วิธีคำนวณผลตอบแทนที่แท้จริงของแบบประกันง่ายๆ ด้วยตัวเอง
ผมเชื่อว่า หลายๆคนคงเคยเจอปัญหาใช่ไหมครับว่า เวลาที่ต้องมาเปรียบเทียบแบบประกัน หรือเวลาที่อยากรู้ว่า ประกันชีวิตที่เรามีอยู่มันคุ้มค่าเรื่องผลตอบแทนไหม โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่มีเงินคืน เพื่อที่จะหาว่า แบบประกันตัวไหนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด เมื่อเทียบกับเบี้ยที่ต้องจ่ายไป มันจะมีวิธีเปรียบเทียบยังไง? เพราะแต่ละแบบก็มีความแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเบี้ย, ระยะเวลาคุ้มครอง, เงินคืนที่ได้แต่ละปี รวมถึงเงินคืนก้อนใหญ่เมื่อครบสัญญา แล้วแบบนี้ มันจะเอามาเทียบกันยังไง?
หลายคน (รวมถึงวิธีที่บริษัทประกันคิด เวลาแสดงผลประโยชน์รวม) เลยใช้วิธีคิดง่ายๆ ด้วยการรวมเงินคืนทั้งหมดที่จะได้ (เงินคืนแต่ละปี + เงินคืนเมื่อครบสัญญา) ลบ ด้วยเบี้ยรวมทั้งหมดที่จ่ายมา ส่วนที่เหลือคือ "กำไร" หรือผลตอบแทนสุทธิ แล้วก็เอาเจ้าตัวกำไรนี้มาเปรียบเทียบกัน ว่าแบบประกันไหนให้กำไรสูงกว่า ฉันก็เลือกตัวนั้นแหละ
แต่ปัญหาก็คือ วิธีคิดแบบนี้ เราไม่ได้ดูเรื่องของ"มูลค่าเงินตามเวลา" เพราะในความเป็นจริง เงินจำนวนเดียวกัน แต่ถ้าได้รับในระยะเวลาที่ต่างกัน ก็จะมีค่าไม่เท่ากัน (เช่น ถ้ามีคนจะให้เงินเรา 100 บาท แล้วให้เราเลือกว่า จะรับเงินในวันนี้ หรืออีก 20 ปี ข้างหน้า เราควรจะต้องเลือกรับในวันนี้ ไม่ใช่เพราะเราอยากได้เงินเร็วๆ แต่เพราะว่า 100 บาทในวันนี้ อาจจะทำให้เราซื้อข้าวได้ 2 จาน แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า เงิน 100 บาท อาจจะซื้อข้าวได้แค่ 1 จาน เพราะอำนาจของเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ทำให้เงิน 100 บาทเท่าเดิม มีมูลค่าลดลง (เพราะซื้อของได้น้อยลง) นั่นเอง)
ซึ่งวิธีที่จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทน โดยนำเรื่องของมูลค่าเงินตามเวลามาคิดด้วยอย่างถูกต้องได้ ก็คือวิธีการคำนวณหา "อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่แท้จริง" หรือ IRR (Internal Rate of Return) นั่นเองครับ (จริงๆ IRR ไม่ได้แปลตรงตัวว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่แท้จริงหรอก แต่ผมแปลให้เข้าใจได้ง่ายๆเฉยๆ 555)
IRR หายังไง?
ถ้าจะให้สอนจริงๆ คงต้องยกทฤษฎีวิชาคณิตศาสตร์ หรือ Finance มาอธิบาย ซึ่งก็คงจะมีน้อยคนมากที่จะเข้าใจ 555 ดังนั้น เราจะข้ามวิธีการทำความเข้าใจไปว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง แล้วต้องมานั่งคำนวณจากสูตรด้วยตัวเอง ไปยังขั้นตอนวิธีหาคำตอบด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการโยนตัวเลขลงไป แล้วให้เครื่องคิดเลขช่วยคำนวณ หาคำตอบให้เราง่ายๆเลยจะดีกว่า
ซึ่งเครื่องมือที่ผมแนะนำให้นำมาใช้ แบบง่ายที่สุด (โดยไม่ต้องสร้างอะไรเองเลย) ขออนุญาตแนะนำเครื่องมือการคำนวณหาความคุ้มค่าของแบบประกันชีวิต ของ "iTAX Market" โดยการเข้าไปตามลิงค์นี้ครับ :
https://www.itax.in.th/market/check_insurance
โดยผมจะสุ่มประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มาตัวหนึ่ง เพื่อใช้เป็นตัวอย่าง ให้ทุกคนได้ลองทำตามดูนะครับ ซึ่งแบบประกันที่ผมเลือกก็คือ ตัวนี้
เอาล่ะ เมื่อมีแบบประกันแล้ว ก็มาเริ่มกันทีละขั้นตอนเลย!
