ช่วงที่ผ่านมามีแฟนเพจ Inbox เข้ามาที่เพจอภินิหารเงินออมสอบถามวิธีจัดการเงิน บางคนจริงจังถึงขั้นปริ๊นเอกสาร “เช็คชีพจรการเงิน” ออกมาอ่านเพื่อจะได้รู้วิธีจัดการเรื่องเงินของตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการแพร่กระจายของวิกฤตไวรัสโควิด- 19  ที่ทำให้หลายคนเห็นความสำคัญของเงินออมและให้ความสำคัญกับการจัดการเงินมากขึ้น


ตอนแรกคิดว่าคาดเดาไปเอง แต่พอมาฟังคลิปของ อ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ในรายการ innovative wisdom ชื่อตอน ปกติใหม่ (New normal) ทางการตลาดหลังโควิด-19 ทำให้รู้ว่านอกจากเรื่องการตลาดที่จะต้องปรับตัวแล้ว มุมมองเกี่ยวกับเรื่องการใช้เงินก็เปลี่ยนไปด้วย  บทความนี้จะมาสรุปสั้นๆ (คลิปฉบับเต็มจะอยู่ในลิงค์ท้ายบทความ) พร้อมกับแนวทางว่าควรเริ่มต้นจัดการเงินอย่างไรนะจ๊ะ 

 

สรุปแนวคิดที่เปลี่ยนไปหลังเกิดไวรัสโควิด-19 


จากเดิมเป็นกลุ่มชนนิยม (Collectivism) 

จะเปลี่ยนเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) 

เมื่อก่อน : คนไทยเป็นกลุ่มชนนิยม (Collectivism) คือ รักษาหน้ารักษาตา ชอบสังสรรค์เข้าสังคม  ชอบทำอะไรเป็นหมู่คณะ ไม่ชอบทำอะไรคนเดียว 

ตอนนี้ : หลังจากเกิดไวรัสโควิด - 19 แล้วต้องพยายามรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นัดเจอกันแบบตัวต่อตัวน้อยลง แต่จะเจอกันแบบออนไลน์มากขึ้น  

แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึันในอนาคต : เริ่มเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) เมื่อออกงานสังคมน้อยลงหรือนานๆออกทีก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกระเป๋าแพงๆ ใบละหลายแสน เกิดนิสัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องรักษาหน้าตา  คนรวมกลุ่มกันน้อยลง จะอยู่เดี่ยวมากขึ้น  ทำให้ธุรกิจที่เน้นสร้างสถานะทางสังคมจะต้องปรับตัวทำการตลาดแบบใหม่ 

 

จากเดิมความคิดระยะสั้น จะเปลี่ยนเป็นระยะยาว 

อาจารย์พูดถึงกลุ่มเจน Y อายุ 23- 39 ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศไทยจะมีแนวคิดที่เปลี่ยนไป 

เมื่อก่อน : สร้างความสุขตอนนี้ (Now Oriented) เป็นระยะสั้น  เช่น ไปคาเฟ่สวยๆ แพงหน่อยก็ไม่เป็นไร แค่ถ่ายรูปสวยแล้วอัพ IG วางแผนว่าจะต้องกินร้านหรู 1 สัปดาห์ละครั้ง ทานอาหารระดับมิชลินสตาร์เดือนละ 1 ครั้ง เงินเก็บไม่มีไม่เป็นไรเพราะหาเงินได้ มันเป็นช่วงของการทำงานเติบโต หาเงินได้อยู่แล้ว ใช้เงินให้เต็มที่ แล้วอนาคตจะดูแลตัวของมันเอง

ตอนนี้ : หลังจากเกิดไวรัสโควิด-19 กลุ่มเจน Y เจ็บหนักสุดเพราะไม่มีเงินเก็บ ต้องอยู่บ้าน บางคนถูกให้ออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน ได้รับเงินเดือนช้า เวลาจะไปซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นก็ไม่มีเงินซื้อเพราะเงินหมดแล้ว จึงย้อนกลับไปคิดทบทวนตัวเองว่าช่วงที่ผ่านมาตัวเองทำถูกรึเปล่า 

