เราเลิกกันเถอะ! คำตอบที่บอกผลลัพธ์สั้นๆ ง่ายๆ แต่เจ็บปวดเหลือเกิน ที่สำคัญคำบอกเลิกนั้นไม่ได้ใช้กับแฟนเท่านั้น หากแต่คือคำปฏิเสธจากงานที่ทำเพราะผลงานไม่เข้าเป้า และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าที่ทัศนคติไม่เข้ากัน เมื่อชีวิตเจอทางตันแบบนี้มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราจะทำอย่างไรดี วันนี้ Creative Salary และพรี่หนอม TAXBugnoms จึงหาวิธีมาช่วยบรรเทาทุกข์ต้อนรับเดือนแรกของปีให้ชีวิตการทำงานของพวกเรามีแต่คำบอกรักมากกว่าคำบอกเลิกกันดีกว่าจ้า
ในมุมของ Creative Salary แล้วการปรับปรุงตัวเองนั้น ควรจะมีแนวทาง 5 ข้อดังนี้
วางเป้าหมายให้เฉียบ
การตั้งเป้าหมายเอาไว้นั้นคือการกระตุ้นตัวเองให้เห็นทิศทางในการทำงานเพื่ออะไรสักอย่าง แต่เป้าหมายเหล่านั้นควรจะเป็นเป้าที่ออกนอก Comfort Zone ด้วยเพื่อเป็นการท้าทายความสามารถตัวเองและทีม
BetterWorks Employee Eentiment Survey มีการเก็บข้อมูลจากการตั้งเป้าหมายพบว่า 92% คนทำงานจะตั้งใจทำงานมากขึ้นเมื่อสมาชิกในทีมได้รับรู้และเห็นทิศทางของเป้าหมายไปทางเดียวกัน
ทักษะเบาๆ นี่แหละสำคัญ
ซอฟต์สกิล (Soft Skill) คือทักษะเชิงความคิด อารมณ์ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องมีติดตัว ทักษะเหล่านี้สามารถฝึกฝนกันได้ด้วยกันหัดฟังผู้อื่นข้อมูลจาก World Economic Forum ชี้ว่าทักษะเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นมากๆ และมันจะเป็น 1 ใน 10 ทักษะจำเป็นในปี 2020 ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ต้องรอถึงปีนั้นหรอก เริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปีนี้เลยจะดีกว่า
เปลี่ยนโลกด้วยคำขอบคุณ
เรื่องแบบนี้โคตรนามธรรม แต่กลายเป็นรูปธรรมทันทีเมื่อมหาวิทยาลัยฟินิกซ์ ได้ทำแบบสำรวจมากกว่า 1,000 คน กับคนทำงานในตำแหน่งทรัพยากรมนุษย์ และคนทำงานในตำแหน่งระดับสูง หากมีการแสดงออกด้วยการพูดว่าขอบคุณจะช่วยทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานด้วยจ้า
ทักทายปัญหาให้เป็นเพื่อนสนิท
แน่นอนว่าการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ่งที่จะปรากฏขึ้นเสมอคือสภาพปัญหาที่ถาโถมเข้ามาท้าทายความสามารถเรา ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่คนทำงานอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นคือการทำความรู้จักกับปัญหาและหัดเป็นนักเจรจาเพื่อการต่อรองในการแก้ไข สิ่งที่จะทำให้เราอยู่เหนือปัญหาในขั้นแรกได้คือการควบคุมอารมณ์ จากนั้นคือการหาทางประนีประนอม และตัดสินใจในการดำเนินการ หากเราก้าวผ่านไปได้เจ้าปัญหาเหล่านั้นจะกลายเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนความกล้าและความเชื่อต่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ๆ ต่อไปได้ในอนาคต
กินขนมแลกไอเดีย
