"เอาใบกำกับภาษีไหม?" เป็นคำถามที่เรามักจะได้ยินเมื่อไปซื้อสินค้าหรือจ่ายค่าบริการต่างๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วใบกำกับภาษีนั้นถือเป็นเอกสารสำคัญตัวหนึ่งสำหรับคนที่ประกอบธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ สำหรับวันนี้เราจะมาดูกันถึงความหมายของคำว่าใบกำกับภาษีกันว่า มันคืออะไร และอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีบ้าง?


ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ที่เจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำ และออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โดย ใบกำกับภาษีที่ออกโดยเจ้าของธุรกิจจะเรียกว่า ใบกำกับภาษีขาย ส่วนใบกำกับภาษีทีได้รับมาจากการซื้อสินค้าและบริการจะเรียกว่า ใบกำกับภาษีซื้อ

เจ้าของธุรกิจจะต้องนำยอดจากใบกำกับภาษีขายที่ตัวเองเป็นผู้ออกจากการขายสินค้าและบริการ มาหักด้วยยอดจากใบกำกับภาษีที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรต่อไป

สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การไม่ออกใบกำกับภาษี ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และอาจต้องเสียทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วยครับ

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เป็นประเภทหนึ่งของใบกำกับภาษ๊ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำไปเป็นภาษีซื้อได้ โดยต้องมีข่้อความครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” เห็นชัดจัดเต็ม
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของคนขาย
3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของคนซื้อ
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี หรือ เล่มที่ (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

สำหรับข้อความเพิ่มเติมตั้งแต่ 1 มกราคม 2558
- ข้อ 2 และ 3 อย่าลืมระบุว่าเป็น "สำนักงานใหญ่" หรือ "สาขา"
- กรณีข้อ 3 ถ้าผู้ซื้อไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ได้ใช้ใบกำกับภาษี ไม่จำเป็นต้องกรอกเลขประจำผู้เสียภาษีหรือบัตรประชาชน

(ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูป - อัตราภาษีต้องเป็น 7%)

---

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นใบกำกับภาษีอีกประเภทหนึ่งสำหรับธุรกิจที่ขายหรือให้บริการกับคนจำนวนมาก ซึ่งผู้ซื้อไม่สามารถนำไปเป็นภาษีซื้อได้ แต่ผู้ขายยังมีหน้าที่ต้องนำภาษีขายที่เก็บได้มาส่งสรรพากร โดยต้องมีข่้อความครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” หรือ "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ"
2. ชื่อ หรือ ชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี เลขที่ เล่มที่ (ถ้ามี)
4. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
5. ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุว่า "ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว"
6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

อย่าลืมนะครับว่า ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถนำยอดภาษีซื้อมาใช้ได้ แต่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ถ้าหากเป็นการจ่ายที่เกี่ยวข้องการทำธุรกิจ

ถ้าคุณไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้ทำธุรกิจ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ มักจะถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานการจ่ายเงินได้ แต่อาจจะต้องพิสูจน์ที่มาให้ชัดเจนว่าได้มีการจ่ายเงินจริงเช่นเดียวกันครับ

แต่ถ้าคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อให้ใช้สิทธิภาษีซื้อได้ เมื่อคุณได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อ นั่นคือ การขอเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมาแทนในวันเดียวกันที่เกิดรายการ

(ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ)

---

สำหรับธุรกิจที่อยากออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจขอแนะนำเทคนิค 3 ข้อที่ควรทำ
1. รายการในใบกำกับภาษีครบถ้วนที่ถูกต้อง
2. ห้ามเขียนเพิ่ม!! ถ้าออกใบกำกับด้วยคอมพิวเตอร์
3. รายละเอียดต่างๆ ไม่มีขีดฆ่า ไม่มีแก้ไข

ใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้ ถือเป็นใบกำกับภาษีอีกประเภทหนึ่ง แต่จะออกเพื่อ เพิ่มหนี้ และ ลดหนี้ เพิ่มเติมจากใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ได้ออกไว้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ใช้ปรับปรุงราคาที่ผ่านไปแล้วนั้นเอง ซึ่งไม่สามารถออกได้เล่นๆ เพราะต้องมีเหตุแห่งการออกด้วย เช่น เพิ่มราคา หรือลดราคา เพราะความไม่ครบถ้วนของสินค้าหรือบริการ หรือมีการคำนวณราคาผิดพลาด บอกเลิกสัญญา ฯลฯ เป็นต้น

โดยปกติแล้วจะมีข้อความคล้ายกับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เพียงแต่เปลี่ยนช่ื่อเอกสารเป็น "ใบลดหนี้" หรือ "ใบเพิ่มหนี้" ตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่ออกนั่นเองครับ

อีกประเภทหนึ่ง... นั่นคือเอกสารที่ราชการออกให้ถือบางฉบับนั้นถือเป็นใบกำกับภาษีด้วย โดยเจ้าของธุรกิจสามารถนำไปใช้เป็นภาษีซื้อของธุรกิจได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีเอกสารต่อไปนี้

1. ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่ออกให้สำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 (มาตรา 86/14)
2. ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากร (มาตรา 86/14)
3. ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5

จะเห็นว่าเอกสารต่างๆพวกนี้ถือเป็นใบกำกับภาษี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเอกสารที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นอย่าลืมเก็บหลักฐานเหล่านี้ให้ดีทุกครั้งที่ได้รับ และออกให้กับผู้รับเงินอย่างถูกต้องด้วยนะครับ

#พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ

ติดตาม : fb.me/biztaxthai
เพิ่มเพื่อน : https://line.me/ti/p/@biztaxthai