1. สรุปข้อมูลที่สำคัญของแบบประกันก่อน
ข้อมูลสำคัญที่เราต้องสรุปออกมาให้ได้ก็คือ :
- เป็นประกันชีวิตประเภทไหน? (ถ้ามีเงินคืน และระยะเวลาคุ้มครองไม่ถึงอายุ 90 ส่วนมากก็คือแบบสะสมทรัพย์)
- ระยะเวลาจ่ายเบี้ยกี่ปี? (ดูจาก "ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย")
- ระยะเวลาคุ้มครองกี่ปี? (ดูจาก "ระยะเวลาเอาประกันภัย")
- เบี้ยที่ต้องจ่ายปีละเท่าไหร่? (ดูจาก "เบี้ยประกันภัย")
- ทุนประกันเริ่มต้นเป็นเท่าไหร่? (ดูจาก "จำนวนเงินเอาประกันภัย")
- เงินคืนระหว่างสัญญาเป็นยังไง? (คืนกี่ % ของทุนประกัน (จำนวนเงินเอาประกันภัย) หาได้โดยเอาจำนวน % ไปคูณกับทุนประกันเริ่มต้น, เมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ที่เท่าไหร่บ้าง?
- เงินครบสัญญากี่ % ของทุนประกัน? (ดูจาก "เงินคืนเมื่อครบสัญญา")
(ส่วนเรื่องความคุ้มครอง ไม่มีผลต่อการคำนวณหาผลตอบแทนครับ เรายังไม่สนใจในตอนนี้)
ซึ่งในตัวอย่างแบบประกันนี้ก็คือ :
- แบบสะสมทรัพย์
- ระยะเวลาจ่ายเบี้ย 7 ปี
- ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี
- เบี้ยต่อปี 275,000 บาท
- ทุนประกันเริ่มต้น 1,000,000 บาท
- เงินคืน
2% ของทุนประกัน (20,000 บาท) ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 2-5
3% ของทุนประกัน (30,000 บาท) ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 6-10
4% ของทุนประกัน (40,000 บาท) ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 11-15
5% ของทุนประกัน (50,000 บาท) ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 16-19
- เงินครบสัญญา 187% ของทุนประกัน (1,870,000 บาท) ณ ครบสัญญาที่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 20
2. เข้าไปตามลิ้งค์ https://www.itax.in.th/market/check_insurance เลือก "เพศ"กรอก "อายุ" เลือก "ค้นหาเป็นรายตัว"และเลือกบริษัทประกันชีวิต โดยคลิกที่ช่อง "โปรดระบุ" จะมีตัวเลือกออกมา เราก็เลือกบริษัทประกันของแผนประกันที่เราจะคำนวณ (ตามภาพ)
3. ตรง "ชื่อแบบประกัน"ให้คลิกที่ช่อง "โปรดระบุ"แล้วเลือกตัวเลือก "อื่นๆ"จะขึ้นมาว่า "iTAX ยังไม่มีข้อมูลแบบประกันที่คุณกำลังค้นหา"
4. ตรง "ระบุชื่อแบบประกัน"ก็ให้กรอกชื่อแบบประกันลงไปในช่อง ตามตัวอย่างคือแบบประกันชื่อ "LifeSAVE 20/7" ก็กรอกลงไป
5. ตรง "ประเภทประกันชีวิต"คลิกที่ช่อง เพื่อเลือกประเภทของประกันชีวิตที่เราจะทำการคำนวณ (มีอยู่ 4 ประเภทคือ "คุ้มครองตลอดชีพ" "คุ้มครองตามชั่วระยะเวลา" "ออมทรัพย์" และ "แบบบำนาญ") ในตัวอย่างนี้ก็คือเลือกแบบ ออมทรัพย์ ครับ จากนั้น จะมีตารางต่างๆเพิ่มเข้ามาด้านล่าง
6.ตรง "เบี้ยที่จ่ายต่อปี" ให้กรอกจำนวนเบี้ยที่เราต้องจ่ายต่อปีลงไป (ในตัวอย่างคือ 275,000 บาท) "ทุนประกันที่ได้"ให้กรอกทุนประกันเริ่มต้นลงไป (ในตัวอย่างคือ 1,000,000) "ระยะเวลาจ่ายเบี้ย (ปี)" ให้กรอกตัวเลขจำนวนปีที่ต้องจ่ายเบี้ยลงไปในช่อง หรือกดเครื่องหมาย + - เพื่อเลื่อนจำนวนปีก็ได้ (ในต