หนังหรือละครแต่ละเรื่องที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้มาจากส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ ที่เก็บเรื่องราวความเชื่อและคำสอนในรูปแบบของความบันเทิง ทำให้เราได้รับความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน เชื่อว่าหลายๆคนยังจำกันได้ ละครดังในตำนานของพระนางคู่ขวัญ “พี่หนุ่มกับกบ” ในอดีตอย่างเรื่องสายโลหิต นั้นทำให้เรารับรู้ความเชื่อของคนในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี เช่น
- ผู้ชายออกไปทำงาน (มีรายได้ ) ส่วนผู้หญิงทำงานบ้านอยู่ดูแลบ้าน (ไม่มีรายได้)
- ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า (ผู้นำ) ส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง (ผู้ตาม)
- ผู้ชายมีกำลังที่เข้มแข็งกว่า จะต้องเป็นฝ่ายดูแลผู้หญิง
เวลาผ่านไปก็ทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยกันหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว จากที่เคยเป็นช้างเท้าหลังก็กลายมาเป็นควาญช้างที่ช่วยควบคุมไม่ให้ช้างออกนอกลู่นอกทาง บางองค์กรยอมรับความสามารถของผู้หญิงจนทำให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ยังมีเรื่องของเงินที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยน จากความเชื่อที่ว่า “ผู้ชายต้องจ่ายทุกอย่าง”
“เก็บเงินแต่งงาน” ผู้ชายเก็บคนเดียว หรือผู้หญิงช่วยหารสอง?
ถ้าไปตั้งเป็นกระทู้ที่ Pantip รับรองว่าจะได้ความคิดเห็นแตกหน่อต่อยอดไปหลายแง่มุมมากๆ มันไม่มีถูกหรือผิดเพราะแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันออกไป แม้ว่าการแต่งงานมันเป็นเรื่องของคนสองคนก็จริง แต่มันเกี่ยวข้องกับคนทั้งครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย แนวคิดในบทความนี้เป็นมุมมองของแอดมินเพจอภินิหารเงินออมเพียงอย่างเดียว ผู้อ่านควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับคู่ของตัวเองนะจ๊ะ
ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า "การเก็บเงินแต่งงาน ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรช่วยกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ที่คิดแบบนี้เพราะแต่ละคนก็มีภาระรายจ่ายของตนเอง ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เลี้ยงดูพ่อแม่ ฯลฯ ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายเองทั้งหมดมันจะกลายเป็นภาระหนักเกินไป" บทความนี้จะทำให้เรารู้ว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานอะไรบ้าง ควรวางแผนการเก็บเงินอย่างไร จะได้ไม่สร้างหนี้จากการเริ่มต้นชีวิตคู่นะจ๊ะ
แต่งงานทั้งทีมันต้องเตรียมอะไรบ้าง?
หลังจากที่เคาะค่าสินสอดและพิธีแต่งงานได้แล้วว่าจะจัดแบบไหน เช่น แต่งงานแบบไทย แบบจีน แบบอิสลาม แบบคริสต์ หรือหลายอย่างผสมกัน ต่อไปก็จะต้องมาเรียบเรียงงานทั้งหมดว่าจะต้องทำอะไรบ้างก่อนหลัง เพื่อจะได้ตกหล่นน้อยที่สุด ภาพข้างล่างนี้จะเป็นภาพรวมของงานว่าควรมีอะไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมงานไปจนถึงก่อนวันแต่งงาน (ส่วนงานของเราจะมีหรือไม่มีตามนี้ก็ได้)

ที่มา : http://wedding-campus.com/wp/index.php/2015/09/26/wedding-checklist/
รายละเอียดยิบย่อยของแต่ละข้อก็มีอีกเยอะม๊าก คลิกอ่านได้ที่ลิงค์ใต้ภาพนะจ๊ะ เราจะเห็นว่าแต่ละอย่างล้วนใช้เงินทั้งนั้น จากที่เคยสอบถามคนรอบตัวที่แต่งงานแล้ว ใช้เงินจัดงานประมาณ 300,000 - 1,000,000 บาท ถ้าครอบครัวฝ่ายชายมีกำลังทรัพย์เพียงพอก็สามารถรับผิดชอบจ่ายทั้งหมดได้
