มีรายได้ จะเสียภาษียังไงดี ? จะมีใครส่งยอดบิลมาเรียกเก็บไหม ? คำถามนี้ชวนให้คิดต่อว่า เออ แล้วทำไมเราต้องมีหน้าที่ยื่นภาษีด้วยล่ะ สรรพากรไม่ส่งบิลมาเรียกเก็บเลยทีเดียวตอนสิ้นปี เรื่องนี้ลองมาทำความเข้าใจกันดูครับ

คำถามเต็ม ๆ ของเรื่องนี้ ถามมาว่า ผมมีรายได้ 4.5 เเสน บาทต่อปี โดยผมได้เงินมาหลายช่องทาง คือที่ผมสงสัยคือ ผมจะโดนเก็บภาษีจะโดนหักภาษียังไง คือจะมีบิลรวมยอดภาษี เเต่ละปีส่งมาบ้านของผมมางี้เหรอครับ  เเล้วพอจ่ายเเล้วค่อยยื่นภาษี ???

คำตอบแบบสั้นที่สุดและคมมาก คือ เสียภาษีเป็นหน้าที่ของเรา แต่การตรวจสอบภาษีเป็นหน้าที่ของสรรพากร เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ส่วนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ประเมินภาษี หากผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง 

ถ้าลองดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพิ่มเติม จะเห็นว่าเขียนระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนครับ

มาตรา 56 ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคม ทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งถ้าบุคคลนั้น
    (1) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน ๖๐,๐๐๐ บาท
    (2) ไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา ๔๐ (๑) ประเภทเดียวเกิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท
    (3) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท หรือ
    (4) มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเฉพาะตามมาตรา ๔๐ (๑) ประเภทเดียวเกิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท


มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร 


มาตรา 38 ภาษีเงินได้นี้อยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดนี้


ดังนั้น ถ้าเราประเมินภาษีตัวเองไม่ถูกต้อง หรือประเมินไว้โดยต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วล่ะก็ เจ้าหน้าที่สรรพากรสามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้ตามกฎหมายนั่นเองครับ

คำแนะนำเพิ่มเติม คือ เราต้องรีบยื่นภาษีให้ถูกต้องด้วยตัวเองก่อน อย่ารอใบมาที่บ้าน เพราะบอกเลยว่าใบนั้นจะไม่ใช่การเรียกเก็บภาษีแน่ ๆ แต่คงจะเป็นเอกสารที่พี่สรรพากรเชิญเราไปพบที่สำนักงาน เพราะว่ามีคำถามอยากคุยด้วยนั่นเอง 

นอกจากนั้น อยากให้จำไว้ว่า ทุกครั้งที่ได้เงินมา ถ้าเป็นรายได้จากการทำงาน เกือบ 100% แปลว่าเราต้องเสียภาษีให้ถูกต้องอยู่แล้วครับ

จากคำถามทั้งหมด สรุปได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของภาษีเงินได้เราต้องรีบศึกษาก่อนว่า 

  • ภาษีคำนวณอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง
  • รายได้เราเป็นประเภทไหน - ต้องรู้ให้ชัด
  • ค่าใช้จ่ายของเราหักแบบไหนได้บ้าง - หักตามจริง หรือ แบบเหมา
  • วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างไร - เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด
  • ถ้าเราเข้าใจเรื่องทั้งหมดพวกนี้ ก็สามารถยื่นภาษีได้ถูกต้องครับ



อ้อ.. ก่อนจากกัน อยากฝากบอกไว้สั้น ๆ ว่า 

ใบเสร็จรับเงินจากสรรพากรนี่แหละ
คือ เกราะป้องกันปัญหาภาษีที่ดี ที่สุด

สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม