จ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาตั้งนาน รู้มั้ยว่าเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินเกษียณของเราด้วย (ประกันสังคมเรียกเงินนี้ว่า เงินชราภาพ) ซึ่งทางประกันสังคมได้ส่งเอกสารใบแจ้งยอดเงินสมทบให้กับเราในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา อภินิหารเงินออมได้รับมาแล้วก็ถ่ายรูปโพสต์เพื่อแจ้งแฟนเพจว่าอย่าลืมเงินก้อนนี้ ปรากฎว่าแฟนเพจก็แชร์กันรวดเร็วมาก พร้อมกับมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ในขณะที่ฟีดหน้า FB มันผ่านไปเร็ว ทำให้คนที่มาอ่านทีหลังตามไม่ทัน เพื่อให้คนอื่นๆย้อนกลับมาอ่านได้ จึงรวบรวมเขียนไว้ในบทความนี้นะจ๊ะ
เราได้รับความคุ้มครองอะไรจากประกันสังคมบ้าง?
มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานเอกชนทุกคนจะอยู่ที่มาตรา 33 เงินแต่ละเดือนที่เราส่งเข้าไปจะกระจายไปให้ความคุ้มครองตามภาพนี้ ส่วนมาตรา 40 เป็นคนที่ไม่เคยทำงานประจำแล้วต้องการทำประกันสังคม
เราได้รับเงินเกษียณตอนไหน?
เราจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญก็ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินเข้าประกันสังคม ถ้าเรารู้ตัวว่าได้รับสิทธิเงินเกษียณแล้วก็ต้องไปยื่นเรืองรับเงินภายใน 1 ปีเท่านั้น!! ถ้าเราไม่ไปรับ เงินส่วนนี้จะเข้าไปอยู่กองกลางทันที แล้วเราจะไปขอคืนไม่ได้อีกด้วยนะจ๊ะ
รับเงินบำเหน็จ
อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1 - 179 เดือน
ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
รับเงินบำนาญ
อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป
ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
วิธีคำนวณเงินเกษียณที่ได้รับจากประกันสังคม
กรณีรับเงินบำเหน็จ : เงินก้อน
ถ้าเราส่งเงินเข้าประกันสังคม 1 - 11 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่เราจ่ายเข้าไปเท่านั้น แต่ถ้าเราสมทบตั้งแต่ 12 - 179 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มจากผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งเกิดจากการที่ประกันสังคมนำเงินของเราไปลงทุนออกดอกผลแล้วนำกลับมาให้เรานั่นเอง ซึ่ง “ผลประโยชน์ตอบแทน” แต่ละปีจะได้ไม่เท่ากัน
ล่าสุดปี 2560 เงินที่เราสมทบเข้าไปได้รับผลตอบแทน 3.61% (ประกาศอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ลิงค์ท้ายบทความ) จากการสอบถามที่สายด่วน 1506 เขาบอกว่าถ้าต้องการดูว่าปีก่อนหน้านี้ได้เท่าไหร่ ต้องเดินทางไปขอเอกสาร “ตารางผลประโยชน์ตอบแทน” ที่สำนักงานประกันสังคม ไม่มีให้ดูที่หน้าเว็บไซด์นะจ๊ะ #สวัสดีไทยแลนด์ 4.0
วิธีคำนวณเงินบำเหน็จ
กรณีรับเงินบำนาญ : รับรายเดือนไปตลอดชีวิต
ตอนนี้เรามีเงินเกษียณเท่าไหร่?
ถ้าเราส่งเงินเข้าประกันสังคมก็จะได้รับเอกสารฉบับนี้ส่งมาที่บ้าน แต่ถ้าไม่ได้รับก็ไม่ต้องตกใจเพราะสามารถคลิกดูเองแบบออนไลน์ได้ (วิธีดูเงินเกษียณจากประกันสังคมของตัวเอง อ่านได้ที่บทความ รู้มั๊ยว่าเรามีเงินในประกันสังคมเท่าไหร่? คลิกที่นี่
ภาพใบแจ้งยอดจ่ายเงินสมทบจากประกันสังคม คลิกที่นี่
รู้เงินเกษียณแล้วควรทำอย่างไรต่อไป?
เชื่อว่าหลายคนที่เคยทำงานประจำ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วลาออกจากงานเป็นฟรีแลนซ์ พร้อมกับสมัครประกันสังคมมาตรา 39 เพื่อรับสิทธิประโยชน์อื่นๆจากประกันสังคม อาจจะกำลังตกใจว่าฐานเงินเดือนที่คิดเงินบำนาญของตัวเองลดลงฮวบฮาบ จาก 15,000 บาทเหลือ 4,800 บาท!!
เราทำอะไรกฎหมายไม่ได้นอกจากทำใจยอมรับ (แอบมีความหวังลึกๆอยากให้แก้กฎหมายแยกคำนวนได้ในอนาคต) แต่การรอคอยสิ่งที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้ มันเป็นการรอคอยที่ไร้จุดหมาย แทนที่จะรอเราควรเริ่มทำสิ่งที่เราแก้ไขเองได้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เริ่มจากคำนวณเงินจากประกันสังคมที่อาจจะได้รับในอนาคตคร่าวๆว่าได้เท่าไหร่ เปรียบเทียบกับเป้าหมายเกษียณของตัวเองว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าสะสมเงินครบแล้วก็อุ่นใจได้ แต่ก็ต้องรักษาเงินก้อนนั้นไว้ให้ดีๆ ไม่ให้หายไปกับการลงทุนที่ผิดพลาดหรือหลงเชื่อแชร์ลูกโซ่
แต่ถ้าเรายังเก็บเงินเกษียณไม่ครบ ก็ต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้เพื่อจะได้เก็บสะสมเงินได้มากขึ้น ประหยัดรายจ่าย รวมถึงหาวิธีการเก็บเงินที่ทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย เช่น RMF ประกันชีวิตแบบบำนาญ พร้อมกับการดูแลสุขภาพไปพร้อมกันด้วย เพราะวันที่เราได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคม สิทธิประโยชน์ต่างๆที่เคยได้รับก็จะหมดลงด้วย
การรับเงินเกษียณต้องทำอย่างไร
รายละเอียดและขั้นตอนต่างๆเขียนอยู่ที่เว็บไซด์ประกันสังคม คลิกอ่านได้ที่ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข กรณีชราภาพ คลิกที่นี่
สรุปว่า…
ถ้าเราเคยส่งเงินเข้าประกันสังคม รู้ไว้เลยว่าเรามีเงินเกษียณเป็นของตัวเองแล้วนะจ๊ะ แต่จะได้เท่าไหร่ เป็นบำเหน็จหรือบำนาญ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราส่งมาแล้วกี่เดือน พอถึงอายุ 55 ปีเป๊ะๆและลาออกจากประกันสังคม(ทุพพลภาพ เสียชีวิต) เราและครอบครัวก็จะได้รับเงินก้อนนี้ แล้วต้องไปรับภายใน 1 ปีด้วยนะจ๊ะ ^^
หมายเหตุ : อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
- ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง กำหนดอัตราผลตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ประจำปี 2560 คลิกที่นี่
- เงินประกันสังคม จ่ายแล้วไปไหน ? คลิกที่นี่