เข้าใจความหมายขององค์ประกอบภาษีแต่ละตัวก่อนว่า มีหลักการอย่างไร

รายได้ หรือ เงินได้ คือ สิ่งที่เราได้รับจากการขายของทั้งหมด โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ

ค่าใช้จ่าย มีวิธีคิดสองแบบ คือ คิดแบบเหมา (60%) กับ ตามจริง (มีหลักฐาน) ซึ่งการขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไปจะสามารถเลือกได้ว่าหักแบบไหน

ค่าลดหย่อน คือ รายการที่กฎหมายกำหนดต่างๆ มีหลายสิบรายการ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากhttp://bit.ly/2nwOWMF

ส่วนเงินได้สุทธิคือ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน เป็นตัวที่เราต้องใช้เพื่อคำนวณภาษี 


วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปกติมี 2 วิธี คือ

วิธีแรก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี และ วิธีที่สอง เงินได้ x 0.5%
วิธีนี้คิดเป็นภาษีเลย โดยจะใช้วิธีนี้เมื่อตัวเรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นค่อยเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่าครับ


รายได้ยิ่งมาก ย่ิ่งเสียภาษีเยอะ เพราะว่าอัตราภาษีไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 5-35% ซึ่งจะมาจากการคำนวณตามวิธีที่ 1 หรือ เงินได้สุทธินั่นเองครับ

การวางแผนภาษีจึงพยายามเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มาก (ค่าใช้จ่ายตามจริง) และเพิ่มค่าลดหย่อนที่กฎหมายให้สิทธิ เพื่อให้เราเสียภาษีน้อยลงนั่นเองครับ


วิธีการคำนวณภาษีกรณีซื้อมาขายไป จะเลือกหักเหมา 60% เป็นค่าใช้จ่ายได้เลย หรือเลือกหักตามค่าใช้จ่ายจริงก็ได้ครับ 


วิธีการคำนวณภาษีกรณีที่ไม่ใช่ซื้อมาขายไป จะเลือกหักตามค่าใช้จ่ายจริงได้เพียงอย่างเดียวครับ


สมมติว่า นายหมอนัทแห่งคลินิกกองทุนเปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์สำหรับท่านชายโดยเฉพาะ (เอ๊ะ!! ยังไง)

โดยมีรายได้ตลอดทั้งปี 5,000,000 บาท และตัวหมอนัทเองนั้นยังโสดสนิทศิษย์ส่ายหน้าอยู่ ดังนั้น วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิตามวิธีที่ 1 ของหมอนัทคือ = (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

1) รายได้ของหมอนัท 5,000,000 บาท
2) ค่าใช้จ่ายของหมอนัท 60% x 5,000,000 บาท = 3,000,000 บาท
3) ค่าลดหย่อนส่วนตัวของหมอนัท 60,000 บาท
4) เงินได้สุทธิ จาก 1-2-3 = 1,940,000 บาท
5) ภาษีที่คำนวณได้ (ตามอัตราภาษีก้าวหน้า) คือ 350,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน x 0.5% = 5,000,000 x 0.5% = 25,000 บาท

สรุปว่า...
นายหมอนัทจะต้องเสียภาษีจำนวน 350,000 บาท


สมมติให้รายได้นายบักหนอมเป็นดังนี้
- เงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท
- ขายของออนไลน์ได้เดือนละ 150,000 บาท

เท่ากับว่านายบักหนอมจะมีรายได้รวมทั้งปี คือ
- เงินเดือนทั้งปี 1,200,000 บาท
- รายได้ขายของออนไลน์ทั้งปี 1,800,000 บาท

ส่วนการหักค่าใช้จ่ายปี 2560 นั้น คือ
- เงินเดือนหักได้ 50% ของรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ขายของออนไลน์ เลือกหักค่าใช้จ่าย เหมาไปเลย 60% หรือค่าใช้จ่ายจริง

