เมื่อเทคโนโลยีทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที แค่คลิกไม่กี่ครั้งก็เจอสิ่งที่อยากรู้ แล้วทำให้พฤติกรรมการเลือกซื้อของเราเปลี่ยนไป อภินิหารเงินออมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน มีครั้งหนึ่งอยากได้กระเป๋าเป้เตรียมแบ็คแพคไปเที่ยว เดินดูหน้าร้านราคาขาย 1,200 บาท เปรียบเทียบกับร้านค้าออนไลน์ขาย 750 บาทจ้า เห็นแบบนี้อย่ารอช้า กดซื้อทันที มาส่งที่บ้าน จ่ายเงินปลายทาง เรารอได้เพื่อของถูก ^^


การเปรียบเทียบทำให้เราใช้เงินน้อยลงและได้ของดีราคาถูก เรื่องการออมเงินก็เช่นกัน เราเคยชินกับการเปรียบเทียบอยู่แล้ว เช่น

  • ดอกเบี้ยฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ ถ้าที่ไหนให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เราก็นำเงินไปฝากไว้ที่นั่น 
  • เราเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกกองทุนรวมที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุดในขอบเขตความเสี่ยงที่เรารับได้ 

อ้าว!! แล้วประกันชีวิตล่ะจะเปรียบเทียบอย่างไร บทความนี้อภินิหารเงินออมจะมาบอกวิธีเปรียบเทียบแบบประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากที่สุด และที่สำคัญ คือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองนะคะ


ทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง

ประกันชีวิตมีหลายร้อยแบบ แต่แบบไหนล่ะที่เหมาะสมกับเรา บางคนมีตัวแทนหรือนายหน้าประกันดูแลอยู่แล้วคิดว่าจะให้เขาช่วยเปรียบเทียบข้อมูลให้เรา มันก็ทำได้ แต่ถ้าบังเอิญเราไปเจอตัวแทนหรือนายหน้าที่เน้นขายเฉพาะแบบประกันที่ให้ค่าคอมมิชชั่นเยอะๆเท่านั้นล่ะ 

เราก็จะได้แบบประกันที่ให้ค่าคอมกับตัวแทนหรือนายหน้ามากที่สุด แต่ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายการเงินของเรานะจ๊ะ นี่แหละเหตุผลสำคัญที่เราจะต้องรู้วิธีการเปรียบเทียบนี้ด้วยตัวเองนะจ๊ะ


การเปรียบเทียบข้อมูลแบบออนไลน์

จากข้อมูลของ คปภ. ตอนนี้มีบริษัทประกันชีวิต 24 บริษัท(รายชื่อบริษัทอยู่ลิงค์ท้ายบทความ) ในขณะที่เว็บไซด์ของ iTAX มีเปรียบเทียบให้ดู 18 บริษัท หรือประมาณ 75% ของบริษัททั้งหมด แม้ว่าจะไม่ครบทุกบริษัท แต่อย่างน้อยเราจะได้ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปได้ ถ้าต้องการได้ข้อมูลครบก็ไปหาเพิ่มอีก 6 บริษัทที่เหลือเองนะจ๊ะ


รายชื่อบริษัทประกันชีวิตในเว็บไซด์เปรียบเทียบของ  iTAX 

วิธีเลือกแบบประกันชีวิตอย่างง่ายที่ใครๆก็ทำเองได้

ที่มา : https://www.itax.in.th/market


เป้าหมายการเงินของเรา สำคัญที่สุด!!

เราเคยถามเพื่อนมั้ยว่า “กลางวันนี้กินอะไรดี” แล้วเพื่อนตอบกลับมาว่า “กินอะไรก็ได้” เราบอกว่าจะกินก๋วยเตี๋ยว เพื่อนก็บอกว่าไม่กินเพราะเพิ่งกินไปเมื่อวาน จะไปกินข้าวผัด เพื่อนก็บอกว่าไม่กินเพราะเมื่อเช้าเพิ่งกินมา สุดท้ายเราถามเพื่อนกลับไปว่าจะกินอะไร เพื่อนก็ตอบว่า “กินอะไรก็ได้” สรุปว่ากว่าจะได้กินก็จะหมดเวลาพักกลางวันเพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกินอะไร


