"บุคคล" จ่ายเงินจ้าง "บุคคล" ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไหม ? คำถามนี้มีหลายคน พรี่หนอมมีคำตอบที่ถูกต้องให้ตรงนี้ครับ โดยเริ่มจาก
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า หลักการของภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ถ้ากฎหมายกำหนดไว้ ผู้จ่ายมีหน้าที่หัก กฎหมายจะกำหนดหลักไว้ 3 ข้อ คือ เงินได้ประเภทไหน ใครมีหน้าที่หัก และหักในอัตรากี่ % ของเงินได้ครับ (ดูคลิปอธิบายได้ที่ด้านล่างนี้ครับ)
ยกตัวอย่างเช่น คำถามว่า ถ้าเราเปิดร้านขายของ จดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา เรามีญาติมาช่วยงานและมีการจ่ายเงินค่าจ้างให้ญาติ แบบนี้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นสรรพากรไหม?
คำตอบ คือ เราเป็นบุคคลธรรมดา ถ้าไปดูกฎหมายที่กำหนดให้บุคคลธรรมดาหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ตามมาตรา 50 (1) กำหนดไว้ว่า
(1) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายตามความในวรรคก่อนไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใดให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี |
โดยการจ่ายค่าจ้างให้ญาติ ถ้าเราจ่ายเป็นเงินเดือน ก็จะไปเข้ากฎหมายมาตรา 50 (1) ที่ว่ามา ดังนั้น การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องคำนวณตามอัตราก้าวหน้าของบุคคลธรรมดา (เหมือนบริษัทจ่ายเงินเดือนตามปกติ)
แต่พอคำนวณแล้ว เราอาจจะไม่ต้องหัก ถ้าพบว่าไม่ต้องเสียภาษี เช่น จ่ายเงินเดือนรวมแล้วไม่ถึง 310,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็นเงินได้สุทธิแล้วไม่ถึง 150,000 บาท
ดังนั้น จะตอบว่าหักหรือไม่ต้องเข้าใจองค์ประกอบทั้งหมดก่อนครับ ถึงจะตอบได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่จำหลักการว่าหักหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้เราพลาดประเด็นสำคัญไปครับผม
เวลาเจอคำถามแบบนี้ ผมมีคำแนะนำสำคัญอยู่ 3 ข้อให้ลองเช็ค คือ
1. เรามีหน้าที่หักภาษีใช่ไหม (กฎหมายกำหนด?)
2. เงินได้กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือเปล่า
3. หักในอัตรากี่ % หรือมีการคำนวณภาษีแบบไหนยังไง ?
ถ้าตอบคำถามพวกนี้ได้ จะเข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่ายและทำได้ถูกต้องมากขึ้นครับผม
สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม