ไร้เงินสด..แต่ไม่ไร้เงิน


ได้ยินกันบ่อยแล้วกับคำว่า Cashless Society ซึ่งแปลตรงตัวก็คือสังคมไร้เงินสด ก็คือการที่การชำระใช้จ่ายรูปแบบที่ไม่ใช้เงินสด ย้ำ!! ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเงิน แต่หมายถึงการไม่ใช้เงินสด


โดยความสำคัญของเงินสดทั้งธนบัตรและเหรียญจะลดลง การทำธุรกรรมทางการเงินออฟไลน์จะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมที่ก้าวหน้า ซึ่งส่งผลดีต่อทั้ง ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ รวมถึงรัฐบาล คือ

1. กระตุ้นและส่งเสริมปริมาณการใช้จ่าย จากการใช้งานบัตรเครดิตและเดบิต ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น

2. ช่วยลดต้นทุนของรัฐและธนาคารจากธุรกรรมเงินสด เช็คเงินสด และภาระด้านเอกสาร ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันระหว่างประเทศ

3. การจัดเก็บภาษีจากรัฐมีประสิทธิภาพขึ้น จากข้อมูลธุรกรรมย้อนหลัง

4. ลดภาระการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์


ซึ่งก็เป็นสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านลบ สังคมไร้เงินสดก็เช่นกันีผลเสียหรือความเสี่ยงก็คือ

1. ผู้ใช้ต้องยอมแลกความสะดวกสบายกับความเป็นส่วนตัว เพราะธนาคาร ผู้ประกอบการ และรัฐบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้

2. เกิดการบริโภคและบริการเกินความจำเป็น ในระยะยาวอาจส่งผลให้มีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

มีพร้อมเพย์แล้ว..เราพร้อมกับสังคมไร้เงินสดจริงหรอ?


ประเทศแถบยุโรปมีความต้องการยกเลิกการใช้เงินสดอย่างเต็มตัว อย่างประเทศสวีเดนที่เข้าใกล้ความเป็นสังคมไร้เงินสดทุกสุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยข้อมูลจาก Riksbank ธนาคารกลางของสวีเดน พบว่าประชากร 85% สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้ และมีมูลค่าการทำธุรกรรมทั้งหมดเพียง 2% ที่ยังเป็นเงินสด คาดว่าจะลดลงเหลือน้อยกว่า 0.5% ภายในปี 63


ชาวสวีเดียนแค่มีบัตรหรือมือถือที่รองรับการจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่ค่าข้าว ค่าเข้าห้องน้ำ ค่ารถเมล์ แม้แต่เด็ก ๆ ก็ไม่ได้เงินสดจากผู้ปกครองแล้ว แต่ได้เงินโอนผ่านบัตรเดบิตแทน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็ไม่รับเงินสดแล้วด้วย ส่วนโบสถ์ก็เปิดเผยว่ายอดเงินบริจาคส่วนใหญ่โอนผ่านมือถือเกือบทั้งหมด (มีเพียง 15% ที่ใช้เงินสด) แม้แต่ธนาคารของสวีเดนเองก็ไม่มีเงินสดและไม่รับฝากเงินสดแล้ว!!


การพยายามเข้าสู่ Cashless Society ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยสะดวกขึ้น ไม่ได้เป็นไอเดียที่ทำแค่เก๋ ๆ แต่ช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้จริง สามารถช่วยแก้ Pain Point ที่คนไม่ต้องกังวลว่า

“ในกระเป๋าเงินจะมีเงินสดเพียงพอไหม?”

“เราพกบัตรเครดิต, บัตรเดบิต รวมถึงบัตรสะสมคะแนนมาครบทุกใบหรือไม่?”

“เมื่อพกเงินสดเยอะ ๆ กลัวโจร ขโมย หรือทำหล่นหาย”


เพราะแค่สไลด์ปลายนิ้วบนหน้าจอโทรศัพท์ไม่กี่ที เราก็สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าซื้อของ, โอนเงิน, สะสมคะแนน, ซื้อสินค้าออนไลน์, ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต, จองที่พัก ฯลฯ ไปจนถึงการขอคืนภาษีผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แม้แต่ตู้ ATM ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป



พร้อมเพย์ = พร้อมแล้วหรอ?


เมื่อดูโลกแล้วย้อนดูตัวเองบ้าง..กระทรวงการคลังก็เป็นหน่วยงานที่ช่วยให้ไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ด้วยการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดกันด้วยโครงการแมส ๆ อย่างบริการพร้อมเพย์ (Promtpay) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ โอนเงิน ชำระเงิน ด้วยเลขโทรศัพท์หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งมีคนไทยใช้บริการกว่า 33 ล้านคนแล้ว

มีพร้อมเพย์แล้ว..เราพร้อมกับสังคมไร้เงินสดจริงหรอ?

โดยตัวเลขของการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งหมดของคนไทยมีเพียง 20% ซึ่งคนไทยมีบัญชีธนาคารประมาณ 70 - 80% ของจำนวนประชากร ธนาคารพานิชย์จึงหันมาให้ความสำคัญกับการชำระเงินผ่าน QR code จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นจากการแคมเปญของธนาคารพานิชย์เพื่อให้คนมาทำธุรกรรมผ่าน QR Code ที่แข่งขันกันอย่างคึกคัก และเทรนด์ของร้านค้าออนไลน์ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ เติบโตขึ้น ซื้อง่าย ขายคล่องมากขึ้น รวมถึงมาตราการจาก ก.คลัง ส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้วยการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 62 ในช่วงที่ผ่านมา


สิ่งเหล่านี้กำลังค่อย ๆ ทำให้ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งช่วยลดความกังวลและความเสี่ยงเมื่อพกเงินสดติดตัวมาก ๆ และเพิ่มสะดวกสบายคล่องตัวในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกับกลุ่มคน Gen Y, Z รวมถึง Alpha ด้วย

แต่ก็ต้องยอมรับว่าอุปสรรคใหญ่ของประเทศไทย คือ ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อน่าเชื่อถือต่อมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ และกลุ่มคนที่ยังต้องพึ่งพาเงินสดเพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม แบบรู้สึกว่าการได้จับแบงค์จับเหรียญอุ่นใจกว่า 


รวมถึงการกระจายเทคโนโลยีชำระเงินไม่ใช้เงินสดที่ยังไม่ครอบคลุม โอกาสการเข้าถึงไม่เต็มที่ ส่งไปสู่ชนบทอย่างเท่าเทียมดีพอ เพราะเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดการใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดยังจำกัด แค่บางพื้นที่ บางจังหวัดเท่านั้น พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น ถ้าเรากินข้าวแกงร้านป้าข้างทาง แล้วขอ QR เพื่อจ่ายเงินค่าข้าว จะมีแม่ค้าสักกี่คนที่เข้าใจเทคโนโลยีและพร้อมยอมรับการจ่ายเงินในแบบออนไลน์


สุดท้ายแล้วขอฝากว่า Cashless Society จะเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยวิธีการและเครื่องมือการใช้จ่ายเงินที่เปลี่ยนไป แค่เลือกใช้ให้เหมาะและที่สำคัญก่อนที่เราจะมีเงินเพื่อใช้จ่ายออนไลน์ได้นั้น ก็ต้องมีเงินออมเพื่อสร้างยอดเงินในบัญชีซะก่อน หรือไม่ใช่ใช้บัตรเครดิตรูดปรี๊ด ๆ จนเป็นหนี้ครับ





เรียบเรียงในแบบ #aomMONEY

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก

https://moneymail.me/

http://www.forexbonuses.org/

http://www.aseantoday.com/2018/02/thailand-could-go-cashless-within-three-years/



ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก #aomMONEY ทุกช่องทาง ได้ที่

Facebook

Website

Youtube

Line@ : @aommoney