อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะผู้มีเครดิตและแอบยืมเงินในอนาคตอย่าง “บัตรเครดิต” มาหมุนใช้ก่อน ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละเดือนพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับรายรับ และเมื่อถึงกำหนดชำระ เมื่อเงินสดไม่เพียงพอ บางคนก็ต้องใช้วิธีรักษาเครดิตและสภาพคล่องของตัวเอง ด้วยวิธีการ “จ่ายขั้นต่ำ” ไปก่อน… ทาง aomMONEY ต้องขอบอกก่อนนะครับ การจ่ายขั้นต่ำเป็นวิธีที่เราไม่แนะนำ ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีวินัยจ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลาเสมอ เว้นแต่ว่าจะไม่มีสภาพคล่องแล้วจริงๆ และต้องการรักษาเครดิต เราอยากให้ “การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต”เป็นทางเลือกสุดท้ายครับ แม้ในความจริงแล้ว “การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต” ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่เราก็ต้องแบกรับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ “ดอกเบี้ย” และสำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่รู้ว่าถ้าเราจ่ายขั้นต่ำแล้ว จะต้องคำนวณดอกเบี้ยแบบไหน อย่างไร วันนี้ aomMONEY ได้หาวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเมื่อจ่ายขั้นต่ำมาฝากผู้อ่านทุกคนแล้วครับ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันครับ

วิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต

จ่ายขั้นต่ำอัตราดอกเบี้ยที่ 18% ต่อปี การคิดดอกเบี้ยจะถูกคิดเป็น 2 ส่วน คือ
  1. ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย
  2. ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ
ยกตัวอย่าง หากคุณรูดซื้อของในวันที่ 5 เมษายน ด้วยจำนวน 18,000 บาท โดยมีรอบปิดยอดการใช้จ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน พอถึงวันที่ 9 พฤษภาคม เราตัดสินใจจ่ายแค่ขั้นต่ำ 10% เป็นจำนวน 1,800 บาท = เงินต้นจะเหลือ 16,200 บาท
  • ในรอบแรกของบิล “ดอกเบี้ย” ยังไม่ถูกคิด
  • แต่ในรอบเดือนปิดยอดการใช้จ่ายในเดือนต่อไป คือ รอบบิล 25 พฤษภาคม
  • คุณจะโดนคิด “ดอกเบี้ย” ตามนี้ครับ
1. ดอกเบี้ยส่วนแรก คือ ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย
โดยคิดจากวงเงินที่รูดคือ 18,000 บาท นับจำนวนวันในงวด ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 18% ผลที่ออกมา คือ 

จากสูตร : ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย = เงินต้นคงเหลือ X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวันในงวด / จำนวนวัน 1 ปี

? ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย = 18,000 บาท X ดอกเบี้ย 18% X 15วัน / 365 วัน = 133.15 บาท
2.ดอกเบี้ยส่วนที่สอง คือ ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ
ดอกเบี้ยค้างชำระ คิดจากเงินต้นคงเหลือที่จ่ายขั้นต่ำไป คือ 16,200 บาท โดยคิดจากวันที่เราชำระไปคือ 9 พฤษภาคม ถึงวันปิดยอดในรอบล่าสุดคือ 25 พฤษภาคม รวม 17 วัน โดยระหว่างวันดังกล่าวไม่มีการใช้จ่ายเพิ่ม และคิดกับดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20% ออกมาเป็นสูตรดังนี้ 

สูตร : ดอกเบี้ยค้างชำระ = เงินต้นคงเหลือที่จ่ายขั้นต่ำไป X ดอกเบี้ย 18% x (จำนวนวันที่ชำระ-วันปิดยอดในรอบล่าสุด)/ 365 วัน

.? ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ = 16,200 บาท X ดอกเบี้ย 18% X 17 วัน / 365 วัน = 135.81 บาท
 สรุป
จากตัวอย่างที่ aomMONEY ยกมา จะเห็นได้ว่า จำนวนดอกเบี้ยที่เราต้องจ่าย มี 2 ส่วน คือ 1.ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย 133.15 บาท 2.ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 135.81 บาท บวกกับเงินต้นที่ค้างอยู่ 16,200 บาท ? หลังจากที่เราจ่ายขั้นต่ำครั้งแรกในเดือนเมษา รอบบิลเดือนพฤษภาคมต่อมา ยอดที่เราจะต้องชำระ คือ 16,468.96 บาท โดยจำนวนหนี้จะพอกพูนขึ้น หากเรายังทยอยจ่ายขั้นต่ำต่อเดือนไปเรื่อยๆ เพราะเงินต้นไม่ลดลง และท้ายที่สุดหากไม่รีบปิดหนี้เต็มจำนวน ในที่สุดอาจบานปลายไป จนเป็น “หนี้เสีย”
คำแนะนำจาก aomMONEY
การจ่ายเงินขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนทำให้เงินต้นไม่หมดสักที ฉะนั้นข้อคิดที่เราควรจัดการทาง aomMONEY ขอเสนอไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
  1. คิดก่อนรูด ใช้อย่างระมัดระมัง เพราะถ้าจ่ายไม่ไหวจะโดนดอกเบี้ยที่สูง
  2. เวลาใช้บัตรเครดิตทุกครั้ง หักเงินเก็บไว้ในเลยทุกครั้ง (ในบัญชีออมทรัพย์ก็ได้)
  3. จ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลาทุกรอบบิล หลีกเลี่ยงการเจอดอกเบี้ยระยะยาว
  4. วางแผนการชำระให้ดี หากวิกฤตจริงๆ จ่ายขั้นต่ำได้ เพราะเป็นการรักษาเครดิต แต่ควรรีบปิดหนี้ ไม่ทยอยจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ หรือกดเงินออกมาใช้เพิ่ม
สุดท้าย aomMONEY อยากบอกว่าบัตรเครดิตเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกและเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายให้กับเราได้ หากเราเลือกใช้และวางแผนการใช้อย่างรัดกุมและรอบคอบ ส่วนคราวหน้าจะนำบทความด้านการเงินเรื่องใดมาแชร์กัน รอติดตามเราด้วยนะครับ :)

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY

วิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

.

? Website : www.aomMONEY.com

? Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

? กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

.

.