คราวนี้เอาใหม่ เราบอกเพื่อนว่ากลางวันนี้จะกินส้มตำ ถ้าเพื่อนตกลงก็ไปกับเรา แต่ถ้าเพื่อนไม่อยากกินก็ไม่ต้องไป แค่นี้จบ !! ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะรู้ว่าตอนนี้ต้องทำอะไร ไปที่ไหนและที่สำคัญ คือ ไม่เสียเวลา


การเลือกแบบประกันชีวิตก็เช่นกัน เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่า “อยากได้อะไรจากประกันชีวิต” แล้วค่อยออกตามหาสิ่งที่ใช่ในมหาสมุทรข้อมูลบนโลกออนไลน์ เรื่องประกันชีวิตเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ประกันหลักและประกันสุขภาพ (หรือที่เรียกว่าสัญญาเพิ่มเติม) แนวคิดการเลือกประกันแต่ละแบบสรุปสั้นๆอยู่ในตารางนี้นะจ๊ะ


ประกันหลัก : มีมูลค่าเงินสด

ประกันสุขภาพ : เบี้ยจ่ายทิ้ง ไม่มีมูลค่าเงินสด

  1. แบบชั่วระยะเวลา ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันถูก เสียชีวิตเท่านั้นถึงจะได้รับเงิน (แบบนี้ไม่มีมูลค่าเงินสด)

  2. แบบสะสมทรัพย์ เน้นสะสมเงินและได้รับเงินคืน

  3. แบบบำนาญ เน้นสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณ

  4. แบบตลอดชีพ ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันถูก ถ้าทำประกันสุขภาพ ควรซื้อพ่วงกับแบบตลอดชีพ เพื่อมีค่ารักษายาวๆ

  5. แบบควบการลงทุน แบบประกันที่ยืดหยุ่น ใส่เงินเพิ่มหรือถอนเงินออกมาใช้ได้ แบ่งย่อยออกเป็นหลายแบบ เช่น เน้นความคุ้มครองสูง เน้นสะสมเงินใช้ตอนเกษียณ เน้นสะสมจ่ายค่าเทอมให้ลูก สิ่งสำคัญ คือ ควรเข้าใจความเสี่ยงและมีความรู้เรื่องกองทุนรวม

ประกันสุขภาพแบบทั่วไปและเหมาจ่าย เพื่อดูแลรักษาพยาบาลต่างๆ โรคร้ายแรง เงินชดเชย ฯลฯ มีให้เลือกแบบพ่วงกับประกันหลักหรือซื้อแบบเดี่ยวๆก็ได้



ประกันชีวิตเป็นวิธีการเก็บเงินแบบเดียวที่สร้างวินัยการออมและได้รับความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมกัน ก่อนหน้านี้เรารู้จักแค่แบบ 1 - 4 หลายคนอุ่นใจที่เห็นเงินต้นอยู่ครบ ชอบความเป๊ะของประกันเพราะทำตอนนี้รู้เลยว่าอายุ XX ได้รับเงินคืนกี่บาท ได้เงินก้อนตอนอายุเท่าไหร่ เสียชีิวิตมีเงินก้อนไว้ดูแลคนที่เรารักกี่บาท ในขณะที่หลายคนไม่ค่อยพอใจ เรื่องผลตอบแทนของประกันชีวิตที่ 1 - 3% ต่อปี คิดว่าเก็บเงินที่อื่นทำให้เงินเพิ่มขึ้นเร็วกว่า


สาเหตุที่ผลตอบแทนน้อยเพราะบริษัทประกันนำเบี้ยประกันที่เก็บได้ไปรักษาไว้ในที่ที่ความเสี่ยงต่ำ เน้นเงินต้นปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล เพื่อปิดช่องโหว่ตรงนี้ ประกันชีวิตก็ปรับปรุงใหม่กลายร่างมาเป็นแบบที่ 5 คือ ประกันชีวิตควบการลงทุน ที่เราได้รับทั้งความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมไปพร้อมกัน ตอนนี้ในเว็บไซด์ iTAX มีเปรียบเทียบ 1 - 4 และประกันสุขภาพ ส่วนแบบที่ 5 ยังไม่มีเปรียบเทียบนะจ๊ะ 



การเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับตัวเอง

วิธีเลือกแบบประกันชีวิตอย่างง่ายที่ใครๆก็ทำเองได้


เมื่อเราตั้งโจทย์ชีวิต (เป้าหมายการเงิน) ขึ้นมาแล้วว่าต้องการได้รับอะไรจากประกันชีวิต หลังจากนั้นดูว่าเหมาะสมตรงกับประกันแบบไหน สุดท้ายเปรียบเทียบเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด 

ตัวอย่าง  เราต้องการสร้างเงินบำนาญเป็นรายได้เป๊ะๆหลังเกษียณ เราค้นในเว็บไซด์เพื่อเปรียบเทียบดูว่ามีแบบประกันของบริษัทอะไรบ้างที่น่าสนใจบ้าง มีให้เลือกทั้งแบบเน้นความคุ้มครอง เน้นผลตอบแทนและแบบผสมกัน


วิธีเลือกแบบประกันชีวิตอย่างง่ายที่ใครๆก็ทำเองได้

ที่มา : https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.640806552623632/2290282724342665/?type=3&theater


หลังจากได้แบบประกันที่ใช่แล้วค่อยติดต่อตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อซื้อแบบประกันนั้นๆ  ในขณะที่ประกันบางแบบที่มีเปิดขายช่วงสั้นๆ ก็เลยไม่มีในเว็บเปรียบเทียบ เช่น การจ่ายเบี้ยครั้งเดียว ถ้าเราต้องการได้แบบนั้นก็ต้องไปเดินงานมหกรรมการเงินในบูธของธนาคารแล้วเก็บข้อมูลเปรียบเทียบเอง ใน Excel เพื่อเราจะได้เห็นภาพรวมและตัดสินใจง่ายขึ้น


ตัวอย่าง การเปรียบเทียบประกันสะสมทรัพย์แบบจ่ายครั้งเดียว 1,000,000 บาท เราก็นำตัวเลขเงินคืนของแต่ละปีมาใส่ในช่อง แล้วคำนวณหา IRR เพื่อดูว่าได้รับผลตอบแทนต่อปีเท่าไหร่ (ขณะนี้ทาง คปภ. ได้บอกให้บริษัทประกันแจ้งไปในเอกสารด้วยว่าประกันแต่ละแบบได้ IRR เท่าไหร่) สุดท้ายมาดูว่าเราต้องการเงินคืนแบบไหน 3 ปี , 5 ปี หรือ 10 ปี นะจ๊ะ


วิธีเลือกแบบประกันชีวิตอย่างง่ายที่ใครๆก็ทำเองได้

ที่มา : https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.640806552623632/2293479494022988/?type=3&theater


ถ้าบริษัทไม่ได้แจ้งไว้ในเอกสาร เราสามารถคำนวณเองได้ อภินิหารเงินออมเคยเขียนเกี่ยวกับวิธีคำนวณ IRR ของแบบประกันไว้แล้วที่ บทความ "คำนวณผลตอบแทนจากการซื้อประกันแบบมืออาชีพ" คลิกอ่านได้ที่ลิงค์นี้ http://bit.ly/2YcVBAR นะจ๊ะ บางคนเห็นการคำนวณแล้วท้อใจ เราใจเย็นๆ ค่อยๆอ่านทำความเข้าใจ ให้คิดไว้ว่าคนที่ดูแลผลประโยชน์ของตัวเองได้ดีที่สุด ก็คือ ตัวของเราเองนะจ๊ะ 



ในยุคที่อำนาจการเลือกอยู่ในมือของผู้บริโภคเพราะเราเห็นข้อมูลแล้วนำมาเปรียบเทียบเองได้ แต่จะเลือกอะไรนั้นก็ต้องอยู่บนเป้าหมายการเงินของตัวเองว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการอะไร หลังจากนั้นค่อยเลือกวิธีเก็บเงินที่ตอบโจทย์ชีวิตของเรามากที่สุด อภินิหารเงินออมของให้ทุกคนโชคดี เจอสิ่งที่ใช่และได้สิ่งที่ชอบนะจ๊ะ ^^ 





-------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม

รายชื่อบริษัทประกันชีวิตจาก คปภ.

http://www.oic.or.th/th/consumer/insurance/companies/life/list