แต่ถ้าเป็นคนทำงานใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน นับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ถ้าให้ฝ่ายชายเหมาจ่ายคนเดียวอาจจะเป็นภาระหนักมากเกินไป เพราะแบบนี้เราจึงคิดว่าฝ่ายหญิงและชายควรช่วยกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แล้วแบ่งว่าใครจะจ่ายส่วนไหนบ้าง เปิดอกคุยกันให้ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรก มันจะได้ไปผิดใจกันทีหลังนะจ๊ะ
ตั้งงบการจัดงาน
“จำนวนเงินที่จัดงานแต่งงาน มันไม่ได้บอกถึงขนาดของความรักและชีวิตคู่ที่ยั่งยืน”
เราอาจจะเคยได้ยินข่าวของคนในสังคมที่ไม่จัดงานแต่งก็ยังรักกันยืนนานหลายสิบปี ในขณะที่บางคู่ใช้เงินจัดงานมหาศาลก็ยังเลิกลากันได้ ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับความรัก ความเข้าใจของคนสองคน ส่วนเรื่องเงินมันเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น
ถ้าเรามีงบจัดงานแบบจำกัดควรตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะ "แต่งงานเมื่อไหร่และใช้เงินจัดงานแต่งเท่าไหร่" เราจะได้รู้ว่าควรเตรียมตัวอะไรบ้าง รวมถึงวางแผนว่าจะต้องเก็บเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งวิธีหาข้อมูลอย่างง่าย เช่น
- จากคนที่เคยแต่งไปแล้ว
- โหลดโปรแกรมคำนวณค่าใช้จ่ายงานแต่งงาน
- อ่านรีวิวการจัดงานแต่งงานน่ารักๆแบบประหยัดในอินเตอร์เน็ต
- ไปงานเวดดิ้งแฟร์เพราะรวมทุกๆเรื่องการแต่งงานเพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย
จากนั้นเราก็นำข้อมูลจากหลายๆรูปแบบที่เราชอบมาประกอบกันให้เป็นงานของตัวเอง สิ่งสำคัญ คือ ควบคุมให้อยู่ในงบที่ตัวเองตั้งไว้ด้วยนะจ๊ะ
ตัวอย่าง : การจัดทำงบประมาณงานแต่ง

อ่านข้อมูลการทำงบได้ที่ : http://wedding-campus.com/wp/index.php/2015/07/05/budget2/
สมมติว่าเราได้ตัวเลขงบจัดงานแต่งแล้วก็ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน ตัวอย่าง เงินแต่งงานทั้งหมด 300,000 บาท ใช้เวลาเก็บเงิน 4 ปี ถ้าแบ่งกันเก็บกับแฟนคนละ 150,000 บาท ทั้งหมด 48 เดือนๆละ 3,125 บาท (150,000/48)
เก็บเงินแต่งงานอย่างไร?
เรารู้แล้วว่าจะต้องแบ่งเก็บเงินกับแฟนเดือนละ 3,125 บาท รวมเวลา 4 ปี อาจจะปัดให้เป็นตัวเลขกลมๆจะได้จำง่ายๆ รวมถึงเผื่อเงินไว้ฉุกเฉินด้วยกลายเป็นเก็บเงินเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ แม้ว่าได้ผลตอบแทนน้อย แต่เงินต้นอยู่ครบ เราจะเก็บเงินที่ไหนบ้างดูได้ที่ 3 ตัวอย่างนี้เลยจ้า
1. ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
ปัจจุบันหลายธนาคารบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงประมาณ 1.7% ต่อปี เราก็เลือกฝากไว้ 1 แห่ง ควรเปิดใช้บริการธนาคารออนไลน์จะได้ฝากถอนได้สะดวก จากเป้าหมายเก็บเงินเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 4 ปี ดังนั้น หลังวันเงินเดือนออก เราก็ฝากเงินเข้าบัญชีนี้เดือนละ 3,500 บาท แล้วทยอยถอนออกมาเป็นค่าใช้จ่ายงานแต่งงานต่างๆ แต่บัญชีนี้ถอนออกง่าย เราก็ต้องระมัดระวังใจตัวเองให้มากๆ
2. ฝากประจำ ปลอดภาษี
วิธีนี้จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าและทำให้เราเก็บเงินอยู่ได้มากกว่าวิธีแรกเพราะไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ เช่น ฝากประจำ 3 ปีก็ต้องครบ 3 ปี ถึงจะได้รับเงินก้อนออกมาใช้จ่ายได้ เราควรคำนวณเวลาว่าจะต้องจ่ายเงินเกี่ยวกับงานแต่งงานช่วงไหนบ้าง เช่น ค่ามัดจำสถานที่ ชุดแต่งงาน ฯลฯ เราอาจจะเลือกฝากประจำแค่ 3 ปี ส่วนปีที่ 4 ฝากเป็นออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงก็ได้