ดังนั้น เงินได้ - ค่าใช้จ่าย ตามวิธีการคำนวณภาษีจะได้ออกมาเป็น
- ฝั่งเงินเดือน 1,200,000 - 100,000 = 1,100,000 บาท
- ฝั่งขายของ 1,800,000 - 1,080,000 = 720,000 บาท (เลือกหักเหมา)

ดังนั้น (อีกที) เงินได้ - ค่าใช้จ่าย รวมกันก่อนหักค่าลดหย่อนคือ
1,100,000 + 720,000 = 1,820,000 บาท

จากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้วิธีที่ 1 คือ
(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ตอนนี้เราจะได้เหลือตามนี้ คือ (1,820,000 - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

พักไว้สักนิด มาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้ วิธีที่ 2 กันก่อนครับ โดยอย่าลืมว่า วิธีคำนวณภาษีแบบนี้จะถูกเอามาคิดก็ต่อเมื่อ เรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า

จากตัวอย่างที่บอกว่านายบักหนอม เป็นมนุษย์เงินเดือน + ขายของออนไลน์ มีรายได้เงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท และขายของได้เดือนละ 150,000 บาท สรุปได้อีกทีว่า รายได้จากขายของออนไลน์ต่อปีคือ 1,800,000 บาท ซึ่งแปลว่าต้องคำนวณตามวิธีที่ 2 ด้วย เพราะมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาท

โดยวิธีนี้คิดง่ายๆ ก็คือ 1,800,000 x 0.5%
ได้ออกมาเป็นภาษี 9,000 บาท
โอเค... เก็บตัวเลข 9,000 นี้ไว้ก่อน

ทีนี้กลับมาดูกันต่อว่าถ้าจะคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1 จะได้เป็นภาษียังไงเท่าไร ซึ่งตอนแรกที่เราคำนวณไว้จากวิธีการคำนวณคือ (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี จะได้เป็น (1,820,000 - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ถ้าหากนายบักหนอมไม่มีค่าลดหย่อนอะไรเลยทั้งหมด ไม่ได้ซื้อ LTF, RMF หรือประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี แม้แต่น้อย ดังนั้นนายบักหนอมก็ต้องหักได้แค่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว คือ 60,000 บาท จึงทำให้ เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน (เรียกอีกชื่อว่า "เงินได้สุทธิ) เหลือเพียง = 1,760,000 บาท (1,820,000 - 60,000) ทีนี้ก็ต้องคูณด้วยอัตราภาษี 5-35% ได้ออกมาเป็นจำนวน 305,000 บาท

วิธีแรก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ได้ภาษีออกมาจำนวน 305,000 บาท ส่วนวิธีที่สอง เงินได้ x 0.5% ได้ภาษีออกมาจำนวน 9,000 บาท เพราะฉะนั้นต้องเสียตามวิธีที่มากกว่า นั่นก็คือ 305,000 บาทนั่นเองครับ


สำหรับคนที่ต้องการ UPDATE ข่าวสารเรื่องภาษี และต้องการเรียนรู้เรื่องภาษีขายของออนไลน์เพิ่มเติม เชิญมาแลกเปลี่ยนความรู้กันฟรีๆได้ที่กรุ๊ปใหม่ "ภาษีขายของออนไลน์ 2018"

วิธีเข้าร่วมกรุ๊ปมีวิธีง่ายๆ 2 วิธี

1. ทักมาที่ กล่องข้อความเพจ (Send Message) หรือ คลิก http://m.me/biztaxthai แล้วพิมพ์ว่า ภาษีขายของออนไลน์

2. แอดไลน์ @biztaxthai หรือคลิกลิงค์
https://line.me/ti/p/@biztaxthai
แล้วพิมพ์ว่า ภาษีขายของออนไลน์

ความรู้เรื่องภาษีขายของออนไลน์ทั้งหมดที่ได้เรียนในกรุ๊ปลับเมื่อตอนเดือนมกราคม จะถูกโพสในกรุ๊ปตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์เป็นต้นไปครับ

#ภาษีขายของออนไลน์ 
#ภาษีธุรกิจ #พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