สรรพากรประกาศลดอัตราภาษีจาก 3% เหลือ 1.5% แต่อยากจะหักในอัตรา 3% แบบเดิมได้ไหม ? เพราะว่าสะดวกแบบนี้มากกว่า
เป็นหนึ่งคำถามที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ เพราะเป็นหนึ่งในมาตรการภาษีที่กรมสรรพากรออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องมากขึ้นนั่นเองครับ ซึ่งถ้าใครยังไม่เข้าใจหลักการนี้ พรี่หนอมแนะนำให้ลองดูคลิปด้านล่างก่อนครับผม
ทีนี้มาถึงคำตอบของคำถาม ขอตอบสั้นๆ ก่อนว่า "ได้ครับ" เพราะว่าการหักนี้ เป็นการหักในอัตราที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามหักเกินไว้ แต่ประเด็นสำคัญคือ ผู้รับเงินหรือคนที่ถูกหักเขายอมหรือเปล่า?)
เพราะในทางปฎิบัติการหักไว้เกินกำหนด มักจะไม่ปัญหา เพราะว่าเอาไปใช้ได้อยู่ดีตอนยื่นภาษีเงินได้ปลายปี แต่ปัญหาจะตกอยู่กับผู้รับเงินแทน เพราะจะได้รับเงินน้อยลงกว่าเก่า เนื่องจากส่วนที่หักภาษีมากเกินไปนั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แบบนี้ครับ สมมติว่านายบักหนอมมีรายได้จากการรับจ้างทำของจำนวน 10,000 บาท ต้องถูกหักไว้ 1.5% คือ 150 บาท แต่คนจ่ายเงินขี้เกียจขอหักไป 300 บาท
เงินที่นายบักหนอมได้รับนั้นจะลดลงจาก 9,850 บาท เป็น 9,700 บาท ดังนั้น นายบักหนอมได้เงินจากผู้ว่าจ้างน้อยลง
แต่เดี๋ยวก่อน!! คำว่าเงินน้อยลง ไม่ได้แปลว่า รายได้น้อยลงนะ เพราะรายได้นายบักหนอมยังเท่าเดิม คือ 10,000 บาท แต่ถูกหักภาษีไว้มากขึ้นแค่นั้นเองครับ ซึ่งอย่างที่บอกไปครับ ภาษีที่หักไว้มากขึ้นตรงนี้เมื่อเอารายได้ทั้งปีไปคำนวณภาษี ออกมาได้เท่าไร ก็ยังใช้หักได้เหมือนเดิมนั่นเอง
สมมติต่ออีกสักนิด ถ้ากรณีนี้ คำนวณมาแล้ว พบว่านายบักหนอมต้องเสียภาษี 1,000 บาท ถ้าหัก 1.5% ไว้คือมีภาษีถูกหักไว้ล่วงหน้าจำนวน 150 บาท ก็ต้องจ่ายภาษีที่เหลือ 850 บาท แต่ถ้าหัก 3% ย่อมแปลว่าถูกหักภาษีไว้ล่วงหน้า 300 บาทก็ต้องจ่ายภาษีที่เหลือ 700 บาทนั่นเอง แต่ภาษีที่ต้องเสียมันก็คือ 1,000 บาทเหมือนเดิมนี่แหละครับผม
สรุปอีกทีว่า การทำแบบนี้ ไม่ได้เสียภาษีมากขึ้น หรือว่าเสียภาษีน้อยลง แต่มันคือการหักภาษีไว้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดนั่นเองครับ
สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม