คุณพี่ท่านหนึ่งต้องการให้อภินิหารเงินออมจัดคอร์สเรื่องการเงินสำหรับคนอายุ 40 กว่าๆว่าจะทำอย่างไร ถึงจะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต มันยากที่จะหาวิธีอธิบายให้คนที่มีพื้นฐานความเข้าใจทางการเงินที่แตกต่างกัน มาฟังพร้อมกันแล้วได้ไอเดียไปจัดการเงินของตัวเอง 


จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสออกแบบวิธีการเก็บเงินให้กับคุณแม่ลูกแฝดสามที่ไม่ได้อยู่สายการเงิน แต่เข้าใจสิ่งที่เราอธิบาย ทำให้คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย ก็เลยมาเขียนสรุปให้อ่านว่าทำอย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น การทำงาน หนี้สิน โสด แต่งงาน มีลูกหลายคน  สุขภาพ ฯลฯ อ่านแล้วก็นำแนวทางไปปรับใช้กับตัวเองนะจ๊ะ


ภาพรวมวิธีการเก็บเงินทั้งหมด

เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต


ภาพนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอนาคตก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น การเทรดค่าเงินดิจิทัล การลงทุนในธุรกิจ Startup การลงทุนกับต้นไม้เศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ก็ทำให้รู้ว่าเรามีทางเลือกในการเก็บเงินเยอะมาก คำถามต่อมาคือ เราจะเก็บเงินที่ไหน เท่าไหร่ดีล่ะ



3 ขั้นตอนการเก็บเงินเพื่อมีใช้ไปตลอดชีวิต

 เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต


ขั้นตอนที่ 1 : คาดว่าใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่?

จากในภาพเส้นตรงกลางจะเป็นช่วงอายุ (แต่ละคนอาจจะแบ่งแตกต่างจากนี้ก็ได้ ภาพนี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น)


  • สีฟัาเป็นช่วงวัยทำงาน (หลายคนกลัวเหงาก็ชอบทำงานไปเรื่อยๆ แต่เราคิดตัวเลขเกษียณอายุ 60 เป็นพื้นฐานก่อน ถ้ามีพอใช้แล้วจะได้ไม่ต้องโหมทำงานหนักมาก)

  • สีเขียวเป็นเกษียณช่วงแรกอายุ 60 - 80 ยังมีสุขภาพแข็งแรงเดินทางไปท่องเที่ยวเองได้ 

  • สีส้มช่วงอายุ 81 - 95 อาจจะเริ่มเจ็บป่วย บางครั้งต้องหาคนมาดูแล (ญาติพี่น้องช่วยดูแลหรือจ้างพยาบาลมาดูแลที่บ้าน) 

  • สีแดงอายุเกิน 95 สมมติว่าเราคาดว่าจะเสียชีวิตตอนอายุ 95 แต่เรื่องจริงอายุยืนกว่านั้น ก็ต้องหาแผนเตรียมรับมือไว้ด้วย


เราเริ่มต้นที่อนาคตปักธงไว้ว่าเป้าหมายของเรา คือ หลังเกษียณใช้เงินเท่าไหร่ ประมาณตัวเลขคร่าวๆ แบบยังไม่รวมเงินเฟ้อก็ได้ ตัวอย่าง


  • ตั้งแต่อายุ 60 - 95 ต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท (ปีละ 360,000 บาท)

  • มีเวลาใช้เงิน 35 ปี 360,000 x 35 = 12,600,000 บาท

  • แปลว่า เราต้องมีเงินเตรียมไว้ช่วงเกษียณ 12,600,000 บาท (ถ้ารวมเงินเฟ้อก็จะมากกว่านี้)



ขั้นตอนที่ 2 ตอนนี้เก็บเงินอย่างไร?


เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต

เราจ่ายหนี้แล้วเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ เก็บเงินไว้ที่ไหนบ้าง เขียนสรุปให้เห็นภาพรวมว่าเงินของเรากระจายอยู่ที่ไหน เท่าไหร่ ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มว่าเงินก้อนนี้ใช้ทำอะไรบ้าง  การแบ่งเงินไปทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง เหมือนอวัยวะในร่างกายเราที่ทำงานแตกต่างกัน (เช่น ตาใช้มอง จมูกใช้ดมกลิ่น ปากใช้กิน)


ตัวอย่าง ตอนนี้อายุ 35 เราคำนวณคร่าวๆว่าควรมีเงินเตรียมไว้ช่วงเกษียณ 12,600,000 บาท ดูว่าตอนนี้เราเก็บเงินไว้เกษียณแบบไหนบ้าง เตรียมไว้แล้วเท่าไหร่ พอถึงวัยเกษียณตอนอายุ 60 แล้วเงินก้อนนี้จะกลายเป็นกี่บาท เช่น 


  • RMF ของเก่ามีอยู่ 400,000 บาท ซื้อปีละ 20,000 บาท  ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% อีก 25 ปี เงินใน RMF จะเติบโตไปประมาณ 2,309,084 บาท

  • ได้รับเงินจากประกันบำนาญรายปีๆละ 50,000 บาท ตั้งแต่ 60 - 90 ปี รวม 2,000,000 บาท


แสดงว่าเรามีเงินเกษียณเตรียมไว้บ้างแล้ว 2,309,084 +  2,000,000 =  4,309,084 บาท ตอนนี้เราต้องหาเงินเพิ่มอีก 8,290,916 บาท เหลือเวลาเก็บเงินอีก 25 ปีก็เก็บปีละประมาณ 331,636 บาท หรือเดือนละ  27,636 บาท 


เราอาจจะลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม เก็บเงินแบบอื่นเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. , กองทุนรวมหุ้น , กองทุนรวมต่างประเทศ , ตราสารหนี้ , ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ , ประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นต้น