เริ่มเปลี่ยนความคิดว่าควรมีเงินเก็บมากขึ้น ควรทำงานสร้างธุรกิจให้หลากหลาย แล้วถามตัวเองว่าทำไมเมื่อก่อนเราสร้างความสุขให้ตัวเองบ่อยครั้งเกินไป สังสรรค์บ่อย ทำไมไม่เคยดูตัวเลขเงินในบัญชีเลย ทำไมถึงคิดว่างานๆเดียวจะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป เพราะการใช้ชีวิตในโลกที่ผันผวนแบบนี้ต้องคิดให้ยาวมากขึ้น

แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึันในอนาคต : คนจะเน้นการเก็บเงินที่ยาวขึ้น ซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพมากขึ้นเพราะรู้แล้วว่าร่างกายที่แข็งแรงจะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ เพราะเมื่อก่อนใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยดูแลสุขภาพ สังสรรค์ให้เต็มที่ เมาหัวราน้ำ จะต้องเปลี่ยนเรื่องการกินว่า นอกจากกินเพื่อความสุขแล้วต้องคิดถึงสุขภาพด้วย คนจะระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น คนให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตมากขึ้น กลายเป็นของจำเป็นเพราะเน้นประโยชน์ระยะยาว 

 


ถ้าต้องการจัดการเงินควรเริ่มต้นอย่างไร?

จากแนวโน้มของอาจารย์ข้างต้น อภินิหารเงินออมก็มาคิดต่อไปว่าถ้าเราต้องการเริ่มต้นจัดการเงินของตัวเองนั้นควรเริ่มอย่างไร เพราะผลกระทบจากการต้องหยุดอยู่บ้าน ทำให้รู้แล้วว่าเงินออมนั้นสำคัญ หากรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะมาถึงเราตอนไหน นอกจากมีเงินออมแล้วควรรู้วิธีจัดการเงินเพื่อรักษาและต่อยอดเงินก้อนนี้ให้อยู่กับเราตลอดชีวิต ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่หรือหมดลมหายใจ ครอบครัวที่เรารักยังสามารถอยู่ต่อได้จากเงินที่เราสะสมไว้

 

3 ขั้นตอนจัดการเงินของตัวเอง 

 

ขั้นตอนที่ 1 การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

  • วันนี้จะใส่เสื้อผ้าชุดไหนดีล่ะ : เราจะต้องเลือกให้เหมาะกับสถานที่ที่เราจะไป เช่น อยู่บ้าน งานแต่ง งานศพ เล่นกีฬา ฯลฯ เพราะแต่ละที่ใส่เสื้อผ้าไม่เหมือนกัน 
  • มีเงินก้อนหนึ่งเอาไปเก็บไว้ที่ไหนดีล่ะ : เราก็ต้องเลือกว่าจะเก็บเงินก้อนนี้ไว้ทำอะไร จะใช้ตอนไหน ถึงจะเลือกวิธีเก็บเงินได้เหมาะสมกับเป้าหมายที่เราจะใช้เงิน

ถ้าเรารู้เป้าหมายของตัวเองก็จะเลือกง่ายขึ้นว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไรหรือเลือกเก็บเงินไว้ที่ไหน แนวทางการตั้งเป้าหมายอยู่ในภาพนี้นะจ๊ะ

มุมมองเรื่องการใช้เงินที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบไวรัสโควิด-19


 

ขั้นตอนที่ 2 เช็คสุขภาพการเงิน

เราจะวิ่งได้ไกลก็ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ตอนนี้สุขภาพการเงินของเรามีเรี่ยวแรงแค่ไหนกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่คิดไว้ 

  • หากใครมีหนี้สินล้นพ้นตัว ชีวิตรับโทรศัพท์เจ้าหนี้มือเป็นระวิง แบบนี้ก็ใช้เวลานานกว่าจะไปถึงเป้าหมายเพราะจะต้องทำให้ชีวิตที่ติดลบออกมาเป็นบวกก่อนถึงจะเดินทางต่อไปได้ 
  • ถ้าตัวเบาปลอดหนี้แล้วก็เริ่มออกเดินทางไปพิชิตความฝันได้เร็วขึ้น

วิธีดูว่าตอนนี้เรามีสุขภาพการเงินเป็นอย่างไร จะต้องดูที่อัตราส่วนทางการเงิน 8 สูตร ทำให้รู้ว่าสภาพคล่อง หนี้สิน เงินออม เงินลงทุนของเราอยู่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อจะได้เรียงลำดับว่าควรแก้ไขปัญหาเรื่องอะไรก่อนหลัง 

