เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ก่อนที่หนังเรื่องฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ จะเข้าฉาย ผมได้รับคำแนะนำจากมิตรสหายบก.ท่านหนึ่ง ให้เขียนบทความภาษีสำหรับฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ เพราะว่ามีฟรีแลนซ์หลายคนยังสับสนในเรื่องของการภาษีหัก ณ ที่จ่าย บทความตอนนี้เลยเป็นบทความที่เขียนมาเพื่ออธิบายสั้นๆเรื่อง "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" ให้ฟรีแลนซ์ทุกท่านเข้าใจโดยทั่วกันคร้าบบ #ฝากแชร์ด้วยนะครับ
โดยบทความนี้จะแยกออกเป็น 3 เรื่องภาษีที่ต้องรู้สำหรับฟรีแลนซ์ในการทำงาน รวมถึงการคำนวณภาษีเงินได้ของตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาของย้อนหลังกับพี่ๆสรรพากร และที่แน่ๆถ้าฟรีแลนซ์ทั้งหลายคำนวณได้ อาจจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ จากเงินภาษีที่ได้คืนเพิ่มขึ้นก็ได้นะครับ
ข้อที่ 1 : รับเงินเมื่อไร มีรายได้เมื่อนั้น
เมื่อไรก็ตามที่ฟรีแลนซ์อย่างเราๆได้รับเงิน นั่นแปลว่า เรามีรายได้ทันที เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยึดตามเกณฑ์ที่เรียกว่า เกณฑ์เงินสด โดยคิดตามเงินที่ได้รับจริงในแต่ละปีเท่านั้น ส่วนงานที่ทำเสร็จแต่ยังไม่ได้รับเงินนั้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีครับ
แต่สิ่งหนึ่งที่ฟรีแลนซ์ทั้งหลายต้องไม่ลืมนอกจากเรื่องของการเสียภาษี นั่นคือการวางแผนการเงินเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งตรงนี้อ่านละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ ฟรีแลนซ์ก็รวยได้ : 5 วิธีเพิ่มรายได้ฟรีแลนซ์เป็น 2 เท่า
ข้อที่ 2 : การหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้แปลว่าจบ
อีกปัญหาหนึ่งที่ฟรีแลนซ์หลายๆคนมักเข้าใจผิด คือ เรื่องของการหักภาษี ณ ทีจ่าย เพราะการที่เราถูกหักภาษีไว้นั้น ไม่ได้แปลว่าเป็นการจ่ายภาษีเรียบร้อยแต่อย่างใด แต่มันเป็นเพียงแค่การนำส่งภาษีไว้ล่วงหน้า และยังมีความหมายแฝงอยู่ในนั้นด้วยว่า พี่ๆสรรพากรรู้แล้วจ้าว่าเรามีรายได้ (แหม่.. ก็เล่นหักภาษีเอาไว้และนำส่งชื่อเราไปขนาดน้านนน ใครไม่รู้ก็บ้าแล้วครับ)
โดยรายได้ที่ถูกหักภาษีไว้ ฟรีแลนซ์อย่างเราๆต้องมีหน้าที่นำไปคำนวณภาษีตอนปลายปีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคำนวณออกมาได้จำนวนภาษีเท่าไร เราค่อยนำภาษีที่ถูกหักไว้จากงานทั้งหมดในระหว่างปีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ และส่วนต่างนั่นคือสิ่งที่เราต้องจ่ายเพิ่ม หรือได้คืนภาษีที่ถูกหักไว้เกินต่างหากครับ!
แต่สิ่งที่ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่บ่นเป็นประจำ คือ ตรูมีรายได้ แต่ดันลืมไปไม่ได้ขอใบหัก ณ ที่จ่ายมาด้วยน่ะสิ บางครั้งก็เป็นเช็ค บางครั้งก็เงินสด แบบนี้เกิดปัญหาตอนปลายปีแน่นอนครับ อย่าลืมว่าต้องตามหาเอกสารมาให้ครบ มิฉะนั้นภาษีที่ถูกหักไว้ก็เอามาใช้ไม่ได้นะเออ!
ข้อที่ 3 : ฟรีแลนซ์บางคนอาจจะต้องยื่นภาษีครึ่งปี
สำหรับฟรีแลนซ์บางคน หากมีรายได้ในรูปแบบธุรกิจที่กฎหมายกำหนดไว้ (ประเภทที่ 5-8) ได้แก่ รายได้จากวิชาชีพอิสระ การรับเหมา หรือ การประกอบในรูปแบบพาณิชยกรรมที่ชัดเจน อาจจะมีหน้าที่เสียภาษีครึ่งปีได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นตรวจสอบเรื่องประเภทรายได้และภาษีครึ่งปีให้เรียบร้อยด้วยนะครับ
หรือวิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดสำหรับฟรีแลนซ์อย่างเราๆ คือ หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย (เรียกสั้นๆ คือ ใบหัก ณ ที่จ่าย) ที่ได้มาตอนที่เรารับเงิน เอกสารตัวนี้จะบอกว่าเรามีเงินได้ประเภทไหน หยิบมากางดูมันให้ชัดว่ารายได้นั้นเรานั้นอยู่ในประเภทที่ 5 - 8 หรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ก็สบายใจได้ว่าเราไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีครับ
สุดท้ายแล้ว บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเตือนใจสำหรับคนที่มีปัญหาภาษีอย่างฟรีแลนซ์ ที่ยังไม่เคลียร์เรื่องภาษี แถมยังต้องเจอะเจอปัญหาเรื่องการจัดการรายได้อยู่เสมอ @TAXBugnoms จึงขอย้ำไว้นะครับว่าไม่ว่าเราจะเป็นฟรีแลนซ์แบบไหน จะห้ามหยุด ห้ามพัก มากเท่าไร แต่สำหรับเรื่องภาษีคงบอกได้คำเดียวว่า “ห้ามพลาด” นะคร้าบบบบ