สวัสดีครับ ผม “พรี่หนอม” TAXBugnoms คนดีคนเดิม กลับมาเพิ่มเติมบทความให้กับ #aomMONEY เหมือนอย่างเช่นเคยครับผม กับหัวข้อในวันนี้ “สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 พร้อม UPDATE เรื่องภาษีที่ควรรู้ตลอดทั้งปี” นั่นเองครับ


โดยปกติแล้วบทความนี้จะเขียนขึ้นในตอนใกล้ๆสิ้นปี ซึ่งถ้าใครติดตามผมมาสักพักจะเห็นบทความแนวๆนี้ออกมา 2 ปีติดๆครับ นั่นคือ บทความ 18 รายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2558 พร้อมเทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้  และบทความ สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!


แต่สำหรับปี 2560 นี้ ผมตั้งใจเขียนสรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีออกมาตั้งแต่ต้นปีครับ และต้องการจะแก้ไขเพื่ออัพเดทข้อมูลนี้ให้อ่านกันตลอดทั้งปีครับ


อ๊ะ! หลายคนอาจจะคิดว่าทำเพื่ออะไร ตอบให้เลยก็ได้ครับว่า ทำเพื่อให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนได้อัพเดทข้อมูลอย่างทันเวลา เพื่อจะได้ วางแผนภาษี และ ลดหย่อนภาษี ได้อย่างถูกต้องกันทุกคนครับผม #จะหล่อไปไหม



ถ้าพร้อมแล้ว... อย่าเสียเวลานานกว่านี้อีกเลยดีกว่า เรามาเริ่มกันเลยครับ

 

มาทำความเข้าใจก่อนว่า ค่าลดหย่อนคืออะไร?


ทบทวนกันอีกทีครับว่า ความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ "ค่าลดหย่อนภาษี" คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ครับ


(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี


โดยเราจะเรียกการคำนวณในวงเล็บนี้ว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งวิธีการวางแผนประหยัดภาษีที่เรานิยมกันที่สุด คือ การเพิ่ม “ค่าลดหย่อน” ให้มากที่สุด เพื่อให้เงินได้สุทธิของเราต่ำที่สุด และเสียภาษีน้อยๆนั่นเองครับ

 

สำหรับในปี 2560 นั้น มีการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่นะครับ โดยเปลี่ยนแปลงในส่วนของเงินได้สุทธิที่เกิน 4,000,000 บาท เป็น 5,000,000 บาท ในการเสียภาษีที่อัตรา 35% แทนครับ ตามตารางด้านล่างนี้ครับ

สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 + UPDATE ตลอดทั้งปี!!!


จากสมการและตารางข้างบน แสดงให้เราเห็นว่า การมีค่าลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นจะทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะทำให้เงินได้สุทธิน้อยลงนั่นเองครับ ซึ่งในปี 2560 นี้ มีรายการค่าลดหย่อนที่เปลี่ยนแปลงไปหลายตัวครับ แต่พรี่หนอมยังคงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเหมือนเดิม เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นตามนี้ครับ



กลุ่มที่ 1
ค่าลดหย่อนส่วนตัว + ครอบครัวและการเป็นคนดีศรีสังคม



สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 + UPDATE ตลอดทั้งปี!!!


สำหรับค่าลดหย่อนภาษีในกลุ่มแรกนี้ จะเป็นภาระต่างๆรอบตัวเราครับ ซึ่งเป็นรากฐานที่ติดตัวมาเรื่อยๆ เพียงแค่เรามีคุณสมบัติเหล่านี้ เราก็สามารถใช้สิทธิ์ได้ฟรีๆเลยล่ะครับ


1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท (ปรับปรุงใหม่จากเดิม 30,000 บาท) คือ ค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ



2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท (ปรับปรุงใหม่จากเดิม 30,000 บาท) คือ ค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ



3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท (ปรับปรุงจากเดิม 15,000 บาทและ 17,000 บาท) โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะทีมีชีวิต) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ


  • บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
  • ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
  • บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล)



4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่จำนวน 15,000 บาท ตรงนี้เน้นว่า ต้องเป็น เบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ


5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาทครับ

แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ใน กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้นนะครับ

สำหรับเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วครับ


สำหรับรายละเอียดในข้อ 4 และ 5 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 2 วิธีลดหย่อนภาษีสำหรับลูกกตัญญู! ครับผม เพื่อจะได้ไม่ตกหล่นในรายละเอียดครับ


6. ค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพจำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะครับ

และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (60,000 + 60,000)


กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนจากสินทรัพย์
และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ


สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 + UPDATE ตลอดทั้งปี!!!


สำหรับกลุ่มที่ 2 นี้เป็นค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นจากการมีสินทรัพย์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงสิทธิลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งเราสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เช่นเดียวกันครับ มาดูกันต่อเลยดีกว่าครับว่าในปี 2560 นั้นมีเหลือรายการค่าลดหย่อนอะไรบ้างครับ


7. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย จำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คน จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิได้คือ 100,000 และแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาทครับ

อย่าลืมนะครับว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ครับ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาทครับ ผมใช้สรุปง่ายๆว่า มองภาพรวมต่อบ้าน แล้วค่อยหารต่อคนครับ นั่นคือ บ้าน 1 หลังใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตัวนี้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท และคน 1 คนก็ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกันครับ


สำหรับเรื่องบ้าน ผมเคยเขียนบทความยาวๆ ให้อ่านกันที่บทความนี้ครับ "ครบทุกเรื่องภาษีที่ต้องรู้.. สำหรับคนมีบ้าน!" เริ่มตั้งแต่ซื้อบ้านไปจนถึงขายกันเลยทีเดียว


8. ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท (เน้นว่า...ค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นสิทธิต่อเนื่องจากการซื้อบ้านหลังแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้นนะครับ) เป็นค่าลดหย่อนสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
  • ใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี
  • ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย


สำหรับเรื่องบ้านหลังแรกนี้ ถ้าหากใครอยากเช็ครายละเอียด ผมมีบทความยาวๆ มาฝากกันอีกแล้วครับ กับ สรุปจบ! ครบทุกเงื่อนไข “บ้านหลังแรก” อ่านครั้งเดียว.. รู้เรื่อง!


9. ค่าลดหย่อนกรณีซ่อมแซมบ้านและรถที่เสียหายจากน้ำท่วม บ้าน 100,000 บาท รถ 30,000 บาท สำหรับตัวนี้เป็นค่าลดหย่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นครับ โดยหลักการลดหย่อนแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ครับ


กรณีน้ำท่วมภาคใต้ตอนต้นปี 2560

  • กรณีซ่อมบ้าน ต้องเป็นบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึง 31พฤษภาคม 2560 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท และต้องจ่ายค่าซ่อมภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560
  • กรณีซ่อมรถ ต้องเป็นรถที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึง 31 พฤษภาคม 2560 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงสูงสุด 30,000 บาท และต้องจ่ายค่าซ่อมภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เช่นกันครับ และต้องเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกครับ

กรณีน้ำท่วมภาคอีสานตอนกลางปี 2560 (ยังไม่ประกาศเป็นกฎหมาย ณ เดือนสิงหาคม)

  • กรณีซ่อมบ้าน ต้องเป็นบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท
  • กรณีซ่อมรถ ต้องเป็นรถที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงสูงสุด 30,000 บาท และต้องเป็นรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกครับ

10. ค่าลดหย่อนช็อปช่วยชาติ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยเป็นการซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศไทยจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อที่น่าสนใจตามนี้ครับ

1. จำนวนเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด คือ 15,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2. ระยะเวลาการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560
3. หลักฐานคือ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป”


กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนที่เป็นการออมเงินและลงทุน


สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 + UPDATE ตลอดทั้งปี!!!

สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่งครับ ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนก็ตาม


โดยส่วนตัวผมขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีนะครับ เอาล่ะ มาดูกันกับค่าลดหย่อนในกลุ่มที่ 3 กันเลยดีกว่าครับ


10. ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท


11. เบี้ยประกันชีวิต มี 2 ประเภท คือ

  • ประกันชีวิต (แบบทั่วไป) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันชีวิต (แบบบำนาญ) ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้นในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ

สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันได้เลยครับ หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จำนวนเท่าไหร่ครับ หรืออ่านบทความนี้เพิ่มเติมได้ครับ เจาะลึกทุกเงื่อนไข!! ทำประกันเพื่อลดหย่อนภาษี แบบไหนให้ไม่มีปัญหา

พิเศษ สำหรับปี 2560 นั้น ยังมีค่าลดหย่อนสุขภาพอีกตัวหนึ่งครับ ที่เพิ่งประกาศมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยคำว่า ประกันสุขภาพ หมายความถึง 

• ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
• ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
• การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
• การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ใช้สิทธิลดหย่อนได้ ในส่วนที่จ่ายเป็นค่าประกันสุขภาพให้กับบริษัทประกันในประเทศสูงสุด 15,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนประกันชีวิตที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทครับ


12. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้ครับ

  • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
  • ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้

 

13. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินด้วยครับ สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 31 ธันวาคม 2562 ครับ


14. กองทุนการออมแห่งชาติ กำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทครับ



15. เงินสะสมกองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท


สำหรับกลุ่มนี้... จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทครับ

 

กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค


สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 + UPDATE ตลอดทั้งปี!!!


สำหรับกลุ่มสุดท้ายนี้ คือ เรื่องของการให้ครับ เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านเรื่องราวดีๆไปให้กับคนอื่นที่ขาดแคลน และการที่เราเป็นคนดีแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมครับ


โดยเงินบริจาคในกลุ่มที่ 4 นี้จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ ซึ่งจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ



จากสมการ

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี


จะกลายเป็น

[(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี


ในปัจจุบันเงินบริจาคจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ครับ

16. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและช่วยเหลือสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆแล้ว

โดยการบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมนอกจากการศึกษา ยังมีอีกหลายตัวครับ เช่น เรื่องของกีฬา คนพิการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไว้มีโอกาสจะเขียนเล่าเรื่องนี้อีกทีนะครับ (ติดไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วล่ะครับ ฮ่าๆ)


17. เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็นสองเท่าแล้วครับ


แต่เดี๋ยวก่อน!!! ในปี 2560 จะมีเงินบริจาคอีกตัวหนึ่งครับ นั่นคือ…


18. เงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้และภาคอีสาน สำหรับการ บริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 และ บริจาคระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ครับ โดยเราสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ครับ ใครที่มีการบริจาคในระหว่างนี้อย่าลืมเก็บหลักฐานเอกสารต่างๆไว้ด้วยนะครับ


เอาล่ะครับ... ทั้งหมดนี้ คือ Checklist ที่ผมตั้งใจเขียนขึ้นมา และตั้งใจว่าจะอัพเดทอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี หากว่ามีรายการค่าลดหย่อนภาษีตัวใหม่ๆเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อจะได้ช่วยแนะนำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนตรวจสอบก่อนที่จะคำนวณภาษีหรือยืนแบบแสดงรายการภาษี และช่วยในการวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องครับ


สำหรับคนที่สนใจเรื่องแนวคิดการวางแผนภาษีในปี 2560 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ผมกำลังจะเขียนบทความอธิบายเรื่องนี้แบบยาวๆให้อ่านกันครับ เพราะภาษีไม่ใช่มีแค่รายการค่าลดหย่อนภาษีเท่านั้น จริงไหมครับ...

ยังไงฝากกดติดตามได้ที่แฟนเพจ TAXBugnoms เพื่อไม่ให้พลาดทุกบทความใหม่ๆของผมด้วยนะคร้าบบบ