เรื่องของการประหยัดภาษีมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนัก เพราะการประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลยังมีต้นทุนแฝงที่ตามมาอีกมาก เช่น ค่าทำบัญชี ค่าสอบ บัญชี ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่างๆเพื่อประหยัดภาษี (Compliance Cost) ซึ่งอาจจะทำให้ภาระดังกล่าวนั้นสูงกว่าภาษีที่ประหยัดได้ก็เป็นได้ ขอแนะนำให้คำนวณต้นทุนเหล่านี้คร่าวๆ ก่อนตัดสินใจ เพราะบางครั้งทำไปทำมา จ่ายภาษีเพิ่มอาจจะเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่าก็ได้ครับ
การบริหารจัดการที่เหมาะสม
นอกจากเรื่องของต้นทุนแล้ว ยังมีอีกเรื่องคือการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพราะธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลนั้น ต้องมีรายละเอียดมากกว่าทั้งในด้านของบัญชีและภาษีดังนี้
- ต้องมีการจัดทำบัญชีและรับรองโดยผู้สอบบัญชี นอกจากเรืองของค่าใช้จ่ายที่พูดไปในข้อ 1 แล้ว การจัดการเอกสารทางด้านบัญชีต่างๆ รวมถึงการให้ข้อมูลตรวจสอบแก่ผู้สอบบัญชีนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจเหมือนกันนะครับ
- ต้องมีการนำส่งภาษีและรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติม ในการทำธุรกิจรูปแบบนิติบุคคลนั้น ข้อกฎหมายทางด้านภาษีจะซับซ้อนกว่าบุคคลธรรมดา เจ้าของธุรกิจอาจจะต้องรับผิดชอบเรื่องการนำส่งเอกสารภาษีต่างๆเพิ่มเติม เช่น ภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่าย รวมถึงการจัดการเรื่องของประกันสังคมให้กับลูกจ้าง ไปจนถึงงานเก็บเอกสารต่างๆที่ใช้ในการดำเนินงานอีกมากมาย
จากประสบการณ์ของผม อยากจะบอกเลยว่า… ต้นทุนแฝงที่สำคัญที่สุดในการประกอบธุรกิจ นั่นคือ “เวลาของเจ้าของธุรกิจ” ที่ต้องเสียไปในเรื่องการจัดการและดูแลเอกสารด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจเพียงพอ ดังนั้นใส่ใจเรื่องนี้ให้เยอะๆด้วยนะคร้าบ
วิธีคำนวณภาษีที่แตกต่างกัน
ข้อดีอีกข้อของธุรกิจที่ทำในรูปแบบ บุคคลธรรมดา คือ การได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษในหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (สำหรับกิจการบางประเภท) ซึ่งสะดวกและประหยัดเวลาในการคำนวณภาษีมากกว่า เพราะไม่ต้องจัดการเอกสารใดๆ เพียงแค่มีข้อมูลรายได้ครบ และเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา รับประกันว่าจบแน่ แต่ในขณะที่ นิติบุคคล ต้องมีการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงต้องมีการจัดทำงบการเงินที่ผ่านตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต คิดๆแล้วก็ลำบากไม่ใช่น้อยนะครับเนี่ย
นอกจากนั้น … ข้อดีอีกข้อหนึ่งที่ใครร่ำลือกันของธุรกิจในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” นั่นคือความเชื่อที่ว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้สามารถสามารถ “หลบเลี่ยง” ภาษีได้ง่ายกว่าธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลอีกด้วย เพราะพี่สรรพากรตามตัวยากกว่า (แหม่..ว่าเข้าไปนั่น)
สุดท้ายแล้ว.. สิ่งหนึ่งที่ @TAXBugnoms อยากฝากไว้ก็คือ การพิจารณาเลือกรูปแบบธุรกิจในการดำเนินงานนั้น แค่ดูจากเรื่องของภาษีอย่างเดียวคงจะไม่พอ เราควรจะพิจารณาในหลายแง่มุมประกอบกันก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเกิดพลาดขึ้นมา ธุรกิจเราอาจจะมีปัญหาก็ได้ครับ