นอกจากนั้นถ้าใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถอ่านบทความที่มีชื่อว่า ไขทุกปัญหา!! ภาษีขายของออนไลน์เพิ่มเติมได้อีกหนึ่งบทความคร้าบบ จะได้เข้าใจกันแบบแจ๋มแจ้งแดงแจ๋กันไปเลย

 

ภาษีสำหรับธุรกิจ ออนไลน์3-04

Mind Map ภาษีสำหรับคนที่มีธุรกิจขายของออนไลน์

 

เอาล่ะคร้าบ!! หลังจากที่ปูพื้นฐานความรู้และแนะนำบทความเก่าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้เรามาดู เคล็ดลับวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์กันบ้าง ครับว่าถ้าอยากจะทำธุรกิจออนไลน์ เราควรวางแผนอย่างไรบ้าง โดยผมขอแนะนำเป็นแต่ละขั้นตอนดังนี้ครับ

 

เริ่มต้นจาก เลือกรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสม โดยปกติการทำธุรกิจนั้นจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล ซึ่งผมขอให้ทางเลือกในการตัดสินใจ 5 ข้อดังนี้ครับ

  • คุณคิดว่าตัวเองเหมาะกับการทำธุรกิจจริงจัง มีฝันไกล เป้าหมายชัดเจน หรือไม่?
  • คุณคิดว่าธุรกิจของคุณต้องจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่?
    (ถ้ายังไม่รู้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร กลับไปอ่านบทความข้างบนอีกครั้งหนึ่งครับ)
  • คุณคิดว่าจะได้ กำไรจากธุรกิจ มากกว่า 2 ล้านบาทต่อปี หรือไม่?
  • คุณคิดว่าตัวเองมีความเข้าใจในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือไม่?
  • คุณยินดีจ่ายต้นทุนแฝงในการจัดการเพิ่มเติม เช่น ค่าบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายด้านเอกสารต่างๆ หรือไม่?

 

ถ้าคำตอบข้างต้น คือ ใช่ ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป คุณควรพิจารณาที่จะเลือกรูปแบบธุรกิจเป็น นิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท เพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ครับ แต่ถ้าคำตอบส่วนใหญ่ออกมาในเชิง “ไม่” หรือ “ไม่แน่ใจ” คุณควรเลือกทำธุรกิจในรูปแบบ บุคคลธรรมดา และเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แทนครับ

 

สาเหตุที่ผมแนะนำแบบนั้นก็เพราะว่า การเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดานั้น ง่ายกว่าตรงที่ เราไม่ต้องจัดเก็บเอกสาร เพราะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตรา 80% ทันที (สำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ซื้อมาขายไปและไม่ได้ผลิตสินค้าเอง) แถมยังไม่ต้องมีต้นทุนแฝงอีกมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเอกสารและบัญชี สุดท้ายถ้าไม่ไหวจะเลิกเมื่อไรก็เลิกได้ไม่ต้องมีปัญหาในการปิดบริษัท เลิกกิจการให้รำคาญใจเล่นครับ

 

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำและย้ำให้แน่ใจอีกครั้ง คือ อย่าเลือกรูปแบบธุรกิจเพราะต้องการเพียงประหยัดภาษีอย่างเดียว แต่จงเหลียวมองต้นทุนอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นบ้าง (อย่างที่ผมได้ถามไปจากคำถามข้างต้นนี่แหละครับ)

 

เมื่อเลือก รูปแบบธุรกิจไปแล้ว เรียบร้อยแล้ว อย่าลืม! จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเรามั่นใจว่าธุรกิจของเรานั้นมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่นอน สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนไม่ว่าเราจะเลือกทำธุรกิจในรูปแบบ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ตามครับ

 

หรืออีกทางหนึ่งก็คือเก็บข้อมูลรายได้ให้แน่นอน ถ้ารู้ว่าเมื่อไรรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทในปีนั้น ให้รีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทครับ (อ้างอิงตามมาตรา 85 /1 แห่งประมวลรัษฎากร)

 

เพราะถ้าหากธุรกิจของเรามีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ดันดื้อหรือไม่ยอมจด สิ่งที่จะต้องเจอ คือ เบี้ยปรับจำนวน 2 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย และยังโดนเงินเพิ่มอีกในอัตรา 1.5% ต่อเดือน

 

โดยเคล็ดลับตรงนี้คือ ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่ๆ เราควรรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำธุรกิจครับ เพราะจะได้สิทธิใช้เครดิตภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าและบริการไปด้วยครับ

 

และลำดับสุดท้ายของการวางแผนภาษี คือ เข้าใจกฎหมาย คลายปัญหา สำหรับขั้นตอนนี้ จะเป็นการแนะนำเรื่องแนวคิดภาษีครับ เพราะคนทำธุรกิจใหม่ๆนั้น มักจะไม่ใส่ใจกฎหมายตั้งแต่แรก แต่กลับไปเลือกให้ความสำคัญความต้องการที่จะเสียภาษีน้อยๆเป็นหลัก (ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่)

 

อาจจะเพราะเราลืมคิดไปว่า การทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกนั้นเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายกว่า เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเจอมานั้น มีหลายๆคนไม่ยอมเสียภาษี จนสุดท้ายโดยประเมินภาษีมากมายเกือบจะต้องปิดธุรกิจและล้มละลายไป ดังนั้นอยากให้หยุดคิดสักนิด ศึกษาให้เข้าใจ ผมเชื่อว่าคนคิดจะทำธุรกิจทุกคนนั้นเก่งอยู่แล้วครับ คงไม่มีอะไรที่จะยากเกินการศึกษาของตัวเองอย่างแน่นอนครับ


สุดท้ายนี้ ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีปัญหาภาษีขายของออนไลน์อยากปรึกษา เชิญแวะมาพูดคุยได้ที่เพจ@TAXBugnoms ครับ และฝากติดตามบทความใหม่ๆทุกสัปดาห์จากเพจ @ภาษีธุรกิจ101 ด้วยนะคร้าบบ

 

ภาษีสำหรับธุรกิจ ออนไลน์3-01