หากใครต้องการคำนวณของตัวเองสามารถโหลดเอกสาร “เช็คชีพจรการเงิน” https://bit.ly/33RPYYp จะอธิบายว่าคำนวณอย่างไร ใช้เครื่องคิดเลขทั่วไปคำนวณเองได้ ถ้าทำเสร็จแล้วหน้าตาจะออกมาเป็นภาพข้างล่างฝั่งขวามือ ฟังคลิปการกรอกข้อมูลได้ที่ลิงค์ใต้ภาพ 

มุมมองเรื่องการใช้เงินที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบไวรัสโควิด-19

ที่มา : วิธีกรอกข้อมูลรายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สินในแอพ wealth me pro 

https://youtu.be/-6Apj_kYJDs

 

ขั้นตอนที่ 3 สรุปภาพรวมเพื่อเลือกวิธีเดินทาง

ถ้าเราเห็นภาพรวมการเงินของตัวเองแล้วจะรู้ว่ามีเงินเหลือปีละเท่าไหร่ มีความมั่งคั่งบวกหรือลบ มีจุดอ่อนและจุดแข็งเรื่องการเงินอะไรบ้าง เพื่อรู้ว่าควรเก็บเงินที่ไหนถึงจะทำให้ฝันกลายเป็นจริง เราสามารถคำนวณเองได้ที่เครื่องคิดเลขทางการเงินที่แอพ Financial Calculators เมนู TVM นะจ๊ะ

ตัวอย่าง เรามี 3 เป้าหมาย คือ

1. ไปเที่ยวต่างประเทศอีก 2 ปีข้างหน้า จะใช้เงิน 100,000 บาท เก็บไว้ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง 1.3% ควรเก็บเงินเดือนละ 4,140 บาท (ในภาพกรอบสีฟ้า)

2. สร้างธุรกิจในฝันอีก 4 ปีข้างหน้า เก็บเงินได้เดือนละ 2,000 บาท ที่กองทุนรวมตราสารหนี้ 2% เราจะมีเงินก้อนประมาณ 98,919 บาท (ในภาพกรอบสีฟ้าเขียนคำว่า “อื่นๆ”)

3. ตอนนี้อายุ 30 คาดว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 มีชีวิตถึงอายุ 90 ถ้าต้องการมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท ถ้ารวมเงินเฟ้อและการลงทุนหลังเกษียณแล้ว ควรเตรียมเงินไว้ประมาณ 30 ล้าน (ในภาพกรอบสีส้ม)

 มุมมองเรื่องการใช้เงินที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบไวรัสโควิด-19

ที่มา : อยากใช้ชีวิตในแบบที่ฝันไว้ ควรเก็บเงินอย่างไร

https://youtu.be/gJdfTwnGlBA

 

สุดท้ายเราถึงจะมาเลือกว่าเงินที่เหลือปีละ 125,400 บาท (ในภาพเขียนคำว่า “เงินสดคงเหลือ”) จะเก็บไว้ที่เงินฉุกเฉิน เงินท่องเที่ยว สร้างธุรกิจ เงินเกษียณ จะเฉลี่ยใส่ทุกเป้าหมายหรือว่าเน้นเฉพาะบางเรื่องก็ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเรียงลำดับความสำคัญเรื่องของอะไร 1, 2, 3 ,4 ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางหาคำตอบของคนที่อยากรู้ว่า “มีเงินก้อนหนึ่งแล้วจะเก็บไว้ที่ไหนดี” นะจ๊ะ 

 

แนวความคิดที่เปลี่ยนไปหลังการเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 จะมีปัจเจกนิยมมากขึ้น คือ สามารถอยู่คนเดียวได้ สร้างความสุขได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเจอผู้คนก็ได้ ทำให้จ่ายเงินเพื่อรักษาหน้าตาน้อยลง รวมถึงระมัดระวังการใช้ชีวิต มองระยะยาวมากกว่าระยะสั้นและเห็นความสำคัญเรื่องการเก็บเงินมากขึ้น สำหรับคนที่ต้องการจัดการเงินแบบจริงจัง ควรเริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมาย เช็คสุขภาพการเงินและเลือกวิธีการเดินทางเพื่อให้ชีวิตในแบบที่ฝันไว้นะจ๊ะ 

 

-----------------------------

ขอขอบคุณ : คลิปรายการ innovative wisdom ชื่อตอน ปกติใหม่ (New normal) ทางการตลาดหลังโควิด-19 https://youtu.be/CuhImOzJaS8


ประชาสัมพันธ์ 




อภินิหารเงินออม