3. โปรแกรมออมทอง
ทองคำก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เราเก็บเงินก้อนซื้อทองครั้งเดียวก็ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าราคาทองจะปรับตัวฉวัดเฉวียนขึ้นลงอย่างไรบ้าง ไม่รู้ว่าจะซื้อตอนไหนดี พอเรารู้ว่าตัวเองมีเวลาเก็บเงินแต่งงานอีก 4 ปี มันก็นานพอที่จะวางแผนเก็บเงินได้ ซึ่งทางเลือกสะสมทองที่ทำให้เราได้รับทองในราคากลางๆ คือ การใช้โปรแกรมออมทอง พอครบกำหนด เราก็สั่งให้บริษัทเปลี่ยนเป็นทองคำแท่งเพื่อใช้เป็นสินสอดในงานแต่งงานได้ วิธีการออมทองเป็นอย่างไรนั้น อ่านได้ที่บทความ “1,000 บาทเริ่มต้นออมทอง” คลิกที่นี่
จาก 3 วิธีข้างบนอาจจะใช้ผสมกันก็ได้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เรากับแฟนจะแยกเก็บคนละบัญชี หรือเปิดบัญชีร่วมก็ได้ ในขณะที่บางคนบอกว่าอยากเก็บเงินแต่งงานแล้วได้ผลตอบแทนสูงๆ ไปด้วยก็เลยไปซื้อกองทุนรวมหุ้น แม้ว่าได้ผลตอบแทนดีก็จริง แต่ถ้าวันแต่งงานที่จะต้องใช้เงิน แล้วบังเอิญหุ้นตก มันก็ทำให้เงินแต่งงานของเราหายไปด้วย ถูกบ่นหูชาเลยนะจ๊ะ ฮือออออ
ข้อระมัดระวังของการเงินที่ใช้จัดแต่งงาน
อย่ากู้เงินมาแต่งงาน!!
กระทู้นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆว่าผลของการกู้เงินมาแต่งงานจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง กระทู้ชื่อว่า “หนี้จากการแต่งงาน: บทเรียนราคาหลายแสน ความเจ็บปวดของลูกหลาน ที่พ่อกับแม่ควรรับรู้” (ลิงค์ของกระทู้อยู่ท้ายบทความ) สรุปสั้นๆจากเรื่อนี้ คือ
- ฝ่ายหญิงต้องการแต่งงานแบบประหยัด แต่ฝ่ายชายต้องการจัดงานใหญ่โตจึงกู้เงินมาแต่งงาน
- แม่คืนเงินค่าสินสอดมาให้บ่าวสาวไปตั้งตัว แต่ก็ต้องจ่ายค่าจัดงานเลี้ยงเกือบ 2 แสนบาท (ทำให้เงินที่จะนำไปตั้งตัวน้อยลง)
- ฝ่ายชายที่กู้เงินมาแต่งงานรับผิดชอบเคลียร์หนี้เอง ผ่อนอีก 10 ปี
แต่งงานครั้งเดียว แต่เป็นหนี้ไปอีกหลายปี เราคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อเตือนใจได้ว่า ถ้าเริ่มชีวิตคู่ด้วยหนี้สิน มักจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ทางที่ดีควรเริ่มด้วยเงินที่เรามี จัดงานพอดีกับตัวเองจะดีกว่านะจ๊ะ
สรุปว่า…
การเก็บเงินจัดงานแต่งงานนั้นใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนไหนก็จะต้องคุยกันให้ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรก ทั้งแฟนของเราและญาติๆ เริ่มจากตั้งงบมาก่อนว่าจะใช้เงินจัดงานประมาณเท่าไหร่ มีเวลาเก็บเงินอีกกี่ปี จะได้รู้ว่าควรใช้จ่ายอะไรได้บ้างและวางแผนเก็บเงินรายเดือน ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้เงินต้นปลอดภัย สุดท้ายไม่สร้างหนี้จากงานแต่งงาน อ่านถึงตรงนี้แล้วถ้ามีความคิดเห็นอื่นๆ เพิ่มเติมก็แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันได้ที่ FB อภินิหารเงินออมนะจ๊ะ
ถ้าตอนนี้ถ้าจะต้องเก็บเงินแต่งงาน
คิดว่าใคร? ควรเป็นคนออกค่าใช้จ่ายจ๊ะ
ปล. การลงทุนเกี่ยวกับคู่ครองนั้นมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรตัดสินใจด้วยความต้องการของเราสองคน ไม่เชื่อคำแนะนำของคนรอบข้างมากเกินไป มิฉะนั้นชีวิตคู่อาจจะล่มสลายได้จากพิษลมปากของคนอื่นนะจ๊ะ
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล
- ขอบคุณข้อมูลการจัดงานแต่งงานและงบประมาณของคุณ Nat Wedding Campus จาก FB www.facebook.com/weddingcampus ที่อนุญาติให้นำภาพนี้มีเผยแพร่ได้
- กระทู้หนี้จากการแต่งงาน: บทเรียนราคาหลายแสน ความเจ็บปวดของลูกหลาน ที่พ่อกับแม่ควรรับรู้” https://pantip.com/topic/34253142