ช่วงที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินข่าวคุณหมอหนุ่มวัย 28 ปี ที่กำลังมีอนาคตไกล ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนเองป่วยเป็น ‘มะเร็งปอดระยะสุดท้าย’ โพสต์ดังกล่าวมีคนแชร์ไปนับหมื่น มีทั้งการให้กำลังใจ ทั้งตกใจกับเรื่องที่ไม่คาดฝันนี้
ก่อนหน้านั้นก็มีกรณีของ ‘คุณนุ๊กซี่’ แฟนสาวของนักร้องดัง ‘ปู แบล็กเฮด’ ที่ด่วนจากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านม กับอายุเพียงแค่ 34 ปีเท่านั้น
เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า โรคร้ายแรงเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องรอให้อายุมาก แม้ว่าร่างกายภายนอกดูเหมือนสุขภาพดี แต่ภายในอาจเจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่าสาเหตุการตายของคนไทยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ โรคมะเร็งทุกชนิด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุทางบก
สำหรับโรคยอดฮิตติดชาร์ตอย่าง ‘มะเร็ง’ นั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลว่า แต่ละปีคนไทยจะกลายเป็น ‘ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่’ ประมาณ 140,000 คน หรือเฉลี่ย 400 คนต่อวันเลยทีเดียว โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวมถึงมะเร็งปากมดลูก
โรคร้ายแรง นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพกายใจ ยังต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาอีกด้วย เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีการแพทย์เฉพาะทาง และรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเราสามารถวางแผนรับมือล่วงหน้าด้วยการทำ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ ได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยเสียก่อน
วันนี้ ‘นายปกป้อง’ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประกันโรคร้ายแรงกันครับ มันคืออะไร? ทุกคนจำเป็นต้องมีจริงหรือไม่? ไปหาคำตอบกันเลยครับ
ประกันโรคร้ายแรง คืออะไร?
ประกันโรคร้ายแรง คือประกันที่มอบความคุ้มครองให้ผู้เอาประกัน หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงตรงกับ ‘ชนิด’ และ ‘ระยะของโรค’ ตามที่ระบุในกรมธรรม์ ผู้เอาประกันก็จะได้รับสินไหมชดเชย อาจเป็นวงเงินค่ารักษาพยาบาล หรือเป็นเงินก้อนแบบ ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ซึ่งเมื่อได้รับผลประโยชน์ตามความคุ้มครองแล้ว สัญญาก็จะจบในปีกรมธรรม์นั้น
รู้หรือไม่? โรคร้ายแรงไม่ได้มีแค่มะเร็ง
เมื่อพูดถึงโรคร้ายแรง หลายคนมักนึกถึง ‘มะเร็ง’ แต่จริง ๆ แล้วชนิดของโรคร้ายแรงมีมากกว่านั้น โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย จัดทำกรอบแนวทางปฏิบัติการกำหนดคำนิยามโรคร้ายแรง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และใช้เป็นแนวปฏิบัติเหมือนกันทุกบริษัท ลดข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้น
คำนิยามโรคร้ายแรงดังกล่าว แบ่งออกเป็น 50 โรค อาทิ โรคมะเร็งระยะลุกลาม โรคมะเร็งระยะไม่ลุกลาม โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง อัมพาตของกล้ามเนื้อแขนหรือขา ตับวาย ไตวายเรื้อรัง เนื้องอกในสมองชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง การสูญเสียการได้ยิน ภาวะโคม่า ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.oic.or.th/th/consumer/241) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ากรมธรรม์ประกันฉบับนั้น ๆ จะให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงชนิดใดบ้าง
ข้อดีของการทำประกันโรคร้ายแรง
- ค่าเบี้ยประกันไม่สูงมาก เฉลี่ยหลักพันบาทต่อปี แต่ให้วงเงินความคุ้มครองสูงถึงหลักล้านบาท ตั้งแต่อายุราว 20-60 ปี (บางบริษัทคุ้มครองถึงอายุ 81 ปี)
- ช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ก็ไม่ต้องควักเงินเก็บออกมาใช้
- ช่วยอุดช่องว่างค่ารักษาพยาบาล หากสวัสดิการที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม หรือวงเงินไม่สูงพอ
- ประกันโรคร้ายแรง และประกันสุขภาพของตัวเอง สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ข้อควรระวังในการทำประกันโรคร้ายแรง
- ประกันโรคร้ายแรงแต่ละกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง ‘ระยะของโรค’ แตกต่างกัน ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะปานกลาง ระยะรุนแรง หรือบางกรมธรรม์ก็คุ้มครองทุกระยะของโรค จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน
- ประกันโรคร้ายแรง มักจะมีระยะเวลารอคอย 90 วัน นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ หมายความว่าถ้าเราป่วยด้วยโรคร้ายแรงในช่วงระยะเวลารอคอย จะไม่สามารถเคลมประกันได้ หรือบริษัทประกันอาจยกเลิกสัญญา แต่ถ้าพ้นระยะเวลารอคอยไปแล้ว ก็จะได้รับความคุ้มครองตามปกติ
- ถ้าเราไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่เคยเคลมประกันจนกระทั่งสิ้นสุดสัญญา ประกันโรคร้ายแรงบางกรมธรรม์จะ ‘ไม่คืนเงินค่าเบี้ย’ ที่เราจ่ายไปทั้งหมด แต่บางกรมธรรม์ก็มีเงินคืนให้ ดังนั้นจึงควรศึกษาเงื่อนไขให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ
ควรซื้อทุนประกันเท่าไหร่?
การรักษาโรคร้ายแรงมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรคทั่วไป ตัวอย่างเช่น ค่าฉายรังสี (ในเวลาราชการ) เพื่อรักษาโรคมะเร็งปอด อยู่ที่ราว 197,600 บาท มะเร็งลำไส้ใหญ่ อยู่ที่ราว 103,000 บาท และมะเร็งปากมดลูก อยู่ที่ราว 144,400 บาท
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ เช่น ค่าผ่าตัด ค่าห้องพักฟื้น ค่าอาหาร ค่ายา ค่าเดินทาง ฯลฯ ดังนั้นถ้าเรามีทุนประกันยิ่งสูงก็ยิ่งเพิ่มความอุ่นใจ โดยเฉลี่ยควรอยู่ที่ 1-2 ล้านบาทขึ้นไป หรือเลือกให้เหมาะสมกับกำลังทรัพย์
‘อโรคยา ปรมาลาภา’ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่ก็เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราอยากปิดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และอย่าลืมทำประกันโรคร้ายแรง เพื่อวางแผนรับมือด้านการเงินด้วยนะครับ
ทั้งนี้หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องประกันภัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line @OICConect รวมถึงกดติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ PR OIC เพื่อรับข้อมูลข่าวสารได้เลยครับ
Source
https://www.tnnthailand.com/news/health/132929/
https://www.chulacancer.net/services-list-page.php?id=514)

บทความนี้เป็น Advertorial