คำถามในตอนนี้มีอยู่ว่า เราจะลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกลดยังไง ลดแบบไหนได้บ้าง แต่จริงๆสิ่งสำคัญ คือ การทำความเข้าใจความหมายของคำว่า "บ้านหลังแรก" ให้ถูกต้องเสียก่อน
แต่ก่อนจะไปเข้าใจ ต้องขอแสดงความเสียใจก่อนว่า ณ เดือนมิถุนายน 2563 รายการ ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 ยังไม่มีประกาศให้สิทธิค่าลดหย่อนตัวนี้นะครับ
แบบไหนถึงเรียกว่า "บ้านหลังแรก"
และสิทธิลดหย่อนภาษีเป็นแบบไหน?
ใช่แล้วครับผม เวลาได้ยินคำว่า "ลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก" หลายคนจะมีคำถามตามมาว่า แบบไหนคือบ้านหลังแรก เช่น
- ถ้าเคยซื้อบ้านหลังแรกแล้วขายไปต่อมาซื้อบ้านหลังใหม่ แบบนี้บ้านหลังใหม่ถือเป็นบ้านหลังแรกไหม? เพราะเราไม่มีบ้านอยู่แล้วนะ เพิ่งซื้อมาสดๆร้อนๆเลย
- ถ้าพ่อแม่ยกบ้านให้เป็นมรดก ต่อมาซื้อบ้านใหม่เอง แบบนี้ถือเป็นบ้านหลังแรกไหม? เพราะเราไม่เคยเป็นเจ้าของบ้านเอง แต่พ่อแม่ดันมายกมรดกให้ แบบนี้ได้หรือเปล่า
- ถ้าซื้อบ้านร่วมกับสามี ภรรยา ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อน ญาติ ฯลฯ โดยให้เป็นชื่อร่วมกัน แล้วไปซื้อบ้านใหม่ แบบนี้ยังได้สิทธิบ้านหลังแรกหรือเปล่า
เพื่อให้เข้าใจ ผมอยากแบ่งปันหลักการดูง่าย ๆ คือ บ้านหลังแรก แปลว่า เราต้องไม่เคยมีบ้านมาก่อน ถ้าเคยมีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะได้มาแบบไหนยังไง ไม่ว่าจะขายไปแล้วหรือให้คนอื่น หรือมีชื่อร่วมกับใครก็ตาม ย่อมถือว่าเคยมีบ้านหลังแรกเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกนี้ได้
ทีนี้มาขยายความกันต่อเรื่อง บ้านหลังแรกอีกสักนิด นิยามคำว่า บ้านหลังแรกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านมือหนึ่ง จะเป็นบ้านมือไหนมาจากใครก็ได้ ขอให้เราไม่เคยมีแค่นี้ก็พอแล้ว
ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ ลองแทนคำว่า "บ้าน"
ด้วยคำว่า "ผัว" หรือ "เมีย" ดูครับ
ถ้าเคยมีผัวหรือเมียแล้วแม้ว่าจะเลิกไป หย่า หรือไม่ดูแล การมีผัวหรือเมียใหม่ก็ไม่ใช่คนแรกอยู่ดี เพราะเรา "เคยมี" แล้วนั่นเอง แต่ถ้าผัวหรือเมียของเรานั้น เคยเป็นผัวหรือเมียเก่าคนอื่นมาก่อน แต่ขอให้เป็นคนแรกของเรา แบบนี้ก็ถือว่าเป็น "คนแรก" นั่นเอง
นี่คือหลักการเดียวกันกับบ้านหลังแรก ดังนั้นก่อนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนนี้ ต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานตรงนี้ให้ชัดเจนก่อนครับ
โดยค่าลดหย่อนที่ว่า ไม่ใช่การลดจำนวนภาษี และมักจะมีเพดานกำหนดไว้ให้ใช้สิทธิ เช่น บ้านต้องราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท (สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2562) ซึ่งหลักการตรงนี้ก็ไม่สามารถใช้การหารสอง หรือ หารจำนวนคนได้ เช่น ซื้อบ้านราคา 6 ล้านแต่ซื้อร่วมกัน แบบนี้ก็ถือว่าเป็นการซื้อบ้านที่มีมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาทอยู่ดี
ส่วนสิทธิ์ลดหย่อนภาษีนั้น มักจะมีข้อกำหนดและเงือนไขไม่ให้ขายบ้านก่อนเวลาที่กำหนดไว้ (เช่น 5 ปี) ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าจะใช้สิทธิ ก็จงมั่นใจด้วยว่าเราจะไม่ขายก่อนที่สิทธิ์นั้นจะครบกำหนดด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม