สวัสดีครับ กลับมาอีกครั้งกับบทความประจำสัปดาห์ของ @TAXBugnoms ในชื่อเรื่องว่า "วิธีการวางแผนภาษีตามแต่ละช่วงวัย" ซึ่งมีที่มาจากคำถามของคุณ กระแต วรวรรณ ตินะลา จากรายการ Smart Money ทางช่อง Money Channel ที่ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กรกฏาคม 2558ได้ถามไว้ว่า..
ถ้าหากเราแบ่งคนตามช่วงอายุแล้ว การวางแผนภาษีจะมีความแตกต่างกันหรือไม่? ถ้าใครสนใจคำตอบแบบไม่ต้องอ่าน เชิญคลิก รับชมรายการย้อนหลังได้ที่นี่ครับ แต่ถ้าสนใจอ่านเนื้อหาเต็มๆ เชิญต่อด้านล่างได้เลยคร้าบบ
การวางแผนภาษีตามแต่ละช่วงอายุ
ก่อนจะพูดถึงเรื่องของการวางแผนภาษี ต้องอธิบายอีกทีนะครับว่า วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของทุกคนนั้นเหมือนกัน นั่นคือแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ เงินได้สุทธิ และ เงินได้พึงประเมิน ดังนี้ครับ
1. วิธีเงินได้สุทธิ
คำนวณจาก (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ซึ่งเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ หรือเรียกได้ว่าเป็นวิธีหลักทีต้องใช้คำนวณภาษีเลย โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นลดลงตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. วิธีเงินได้พึงประเมิน
คำนวณจาก (รายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.5%) เราจะคิดวิธีนี้ก็ต่อเมื่อเรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวิธีแรก และเลือกจำนวนภาษีที่ต้องเสียภาษีมากกว่า (แหม่.. เอากับพี่สรรพากรเค้าสิคร้าบ)
ดังนั้น ถ้าเราแบ่งการคำนวณภาษีออกเป็นแต่ละช่วงอายุแล้ว จะมีตัวแปรอยู่ตัวหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลง (ตามปกติ) นั่นคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตอนแรกที่เราเริ่มต้นทำงาน รายได้ของเราอาจจะยังไม่มากนัก พอเริ่มวัยกลางคนเพิ่มขึ้นมาอีกสักหน่อย ส่วนวัยเตรียมเกษียณจะถือว่าเป็นช่วงที่มีรายได้มากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามความสามารถกับเงินเดือนเพิ่มไปในทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่เราต้องพิจารณาเรื่องของการวางแผนภาษีในแต่ละวัย มีดังนี้ครับ
วัยเริ่มทำงาน สิ่งแรกที่ต้องรู้เป็นอันดับแรก คือ เราต้องเสียภาษีหรือเปล่า เพราะหลายๆคนเนี่ยมักจะพลาดตรงจุดนี้ คือ คำนวณภาษีไม่เป็น หรือไม่เคยลองคำนวณภาษีของตัวเองเลย มัวแต่คิดว่าจะประหยัดภาษี โดยการซื้อ LTF และ RMF ตามที่เพื่อนๆ หรือรุ่นพี่สอนมา ซึ่งถ้าเราไม่เสียภาษี สิ่งเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลยคร้าบ
พอถึง วัยทำงานหรือวัยกลางคน เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นที่จะต้องเสียภาษีแล้วครับ ทีนี้เราก็จะมีรายจ่ายในการเริ่มต้นสร้างฐานะเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือครอบครัวต่างๆ ทีนี้เราต้องมาดูกันต่อว่าสิ่งที่เราทำเพื่อสร้างฐานะนั้น มีอะไรที่ลดหย่อนภาษีได้บ้าง ตัวอย่างเช่น กู้ซื้อบ้าน ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุดถึง 100,000 บาท
และอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากจะคนในวัยทำงานหรือวัยกลางคนเน้นกัน คือ การวางแผนประหยัดภาษีด้วยการออมเงินด้วย เช่น LTF หรือ RMF ประกันชีวิต ร่วมกับการออมเงินผ่านระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคม อย่าลืมเติมเข้าไปให้ครบถ้วนครับ เพราะสิ่งสำคัญของคนในวัยนี้คื่อการเริ่มต้นเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณนั่นเอง
แต่ ข้อควรระวัง คือ การวางแผนเพื่อประหยัดภาษีของเราต้องทำให้ชีวิตไม่ลำบาก เพราะนอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถ้าเรามัวแต่สนใจเรื่องประหยัดภาษีมากๆ จนชักหน้าไม่ถึงหลังอาจจะลำบากได้ครับ ตัวอย่างเช่น บางทีเราซื้อประกันเต็มที่เลยในปีนี้ แต่ปีต่อไปซื้อไม่ไหว เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะเกินไป แบบนี้ก็เสียดายสิทธิ์ แถมยังต้องคืนภาษีอีกต่างหาก
วัยเตรียมเกษียณ ถ้าเรามีชีวิตอยู่มาถึงตอนนี้ (เอ๊ะยังไง?) โดยปกติภาระต่างๆในชีวิตของเราจะน้อยลง ฐานะก็เริ่มอยู่ตัว หลายๆอย่างก็เริ่มคงที่ ทีนี้สิ่งที่เราควรจะเพิ่มเข้าไปก็คือ การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเกษียณอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มตัวที่ลดหย่อนภาษีด้วยการออมให้มากขึ้นอีกครับ ไม่ว่าจะเป็น RMF หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่ต้องจัดการวางแผนให้พอดีกับช่วงเวลาเกษียณด้วยนะครับ ไม่ใช่อายุ 59 เพิ่งจะมาทำประกันแบบบำนาญ แบบนั้นจะเอาอะไรไปจ่ายล่ะคร้าบ
ทีนี้ วัยเตรียมเกษียณ ต้องระวังเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนใน LTF หรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง มาลงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลดลง เช่น ตราสารหนี้ หรือตลาดเงิน ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาวิธีการปรับพอร์ทการลงทุนที่เหมาะสมของตัวเองด้วยนะคร้าบ
สุดท้ายนี้ นอกจากเรื่องของแต่ละช่วงวัยที่วางแผนภาษีแล้ว สิ่งที่คนในทุกๆวัย ต้องรู้ คือ เราเลือกรายได้ถูกประเภทหรือไม่ เราคำนวณค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องตามประเภทรายได้หรือเปล่า และเรามีค่าลดหย่อนอะไรที่เลือกใช้ได้บ้าง จะได้เลือกใช้ได้อย่างครบถ้วน เพื่อที่เราจะได้ประหยัดภาษีได้อย่างประหยัดและถูกต้องที่สุดคร้าบบ