หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องการใช้ เงินด่วนทันใจ เราจะคิดถึงอะไรบ้าง บางคนอาจจะคิดถึงกระดาษแผ่นเล็กๆที่โฆษณาให้บริการเงินด่วนติดบริเวณเสาไฟฟ้าที่ดอกเบี้ยสูงปรี๊ด บัตรกดเงินสดที่ดอกเบี้ยสุดโหด หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ย้ายจากเสาไฟฟ้ามาอยู่ในอินเตอร์เน็ตที่มีผู้ให้บริการเยอะจนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะโทรเบอร์ไหนก่อนดี เราอ่านคอมเม้นท์ข้างล่างป้ายโฆษณาก็มีผู้ให้ความสนใจกู้เยอะมาก(ไม่รู้ว่าของจริงหรือหน้าม้า) อืม...การกู้เงินด่วนทันใจแบบนี้สมควรเป็นด่านแรกที่เราต้องนึกถึงเวลาไม่มีเงินจริงๆหรือ??

"วิธีหาเงิน" นอกจากทำงานด้วยความสามารถตนเองบวกกับการหารายได้เสริมทางอื่น เพื่อสะสมเงินออม บางคนเพิ่มเรื่องของการประหยัดเพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น  ซึ่งการกู้เงินจะเป็นหนทางสุดท้ายของคนที่เงินไม่พอใช้หรือต้องการใช้เงินไปลงทุนในธุรกิจ

การกู้ = สร้างหนี้

การสร้างหนี้ที่ถูกต้องนั้นจะต้องเป็นหนี้ที่สร้างรายได้กลับมาให้เรา

ไม่ใช่เป็นภาระที่จ่ายเพื่อการบริโภคใช้แล้วหมดไป

และไม่เกิดประโยชน์ในรูปตัวเงินกลับมาให้เรา

การใช้จ่ายเพื่อความสุขระยะสั้นมากเกินไปจะนำแต่เรื่องเลวร้ายกลับมาในระยะยาว เราควรรู้ตัวเองว่าไม่ควรสร้างหนี้เกิน 45%ของรายได้ หากมากกว่านี้จะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเรายากลำบากมาก (อ่านบทความเพิ่มเติมชีวิตนี้ห้ามสร้างหนี้เกิน 45% ได้ที่ https://aommoney.wpenginepowered.com/?p=5326

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่า “ควรคิดทุกครั้งก่อนจ่าย” การคิดในที่นี้มันคืออะไร?? ทุกคนคิดทุกครั้งก่อนจ่าย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเราคิดถูกหรือคิดไม่ถูก สมมติว่าเราได้รับเงินมาก้อนหนึ่งอาจจะเป็นโบนัสหรือค่าคอมมิชชั่น ลองมาดูวิธีคิดของ 2 คนนี้ที่ "คิดก่อนจ่าย..." แต่ผลลัพธ์สุดท้ายต่างกัน

คนที่ 1 ที่รักความสบาย

คิดว่า...ทำงานหนักแล้วต้องใช้เงินซื้อความสบาย

เงินก้อนนี้ทำให้เขามีความสุขมากและคิดว่าต้องใช้เงินให้คุ้มกับการทำงานหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยการซื้อความสะดวกสบายให้ตัวเอง กิน เที่ยว ช้อปปิ้งอย่างสนุกสนาน มารู้ตัวอีกที อ้าว!! เงินมันหายไปไหนหมดอ่ะ ยังไม่ค่อยได้ใช้อะไรเลยนะ แล้วก็ต้องกลับไปเหนื่อยทำงานหนักอีกครั้ง ถ้าอยากให้เงิน “ซื้อความสุข” ได้จริงมันต้องเป็นความสุขระยะยาวถึงจะถูกต้อง ถ้าลองคิดให้มากขึ้นอีกนิดชีวิตก็จะดีขึ้นอีกเยอะ