ขั้นตอนที่ 3 การถอนเงินมาใช้จ่ายหลังเกษียณ


เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต


การเก็บเงินแต่ละที่ เราจะได้รับเงินแตกต่างกัน

  • ได้รับเงินก้อนทีเดียว เช่น ตอนเกษียณเราได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครบกำหนดขาย RMF เงินก้อนจากประกันสะสมทรัพย์ที่ครบกำหนดแล้ว

    • เราควรหาที่อยู่ที่ปลอดภัยให้กับเงินก้อนใหญ่เหล่านี้ ไม่อย่างนั้นญาติสนิทหรือญาติห่างๆจะมาช่วยเราใช้เงินให้หมดไวอย่างแน่นอน 

    • หาที่เก็บรักษาเงินก้อนเพื่อได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย

  • ทยอยรับรายปีหรือรายเดือน เช่น เงินปันผลจากสหกรณ์ เงินคืนรายปีจากประกันสะสมทรัพย์ เงินจากประกันบำนาญ เงินค่าเช่าอสังหาฯ ฯลฯ


จากภาพข้างบนเราสีเขียวอายุ 60 - 80 เราจะใช้เงินที่ได้รับรายเดือนหรือรายปีมาใช้จ่าย (ถ้าไม่พอใช้ก็ต้องถอนเงินก้อนมาใช้จ่าย) ผ่านไปถึงอายุ 81 - 95 เงินที่ได้รับรายปีบางก้อนก็หมดลง เช่น เงินคืนจากประกันชีวิต ประกันบำนาญ เราก็ต้องเอาเงินก้อนที่เก็บไว้มาใช้จ่าย สุดท้ายดูแลตัวเองดีมาก อายุยืนมากกว่าที่คิดไว้ก็ต้องดึงแผนสำรองที่เป็นช่องสีแดงออกมาใช้จ่าย 


การที่เราจะรู้ว่าแต่ละช่วงจะใช้เงินก้อนไหน เราควรวางแผนรายรับ - รายจ่ายล่วงหน้า ก็จะรู้จำนวนเงินคร่าวๆว่าจะมีเงินเข้ามาช่วงไหน ซึ่งคนทำงานประจำประมาณตัวเลขง่ายกว่าฟรีแลนซ์ มีรายจ่ายเท่าไหร่ โดยทำใน Excel ให้ด้านข้างเป็นรายรับรายจ่าย ส่วนด้านบนเป็นอายุของเรา ตัวอย่าง


เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต


ถ้าเราดูในคอมพิวเตอร์ไม่ถนัด อาจจะปริ๊นทุกแผ่นออกมาแล้วแปะต่อๆกันแบบนี้ก็ได้นะจ๊ะ


เก็บเงินอย่างไร มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต

ไม่รู้ว่าระบบเป็นอะไรใส่ลิงค์นี้ในบทความไม่ได้ ดูคลิปสั้นๆได้ที่ลิงค์ข้างล่างจ้า

https://www.facebook.com/miracleofsaving/videos/415280535930914/


เมื่อเราเห็นภาพรวมเงินหลังเกษียณว่าต้องใช้ประมาณเท่าไหร่ ก็เลือกได้ว่าควรเก็บเงินไว้ที่ไหนบ้าง และข้อสำคัญที่ขาดไม่ได้ แผนสำรองถ้าอายุยืนกว่าที่คาดไว้ ถ้าไม่มีลูกหลานมาเลี้ยงดู เราก็อาจจะต้องขายทรัพย์สินที่มีเพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย เช่น บ้าน เครื่องประดับต่างๆ


บ้านเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัยและเงินเกษียณโดยการทำ Reverse Mortgage คือ การนำบ้านเข้าธนาคารอีกครั้งเพื่อขอกู้เงินธนาคาร โดยปล่อยกู้ประมาณ 70% ของมูลค่าบ้าน แล้วธนาคารก็จะโอนเงินให้เราใช้รายเดือน ในขณะที่เรายังพักอาศัยในบ้านนั้นได้เหมือนเดิม



ไม่ควรเก็บเงินที่เดียว

การเก็บเงินแบบเดียวนั้นไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ที่ตอบโจทย์ทุกเป้าหมายชีวิต เช่น 

  • ฝากเงินที่ธนาคารอย่างเดียว ไม่นำเงินไปลงทุนให้เติบโต 
  • สหกรณ์จ่ายเงินปันผล 6 - 7% ต่อปี ผลตอบแทนดี เราจะฝากชีวิตไว้ที่นี่ที่เดียว ตอนนี้สหกรณ์มีคณะกรรมการดูแลดี เราได้รับเงินปันผลตลอดๆ แต่พอหลังเกษียณเปลี่ยนชุดใหม่ บังเอิญไปลงทุนผิดที่ เงินหายเกือบหมดสหกรณ์ เงินเกษียณของเราก็เสียหายไปด้วย 

ทางที่ดีควรกระจายเงินเก็บไว้หลายๆที่น่าจะดีกว่า แต่จะเป็นการเก็บเงินแบบไหนบ้างก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเรื่องการเงินของแต่ละคนนะจ๊ะ


เอาล่ะ มาถึงตรงนี้เราน่าจะรู้แล้วว่าการเก็บเงินอย่างมีเป้าหมายว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ ทำให้รู้ว่าตอนนี้เราควรเก็บเงินอย่างไรและใช้เงินก้อนนี้ตอนไหน แม้ว่าอนาคตอาจจะไม่เป็นอย่างที่วางไว้ 100% แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเองหรือเป็นเงินทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้นะจ๊ะ







ข้อมูลเพิ่มเติม