ในองค์กรนวัตกรรมชั้นนำก็มีกุศโลบายอย่างการสร้างมุมกาแฟชิคๆ หรือมุมขนมที่มีอยู่ทุกที่ในออฟฟิศ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานต่างแผนกมีโอกาสได้พบปะกัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกันจากมุมขนม ซึ่งการเกิดขึ้นของจีเมลก็เกิดขึ้นจากมุมขนมในออฟฟิศกูเกิ้ลนั้นแหละ
ส่วนการเปิดโอกาสพูดคุยนั้นมีข้อมูลจาก TinyPulse กับ Microsoft workplace analytic เผยว่าการสื่อสารกันในองค์กรนั้นอย่าไปกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือสิ่งที่เราขาดประสบการณ์ ก็ถามไปตรงๆ อย่าไปกลัวโง่แต่อย่างใด เพราะถ้ามัวแต่กลัวโง่แล้วไปอวดฉลาดมากจนเกินไป นั่นแหละอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการโดนบอกเลิกทั้งหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ก็ได้นะจ๊ะ
ในส่วนของพรี่หนอมเอง เห็นด้วยกับมุมมองตามที่ Creative Salary ว่ามา แต่นอกจากเพิ่มแนวทางปรับปรุงจากภายนอกแล้ว ขอเสริมแต่งไอเดียโดยพาย้อนกลับไปตั้งคำถามจากภายในสั้นๆ เพิ่มเติมอีกสัก 3 ข้อว่า เหตุผลที่คนอื่นไม่หลงรักและอยากบอกเลิกเรานั้น มันเป็นเพราะใครกัน ฉันที่เปลี่ยนไป หรือเธอที่ใจเปลี่ยนแปลง
ย้อนมองดูอดีตของเรา
ลองเปรียบเทียบตัวเองในวันนี้กับวันแรกที่เริ่มงาน ว่าเรามีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และความมุ่งมั่นเหมือนเดิมไหม เพราะบางทีเรานั่นเองที่ค่อยๆเปลี่ยนไปโดยที่ไม่รู้ตัว จากหนุ่มสาวในวันแรกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ แต่วันนี้กลายเป็นคนทีหมดไฟและมีชีวิตอยู่ไปวันๆหรือเปล่า?
สำรวจจุดยืนของตัวเองในปัจจุบัน
ทางตันที่เราเจอ มันเป็นเพราะเราไม่กล้าที่จะเผชิญกับมันด้วยการยึดติดกับภาพเดิมๆที่เคยมี หรือไม่กล้ายอมรับจนกลับกลายเป็นความเบื่อหน่ายและก้าวร้าวให้คนเขาหน่ายใช่ไหม? ถ้าหากเป็นเพราะเช่นนั้น อาจจะแปลว่าเราติดกับดักของคอมฟอร์ทโซนในตัวเองมากเกินไป และสุดท้ายปัญหาร้ายๆทั้งหมดนั้น มันอาจจะเริ่มต้นจากทัศนคติของเราก็เป็นได้
หันมองไปที่มองที่อนาคต
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในชีวิตคนนั้น ถ้าไม่ยึดติดกับอดีตที่ผ่านมา ก็อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเอาอย่างไรกับชีวิต ลองมองเป้าหมายการทำงานของตัวเองชัดๆอีกที ตั้งคำถามว่าชีวิตนี้เราต้องการความสำเร็จด้านการงานแบบไหน และสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเรามีทางที่จะไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการหรือเปล่า
เราเชื่อว่าไม่มีใครทำงานแล้วไม่เกิดปัญหา แต่อย่าลืมว่าปัญหานั้นมันต้องมองดูภาพรวมให้ทั่วกันด้วยว่า มันเกิดจากตัวเราเองล้วนๆ คนอื่นหลักๆ หรือทั้งหมดนั้นมันมักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน
เพราะบางทีความรักดีๆ ที่ได้รับจากคนอื่น อาจจะต้องเริ่มต้นจากการรักตัวเองให้ถูกวิธีก่อนหรือเปล่า?
อ้างอิง:
- https://www.fastcompany.com/3066691/how-to-be-a-better-employee-in-2017
- Work Rule Laszlo Bock