คิดแบบนี้...สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย

คนที่ 2 ที่รักการออม

คิดว่า...แบ่งเงินลั้นลาบางส่วน

เงินก้อนนี้ทำให้เขามีความสุขมาก คิดว่าต้องแบ่งเงินออกมาบางส่วนเพื่อไปออม 40% ซื้อเครื่องประดับมีค่าเก็บไว้ 40% ส่วนที่เหลือก็นำไปใช้จ่ายลั้นลา 20% ใช้ไปกับการกิน เที่ยว ช้อปให้จุใจ แม้ว่าจะใช้เงินลั้นลาไป 20% หมดแล้วก็ยังเหลืออีก 80% ที่อยู่ในรูปทรัพย์สินที่เป็นชิ้นเป็นอันกลับมาบ้าง และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินจริงๆ ทรัพย์สินส่วนนี้แหละที่สามารถช่วยเหลือเราได้

คิดแบบนี้...สุดท้ายมีเงินเหลือเก็บ

แต่ว่า...

ถ้าเราจำเป็นต้องใช้เงินสดฉุกเฉิน เช่น จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้บุพการี ลูกป่วยเข้าโรงพยาบาล น้ำท่วมกระทันหัน ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เงินสดมาใช้จ่ายกับเรื่องเหล่านี้ เราจะมีทางออกอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นกรณีของคนที่ 2 ก็อาจจะถอนเงินออมออกมาใช้จ่าย ถ้ายังไม่เพียงพอก็อาจจะต้องตัดขายสมบัตินอกกายออกมาบ้างเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ เช่น ขายเครื่องประดับที่เคยซื้อเก็บไว้ หากสุดท้ายยังไม่พออีกก็คิดถึงเรื่องการกู้เงิน ถ้าถึงจุดนี้ก็ต้องคิดให้รอบคอบโดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยที่จะเบ่งบานตามมา ควรเขียนเปรียบเทียบทางเลือกทุกอย่างออกมาก่อนตัดสินใจกู้ว่าทางไหนที่คุ้มค่ามากที่สุด

การใช้เงินสดด่วนทันใจควรเป็นหนทางสุดท้าย

การเปรียบเทียบทางเลือก "เงินด่วนทันใจ"

ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินสดด่วนทันใจระยะเวลา 30 วัน เริ่มจากเขียนเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ต้องเสียในแต่ละทางเลือก คือ โรงรับจำนำ บัตรกดเงินสดและเงินกู้นอกระบบ แล้วจึงเลือกว่าทางไหนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

อัตราดอกเบี้ย

1. โรงรับจำนำมีอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 0.25% ต่อเดือน

อัพเดทอัตราดอกเบี้ยได้ที่ http://www.pawn.co.th

2. บัตรกดเงินสดที่อัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทกำหนด มีการอธิบายวิธีคิดที่หมายเหตุ)

3. เงินกู้นอกระบบอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน (บางแห่งอาจจะคิดมากกว่านี้)

สรุปว่า

ถ้าเราต้องการใช้เงินสด 5,000 บาทระยะเวลา 1 เดือน

  • โรงรับจำนำเสียดอกเบี้ย 12.50 บาท
  • บัตรกดเงินสดจะเสียดอกเบี้ย 115.07 บาท
  • เงินกู้นอกระบบเสียดอกเบี้ย 500 บาท

หลังจากได้ผลลัพธ์ที่เป็นดอกเบี้ยของทุกทางเลือกมาแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเลือกการจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่

หมายเหตุ : บทความนี้ต้องการชี้ประเด็นของ “การคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจ่าย” หากจำเป็นต้องใช้เงินสดด่วนทันใจจริงๆควรใช้แหล่งใดเพื่อประหยัดดอกเบี้ยที่สุด และไม่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการสร้างหนี้เพื่อการบริโภค

ความรู้เพิ่มเติม : วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด

วันที่ 1 เรากดเงินสดออกมาใช้ 20,000 บาท แล้วชำระคืนในวันที่ 30 รวมระยะเวลา 30 วัน จะมีวิธีคิดดังนี้

  • คิดดอกเบี้ยต่อวัน (20,000 x 28%)/365 = 15.3425 บาท
  • ดอกเบี้ยระยะเวลา 30 วัน = 15.3425 x 30 = 460.274 บาท
  • ชำระคืนภายใน 30 วันจะเสียเงินต้น + ดอกเบี้ย = 20,000 + 460.274
  • รวมทั้งสิ้น 20,460.274 บาท